เร่งเดินหน้าตรวจสอบการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์บนเกาะหลีเป๊ะ ถูกต้องหรือไม่ ด้านดีเอสไอเตรียมเสนอกรมที่ดิน เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ นส.3 แปลง 11 รวม 81 ไร่ ซึ่งเป็นพื้นที่ทับซ้อนมีข้อพิพาทที่ดินชุมชนชาวเลที่ถูกฟ้องขับไล่ รวมถึงพื้นที่พิพาทสร้างรั้วปิดกั้นทางเดินสาธารณะ
วันนี้ (28 ธ.ค.65) พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยความเป็นธรรมและเร่งรัดการปฏิบัติราชการ ที่นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง ได้เรียกประชุมด่วนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งจากส่วนกลางและพื้นที่จังหวัดสตูล อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ กรมที่ดิน สำนักงานที่ดินจังหวัดสตูล รองผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกาะหลีเป๊ะตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และตัวแทนมูลนิธิชุมชนไท เข้าประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาการปิดกั้นทางสัญจรสาธารณประโยชน์และข้อพิพาทที่ดินชุมชนเกาะหลีเป๊ะ
ไกรศรี สว่างศรี ผู้อำนวยการแผนที่และเทคโนโลยีภูมิสาระสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ นำเสนอผลการตรวจสอบที่ดินพิพาทต่อที่ประชุม โดยยกภาพถ่ายทางอากาศเกาะหลีเป๊ะ ต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2493 เป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ ที่ดีเอสไอ ใช้ประกอบการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์บนเกาะหลีเป๊ะ ตามที่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะและมูลนิธิชุมชนไทยร้องเรียนมา หลังโดนเอกชนฟ้องขับไล่ รวมถึงปิดเส้นทางสาธารณะประโยชน์
โดยดีเอสไอ ระบุผลการตรวจสอบเบื้องต้น พบว่าพื้นที่ตามเอกสาร นส.3 แปลงที่ 11 ซึ่งมีเอกชนหลายรายถือครอง รวม 81 ไร่ เป็นพื้นที่ทับซ้อนมีข้อพิพาทที่ดินชุมชนชาวเลที่ถูกฟ้องขับไล่ รวมถึงพื้นที่พิพาทสร้างรั้วปิดกั้นทางเดินสาธารณะ มีการใช้ประโยชน์ไม่เต็มพื้นที่ เตรียมเสนอกรมที่ดินเพิกถอนเอกสารที่ดินแปลงนี้ทั้งหมด
“ที่เราสืบสวน เราก็จะส่งประเด็นให้กรมที่ดินพิจารณา เป็นพื้นที่ชุมชนซึ่งจะอยู่ในข้อพิพาทที่ดิน นส.3 แปลง 11 นี่แหละเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากเป็นพื้นที่หลัก มีทั้งโรงเรียน มีทั้งอนามัย และก็ชาวเลถูกฟ้องขับไล่ก็หลายรายในนี้ จากการตรวจสอบ โดยใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เป็นภาพถ่ายทางอากาศ 2493 พบว่ามีการทำประโยชน์ยังไม่ได้เต็มแปลงทั้งหมด ในส่วนข้อกฎหมายก็จะพิจารณาว่ามีการทำถูกต้องตามขั้นตอนหรือเปล่าตอนนี้อยู่ในช่วงสรุปเพื่อเสนอกรมที่ดินพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง “
ไกรศรี สว่างศรี ผอ.แผนที่และเทคโนโลยีภูมิสาระสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ
ตัวแทนดีเอสไอ กล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วมีหลายหน่วยงานที่ตรวจสอบมานานแล้ว กรมอุทยานฯ เองก็เคยตรวจสอบและ ถ้าดูจากเอกสาร เนื้อหาที่เป็นเอกสารการแจ้งครอบครอง กรมอุทยานฯบอกว่าเป็นการได้มาหลังปี 2482 ซึ่งได้มีการส่งเรื่องให้กรมที่ดินพิจารณาเพิกถอนมาหลายครั้ง กรมที่ดินเองได้มีการตั้งคณะทำงานมาตั้งแต่ประมาณปี 2530 จนถึงปัจจุบันก็พบว่า มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาก็มีการพิจารณาว่าเอกสารทั้งหมดมีการออกโดยชอบ เนื่องจากไม่ได้ดูเพียงเอกสาร ดูหลาย ๆ อย่าง เช่นผลอาสิน ต้นไม้มีอายุกี่ปีประกอบการครอบครองที่ดิน ปรากฏว่าเอกสารส่วนใหญ่ ออกมาโดยชอบแล้ว ซึ่งตรงนี้ยังมีข้อขัดแย้งกันอยู่ ดีเอสไอ จึงเป็นหน่วยงานกลางที่ต้องพิสูจน์ พยานหลักฐานให้ชัดเจน จึงมีแนวคิดใช้หลักฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่เช่นนั้นข้อโต้แย้งไม่จบสิ้น ส่วนที่เอกชนมีข้อพิพาทต้องต่อสู้กันทางแพ่งก่อน เพื่อเป็นการแก้ปัญหาเร่งด่วน
อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวยังไม่ได้พิจารณาเป็นคดีพิเศษ โดยตามขั้นตอนเมื่อสรุปแล้ว จะเสนออธิบดีว่าจะให้ความเห็นเป็นอย่างไร จะเป็นคดีพิเศษหรือไม่
ขณะที่ตัวแทนชาวเล ย้ำว่า พื้นที่ที่เอกชนทำแนวรั้วปิดกั้น เป็นที่ดินที่ชาวเล นักเรียน และผู้คนบนเกาะใช้ประโยชน์ร่วมกัน เป็นทางสาธารณะที่ใช้กันดั้งเดิมมานาน หากนับเฉพาะที่ก่อตั้งโรงเรียน ก็ไม่น้อยกว่า 60 ปี จึงขอให้เร่งดำเนินการแก้ปัญหาเปิดพื้นที่สัญจรสาธารณะดังกล่าว พร้อมทั้งตรวจสอบต้นทางการได้มาซึ่งเอกสารสิทธิ์ของเอกชนในที่ดิน นส.3 แปลง 11 ทั้งหมด เพราะตอนนี้ นอกจากถูกปิดกั้นพื้นที่กระทบต่อการดำรงวิถีชีวิต ชาวบ้านยังโดนเอกชนเจ้าของพื้นที่ฟ้องขับไล่แล้วรวม 21 ราย
“ไม่ใช่แค่ปิดกั้นพื้นที่ ลำบากต่อการดำรงวิถีชีวิต กระทบนักท่องเที่ยวผู้คนบนเกาะ แต่มีชาวบ้านถูกฟ้องหลายราย ซึ่งตนเป็นหนึ่งในนั้น การไปต่อสู้ในชั้นศาลก็ลำบากมาก กระทบทุกอย่างในชีวิต ขอให้เร่งดำเนินการ”
เรณู ทะเลมอญ ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล
เรณู ทะเลมอญ ชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล
ภายหลังการประชุม พีระพันธุ์ สรุปแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยระบุว่า กรณีที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน และมีประเด็นว่าที่ดินจำนวนมากบนเกาะหลีเป๊ะ ออกมาโดยมิชอบหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามักเอา 2 ประเด็นมาผสมกัน จึงแก้ไม่ตก ดังนั้นจึงต้องแยกแก้ไขให้ชัด
โดยประเด็นที่ 1 ความเดือดร้อนของชาวหลีเป๊ะที่เป็นปัญหาคือเรื่องการถูกปิดกั้นทางเดิน เพราะฉะนั้นในส่วนนี้เมื่อเป็นที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ตามกฎหมายก็ต้องถือว่าเป็นที่เอกชน ซึ่งตามกฎหมายแล้ว เมื่อมีการปิดกั้นทางเดินกันในลักษณะที่ชาวบ้านใช้เดินกันมาไม่น้อยกว่า 60 ปี หลังจากมีการตั้งโรงเรียนเนี่ย ชาวบ้านมีสิทธิใช้สิทธิทางศาลเพื่อให้ศาลสั่ง เพราะว่าเมื่อเป็นเรื่องของเอกชน หน่วยราชการไม่มีสิทธิที่จะเข้าไปสั่งการในพื้นที่ของเขา ดั้งนั้นมีทางเดียวต้องไปตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด
“สิ่งจะทำได้ชาวเลต้องไปใช้สิทธิทางศาล ทางรัฐบาลทางหน่วยงานภาครัฐไม่สามารถไปใช้สิทธิตรงนี้แทนได้เพราะกฎหมายบอกว่าคนใช้สิทธิได้ คือคนเดือดร้อน ไม่ใช่หน่วยราชการ ที่ผ่านมาหน่วยราชการเขาก็บอกว่าเขาพยายามอธิบายว่าตรงนี้เขาเข้าไปไม่ได้นะ ไม่สามารถสั่งเอกชนที่มีเอกสารสิทธิ์ให้เปิดทาง เหมือนบ้านเรา อำเภอจะสั่งเปิดปิดไม่ได้ เพราะเป็นที่บ้านของเรา ดังนั้นก็ไปใช้สิทธิตามกฎหมายอย่างนี้ก็จบ “
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกรัฐมนตรี
ส่วนประเด็นที่ 2 คือส่วนที่ดินที่เกี่ยวข้อง ที่อ้างว่าเป็นที่เอกชน มาฟ้องขับไล่ชาวบ้าน รวมถึงที่อีกหลายแปลงเป็นที่ที่มีเอกสารออกมาโดยชอบหรือไม่ ถ้าไม่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีการเพิกถอน อันนี้เป็นเรื่องของภาครัฐที่จะเข้าไปตรวจสอบดูแล ซึ่งตนยืนยันจะเร่งตรวจสอบให้เร็วที่สุดและต้องติดตามความคืบหน้าต่อเนื่อง
ด้าน จำนงค์ จิตนิรัตน์ หนึ่งในกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ซึ่งร่วมประชุมในฐานะตัวแทนเครือข่ายชาวเล เห็นด้วยในหลักการของแนวทางแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และจะมีการหารือเรื่องการดำเนินการยื่นฟ้องต่อศาลต่อไป แต่ยอมรับว่าข้อเสนอทางออกที่ให้ชาวบ้านไปยื่นฟ้องต่อศาล ถือเป็นภาระของชาวบ้าน เพราะค่าใช้จ่ายสูง กระทบเรื่องเวลาทำมาหากินต่าง ๆ เรื่องข้อมูลต่างๆที่ต้องให้การต่อศาล ซึ่งชาวบ้านไม่เก่งเรื่องการสื่อสาร และถึงแม้ว่าจะมีกองทุนยุติธรรมมาช่วย แต่ค่าใช้จ่ายจะสูง ไม่เหมือนพื้นที่ปกติ ต้องนั่งเรือนั่งรถหลายต่อ
ดังนั้น จึงเห็นว่าถ้าเส้นทางนี้ เป็นถนนคนเดิน ใช้เพื่อสาธารณะ นักท่องเที่ยวเดิน วิถีชีวิตชาวเลก็เดิน เป็นถนนคนเดินตามธรรมชาติ เหมือนเป็นการส่งเสริมท่องเที่ยว ควรเป็นภาระของรัฐทำให้เส้นทางนี้สามารถเป็นถนนชีวิตชาวเลเดิน และต่างชาติก็เข้าทางนี้ รัฐจึงควรดูแล แต่เมื่อ พีระพันธุ์แนะนำแบบนี้ ก็ต้องไปตั้งหลักกันใหม่ หวังว่าการตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ต่าง ๆ ที่ พีระพันธุ์จะดำเนินการตรงนี้จะออกมาได้เร็วซึ่งจะมาช่วยคลี่คลายปัญหาที่สั่งสมมานาน