ชี้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ล่าสุด ยกฟ้อง เอกชนฟ้องขับไล่ชาวเล 15 คน สะท้อนชัด ชาวเลเป็นผู้บุกเบิกอยู่มาแต่ดั้งเดิม พร้อมขอบคุณทีมทนาย มูลนิธิชุมชนไท เตรียมพร้อมเดินหน้าประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หวังสร้างความมั่นคงสิทธิที่ดิน สิทธิชุมชนดั้งเดิม ตลอดจนการพัฒนาคุณภาพชีวิตในทุกมิติ
วันนี้ (11 พ.ค. 67) ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล จาก 15 ครอบครัว ที่ถูกฟ้องคดีข้อหาบุกรุกที่ดินเอกชน ได้ส่งมอบคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ซึ่งได้คัดสำเนา ให้กับ ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท และกล่าวขอบคุณทีมทนายความ ที่มูลนิธิฯส่งมาช่วยเหลือ โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องคดี เอกชน ฟ้องขับไล่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ 15 คนแล้ว จึงถือว่า ไม่ใช่ผู้บุกรุก ทำให้สิทธิคนดั้งเดิมอย่างชาวเลได้รับความเป็นธรรม
โดย ไมตรี จงไกรจักร ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท เปิดเผยกับ The Active ว่า กรณีดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่เอกชนรายหนึ่ง ฟ้องขับไล่ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ 15 คน เนื่องจากในที่ดิน สค.1 เลขที่ 11 เดิมแจ้งการครอบครองไว้ 50 ไร่ แล้วมาเปลี่ยนเป็น น.ส.3 แต่เพิ่มเป็น 81 ไร่ เท่าที่อ่านคำพิพากษาศาล ในส่วนของศาลชั้นต้นก่อนหน้า พิจารณาว่า ประเด็นที่ดินที่แจ้ง ส.ค.1 ซึ่งขณะนั้น 1. ที่ดินเป็นที่ดินของราชฑัณฑ์อยู่ อันนี้ตีความว่ามีการแจ้ง ส.ค.1 โดยมิชอบ 2. จาก ส.ค.1 มาเป็น น.ส.3 เลขที่ 11 จาก 50 ไร่ เป็น 81 ไร่ มีการออกเกินจากเดิม ซึ่งศาลก็พิจารณาว่าเอกสารนี้ออกโดยมิชอบ
และ 3. ชาวเลอาศัยอยู่มาในที่ดินนี้ต่อเนื่องอย่างเปิดเผย และคนฟ้องคือไปซื้อที่ดินตรงนี้มาประมาณ 3 ไร่ ซึ่งซื้อมาในขณะที่ชาวเลอาศัยมาก่อนอย่างต่อเนื่อง ถ้าหากจะฟ้องขับไล่จริง ๆ ต้องฟ้องตั้งแต่ 1 ปีแรกที่ชาวเลอยู่ว่าบุกรุก ดังนั้นจึงถือว่าการฟ้องตอนนี้ขาดอายุความ เพราะในความจริงชาวเลอยู่กันมายาวนานตั้งแต่บรรพบุรุษตามที่ชาวเล กล่าวมาเสมอ เพราะฉะนั้นโจทย์จึงไม่สามารถอาศัยเอกสารสิทธิที่ออกโดยมิชอบมาฟ้องชาวเลทั้ง 15 คนได้
“หากเป็นการโต้แย้งสิทธิในที่ดินกรณีพิพาท โจทย์ขาดอายุความ เพราะไม่มาฟ้องภายใน 1 ปี โจทย์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ศาลพิพากษาชัด โจทย์ไม่มีอำนาจฟ้อง เสมือนไม่มีสิทธิในที่ดินนั้นที่จะมาฟ้อง เพราะชาวเลอยู่มาอย่างต่อเนื่อง“
ล่าสุดศาลอุทธรณ์ ก็ตีความเช่นเดียวกัน ทั้งยังเสนอให้กรมที่ดินเพิกถอนเอกสารสิทธิด้วยซ้ำ โดยการนำแจ้งครอบครอง ส.ค.1 เลขที่ 11 มาใช้ในการออก น.ส.3 ได้เนื้อที่เพิ่มขึ้นจากหลักฐานเดิม ศาลชี้ว่า ทิศข้างเคียงเปลี่ยนแปลง ไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์วิธีการเงื่อนไขการออกโฉนดที่ดิน รับรองการทำประโยชน์ จึงออกมาโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ดังนั้นเห็นควรแจ้งกรมที่ดินดำเนินการตามมาตรา 61 ซึ่งศาลชี้ตรงนี้ด้วย เท่ากับว่า ผู้ฟ้องไม่มีสิทธิฟ้อง จึงยกฟ้อง เท่ากับว่าไม่มีสิทธิฟ้อง ไม่มีสิทธิในที่ดิน
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท กล่าวต่อว่า คำพิพากษาเป็นบวก แต่เชื่อว่าเอกชนรายดังกล่าวที่เป็นโจทย์จะยื่นฎีกาในที่ดินแปลงเดียวกันนี้ ทั้งนี้มีคดีในลักษณะเดียวกันมาก่อนหน้า คือเอกชนฟ้องชาวเลมาแล้ว 2 กลุ่ม ซึ่งชาวเลก็ชนะ โดยศาลฎีกายกฟ้องมาแล้ว 2 กรณี คือกลุ่มที่ 1 ฟ้องขับไล่ชาวเล 6 คน และกลุ่มที่ 2 ฟ้องขับไล่ 5 คน ซึ่งศาลก็ตีความผู้ฟ้องไม่มีสิทธิฟ้อง ไม่มีสิทธิในที่ดินเช่นเดียวกัน
“แต่ก็ยังนิ่งนอนใจไม่ได้ กรณีการฟ้องขับไล่ชาวเล 15 คน ถ้าเอกชนไปยื่นศาลฎีกา ก็ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าศาลจะพิจารณาอย่างไร แต่ก็มีคดีในลักษณะเดียวกันที่เป็นบวกกับชาวเลมาแล้ว แต่ถ้าเอกชนยื่นฎีกา ก็เป็นภาระชาวเลที่ต้องต่อสู้คดีมีค่าใช้จ่ายเดินทางต่าง ๆ ต้องหาทนายช่วยเหลือชาวบ้านอีก“
เรียกร้อง นายกฯ ตั้ง รองนายกฯที่เกี่ยวข้อง เดินหน้าเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิโดยมิชอบ คืนความเป็นธรรมให้ชาวเล
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ย้ำว่าที่ผ่านมาได้ส่งคำพิพากษาศาลฎีกา ต่อกรณีเอกชนฟ้องชาวเล 2 กลุ่มก่อนหน้านี้ซึ่งอยู่ในที่ดิน น.ส.3 เลขที่ 11 แต่อยู่คนละมุม ไปประกอบแล้ว แต่กรณีชาวบ้าน 15 คน อยู่ในใจกลางของแปลงน.ส.3 ก. เลขที่ 11 เพราะฉะนั้น เมื่อคำพิพากษาศาลออกมาในทิศทางเดียวกัน ว่าเอกสารออกโดยมิชอบ และไม่มีสิทธิในที่ดินที่จะฟ้องชาวเล ตนคิดว่าก็จะเป็นผลบวกให้คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะ จังหวัดสตูล จะได้อ้างอิงคำพิพากษาศาล รวมทั้งข้อเสนอแนะของศาลที่ให้กรมที่ดินดำเนินการตามมาตรา 61 ด้วย อันนี้จะเป็นผลบวกที่จะทำให้ คณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะจังหวัดสตูล พิจารณาได้ง่ายขึ้น
แต่ในส่วนที่คณะกรรมการที่ผ่านมา ยังขาดการยืนยันเรื่องภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ซึ่งในสารระบบของกรมที่ดิน เขาไม่มีภาพถ่ายในปี 2493 แต่ว่ากรมแผนที่ทหารเพิ่งยืนยันว่ามีภาพถ่ายปี 2493 ถือว่าเป็นภาพถ่ายที่เก่าที่สุด คณะกรรมการฯ ตามพระราชบัญญัติที่ดินแห่งชาติ มีคณะกรรมการที่อ่านแปลนภาพถ่ายอยู่ เลยขอให้คณะกรรมการชุดนี้เป็นคนอ่านแปล ซึ่งจะดูเป็นกลาง ซึ่งจะส่งภาพถ่ายทางอากาศ และการตรวจสอบเอกสาร ทั้งหมดมาประกอบให้กับคณะกรรมการแปรภาพถ่าย ซึ่งคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ มีคณะกรรมการชุดนี้อยู่ อันนี้จะเป็นแนวทางที่น่าจะเป็นประโยชน์กับความจริงในพื้นที่มากที่สุด จึงอยากให้เร่งดำเนินการเพื่อเดินหน้าเพิกถอนเอกสารสิทธิออกโดยมิชอบ คืนความเป็นธรรมคืนสิทธิให้ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ
และในการประชุมครั้งล่าสุดในคณะกรรมการแก้ปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ พีมูฟก็ได้เห็นชอบร่วมกันว่าให้ ชาญเชาวน์ ไชยยานุกิจ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม มาเป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลและข้อเท็จจริงกรณีปัญหาข้อพิพาทในที่ดินที่เกี่ยวข้องกับชุมชนชาวเล เกาะหลีเป๊ะจังหวัดสตูล ทดแทน พล.ต.อ.สุรเชษฐ หักพาล
ในส่วนที่ 2 คือให้คณะกรรมการฯ พีมูฟ ได้ติดตามการรายงานผลความคืบหน้าจากคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย
แต่ส่วนที่ 3 มีคณะกรรมการขับเคลื่อนการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ซึ่งเดิม สมศักดิ์ เทพสุทิน อดีตรองนายกฯ เป็นประธาน เมื่อปรับ ครม.ใหม่ ก็ขอให้นายกฯ เร่งแต่งตั้งรองนายกฯคนใหม่มานั่งเป็นประธาน เพื่อดำเนินการ ก็ขอให้รีบแต่งตั้งเพื่อให้มาดำเนินการขับเคลื่อนต่อไป
ชาวเลหลีเป๊ะ พร้อมเดินหน้าประกาศพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ หวังให้เกิดการคุ้มครองสิทธิที่ดิน ชุมชน วิถีวัฒนธรรม และการพัฒนาคุณภาพชีวิตทุกมิติ
ชาวเลเกาะหลีเป๊ะทราบดีว่านโยบายอาจจะมีข้อจำกัดในการแก้ปัญหา ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมานาน ด้วยเหตุนี้ชาวเลจึงพยายามรวบรวมข้อจำกัด รวบรวมข้อมูลฐานชุมชน รวมทั้งการสำรวจขอบเขตพื้นที่ที่จะให้มีการคุ้มครองฯ ทั้งเเรื่องที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย พื้นที่จิตวิญญาน หรือพื้นที่ประกอบพิธีกรรมต่างๆ ขณะเดียวกันชาวเลก็จัดทำข้อมูลเพื่อเสนอไปยังคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชนด้วย เพื่อรองรับกรณีที่มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิที่กำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งจะทำให้ที่ดินกลายเป็นที่อุทยาน จึงจะได้เป็นการคุ้มครองชาวเลว่าเป็นชุมชนดั้งเดิม ไม่ต้องมากลายเป็นผู้บุกรุกอีก ซึ่งก็เป็นไปตามมติ ครม. 2 มิถุนายน 2553 แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวเล
ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนไท ยืนยันว่า ข้อมูลในส่วนต่าง ๆ ที่ว่ามานี้ ชาวเลเกาะหลีเป๊ะ มีความพร้อมแล้วมากกว่า 90 % และกำลังทำชุดข้อมูลที่กำลังเผยแพร่ต่อสาธารณะ ว่าสภาพความเป็นอยู่ การเข้าถึงบริการสาธารณะ สวัสดิการสังคมที่รัฐควรเข้ามาดูแลในพื้นที่ให้กับชาวเลเกาะหลีเป๊ะ เพื่อให้เห็นความชัดเจนว่าการเข้าไม่ถึงของรัฐ ส่งผลต่อปัญหาวิถีชีวิตและความเหลื่อมล้ำของกลุ่มชาติพันธุ์และคนห่างไกลตรงนี้อย่างไร เพราะฉะนั้นการประกาศเขตคุ้มครอง จะเป็นการชวนทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มารับรู้ข้อมูลและวางแผนในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน