เตรียมออกประกาศ 20 ฉบับ อุดช่องว่างสุญญากาศ พ.ร.บ.กัญชาฯ

ประกาศ สธ. คุมช่อดอกกัญชา เป็นสมุนไพรควบคุม มีผลใช้บังคับ “วิษณุ” ชี้ เป็น 1 ใน 20 ฉบับ ที่เตรียมประกาศใช้ระหว่าง รอ พ.ร.บ. กัญชาฯ ผ่าน “อนุทิน” เผยประกาศฯ มีความยืดหยุ่นปรับปรุงได้

วันนี้ (24 พ.ย.2565) ตามที่ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ. ) เรื่อง สมุนไพรควบคุม(กัญชา) พ.ศ.2565 ลงนามโดย อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 11 พ.ย. ได้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 24 พ.ย. นี้ โดย สาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ ปรับปรุงจากประกาศฉบับเดิม เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2565 ที่ได้ประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุมที่มีค่าต่อการศึกษาหรือวิจัย หรือมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ในปัจจุบัน ประกอบกับได้มีการปรับเปลี่ยนระบบการกำกับดูแล กัญชาจากยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เป็นสมุนไพรควบคุมซึ่งในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว ควรมีการควบคุมไม่ให้นำกัญชาเฉพาะส่วนที่เป็นช่อดอกไปใช้ในทางที่ผิดวัตถุประสงค์ของการคุ้มครองและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากสมุนไพร

โดย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 วรรคหนึ่ง มาตรา 44 และมาตรา 45 (4) (5) และ (6) แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยในการประชุม ครั้งที่ 99-4/2565 โดยมีเนื้อหาระบุว่า

ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ลงวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2565

ข้อ 2 ให้กัญชา ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cannabis sativa L วงศ์ Cannabaceae รวมทั้งชื่อ วิทยาศาสตร์อื่น ๆ อันเป็นชื่อพ้อง เฉพาะส่วนของช่อดอก เป็นสมุนไพรควบคุม

ข้อ 3 ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า จะกระทําได้ก็ต่อเมื่อได้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 และผู้รับใบอนุญาตต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ดังต่อไปนี้

1) ผู้รับใบอนุญาตให้ศึกษาวิจัย ส่งออก จําหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้าต้อง จัดทําข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนําไปใช้ และจํานวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูล นั้นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด

2) ผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออกสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออก ต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้ง ตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด

3) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับผู้ที่มีอายุ ต่ำกว่ายี่สิบปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

4) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ให้กับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา

5) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ เว้นแต่การจําหน่าย โดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้านที่ได้รับการรับรองตามระเบียบกระทรวง สาธารณสุข ว่าด้วยการรับรองหมอพื้นบ้าน พ.ศ. 2562 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพ การแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบโรคศิลปะและผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพทันตกรรม ที่ใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน หรือผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ที่ใช้ในการรักษาสัตว์

6) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ผ่านเครื่องจําหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์

7) ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า

8) ห้ามจําหน่ายสมุนไพรควบคุม หรือสินค้าที่แปรรูปจากสมุนไพรควบคุมเพื่อการค้า ในสถานที่ ดังต่อไปนี้

(ก) วัดหรือสถานที่สําหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา

(ข) หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก

(ค) สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก

  1. ให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เฉพาะในส่วนที่เป็น สมุนไพรควบคุมตามประกาศนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศฉบับนี้ด้วย
  2. แบบการรายงาน และแบบการแจ้งรายละเอียดการส่งออกสมุนไพรควบคุมรายครั้ง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีประกาศกําหนด
  3. ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เนื้อหาสาระของประกาศกระทรวงฉบับนี้  ออกตาม พ.ร.บ คุ้มครองและสงเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย  ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขต้องการนำมาอุดช่องว่างการสูบ การเสพ และนำช่อดอกไปสกัดขาย  ช่วงระหว่างที่ยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ประกาศใช้เพราะหาก รอ พ.ร.บ. กัญชา คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน  ฉะนั้นเพื่อเป็นการปิดช่องว่างจึงต้องทยอยออกประกาศ โดยอาศัยกฎหมายคนละฉบับ 

ทั้งนี้ ยังกล่าวว่า  แม้ พ.ร.บ.กัญชาฯจะเข้าสู่การพิจารณาของสภาแล้ว ก็ยังต้องไปต่อที่วุฒิสภาอีก ซึ่งต้องใช้เวลาหลายเดือน ฉะนั้นในระหว่างนี้จำเป็นต้องมีประกาศอีกประณาณ 20 ฉบับ  และประกาศของกระทรวงสาธารณะสุขที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ เป็นเพียง 1 ใน 20 ฉบับที่จะประกาศออกมา 

ขณะที่ อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า การประกาศของกระทรวง มีความยืดหยุ่นมากกว่า พ.ร.บ เพราะสามารถประกาศ ยกเลิก หรือปรับปรุงได้ แต่หากเป็น พ.ร.บ. จะมีความชัดเจน แต่ระหว่างนี้หากยังไม่มี ก็ออกประกาศผ่อนคลาย หรือแก้ไขเพิ่มเติมได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active