เครือข่ายชาวเลอันดามัน จี้ นายกฯ สั่งการ ให้กลไกรัฐในพื้นที่ เดินหน้าเร่งแก้ไขปัญหา ห่วงข้อเสนอของเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ที่สนับสนุนชาวเลฟ้องศาล สั่งเปิดทางสาธารณะอาจล่าช้า หวั่นสร้างความชอบธรรมยอมรับการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินพิพาทได้มาอย่างถูกต้อง
วันนี้ ( 30 ธ.ค. 65 ) เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน เปิดเผยว่า กลุ่มชาวเลยังเดินหน้าระดมทุนใน 2 ส่วน คือ ระดมทุนจากประชาชนทั่วไป และระดมทุนกันเองในการหยอดกระปุกเพื่อเดินทางไปเข้าพบ พลเอกประยุทธ์ จันโอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้เร่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ รวมถึงข้อพิพาทที่ดินปิดทางสาธารณะประโยชน์เกาะหลีเป๊ะ อ.เมือง จ.สตูล จากข้อสรุปภายหลังที่ อนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบเมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ที่จะเสนอ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ หรือบิ๊กโจ๊กเป็นประธาน แต่เนื่องจากผ่านมา 2 สัปดาห์ ยังไม่มีความคืบหน้าของคำสั่งแต่งตั้ง จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่จะเคลื่อนไหวไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 15 มกราคมนี้
ที่สำคัญยังมีข้อกังวล ต่อสัดส่วนโครงสร้างคณะกรรมการที่กำหนดไว้ ที่วางฝ่ายภาครัฐอย่างเดียว อาจทำให้ข้อมูลต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาของจิสด้า หรือ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และคณะกรรมการฟื้นฟูวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลและชาวกะเหรี่ยง ภายใต้คณะกรรมการแก้ไขปัญหาของกลุ่มขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม และอีกหลายชุดที่มีข้อเสนอแล้ว จะไม่ได้รับการหยิบยก เพราะฉะนั้นจึงจะไปเรียกร้องให้เพิ่มสัดส่วนองค์กรกลาง หรือผู้เคยติดตามศึกษาเรื่องนี้มาก่อน เข้าไปเป็นคณะทำงานด้วย โดยเป้าหมายคณะกรรมการชุดนี้ต้องเป็นไปเพื่อการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ที่ดิน
“อย่างเช่น การออก สค.1 ล้วนแล้วแต่เป็นของนามสกุลหาญทะเล แต่พอขั้นตอนออก นส.3 ทั้งหมด ทำไมถึงหายไปหมด ทำไมเปลี่ยนมือ อันนี้ต้องหาข้อเท็จจริงให้ได้ และเรื่องข้อเท็จจริงที่ว่า นส.3 บวมมันเกิดขึ้นจริงหรือไม่อย่างไร อาจจะต้องเสนอให้กรรมการชุดบิ๊กโจ๊ก ต้องใช้กรอบการตรวจสอบตั้งแต่กระบวนการที่จะเริ่มการออกเอกสารที่ดิน ไม่ใช่ไปตรวจสอบแค่มี สค.1 แล้วบอก นส.3 ถูกต้อง ไม่ใช่แค่นั้น เป็นเหตุผลที่ต้องไปเรียกร้องกรอบในการตรวจสอบจะใช้อะไร ต้องควบคู่กับประวัติศาสตร์ การดำรงอยู่ การใช้ประโยชน์ที่ดินมาต่อเนื่องไม่ใช่แค่ตรวจสอบว่าเอกสารครบถ้วนหรือไม่ อันนี้เป็นอีกข้อเสนอ “
เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน
นอกจากนี้ยังเห็นว่า แม้ล่าสุดที่ประชุมแก้ไขปัญหาข้อพิพาทที่ดินการปิดกั้นทางสาธารณะประโยชน์บนเกาะหลีเป๊ะ ซึ่งมี พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ได้ให้แนวทางกรณีแก้ปัญหาเอกชนปิดทางสัญจรสาธารณะดั้งเดิม โดยสนับสนุนให้ชาวเลใช้กระบวนการทางกฎหมายในการที่จะทวงคืนพื้นที่ โดยใช้ทางกระบวนการยุติธรรมที่จะนำมาซึ่งความชอบธรรมมากกว่า เพราะว่าเหตุผลหนึ่งที่นายพีระพันธุ์ให้ไว้ ก็คือที่ผ่านมา นส.3 ออกถูกต้องตามกฎหมายเพราะมี สค.1 แต่มันมีจำนวนแค่ 81 ไร่ เพราะฉะนั้นเป็นเหตุผลที่เข้าใจและรับฟังได้ แต่ก็เห็นว่ากฎหมายขึ้นอยู่กับการตีความ พีระพันธุ์ อาจมองว่ากระบวนการออก นส.3 จำนวน 81 ไร่ถูกต้อง แต่ทับทางที่สาธารณะ ก็ต้องพึ่งอำนาจศาล ก็เป็นอีกมุมหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงรู้อยู่ว่ามีอำนาจอยู่ในมือแล้ว แต่เพื่อให้เป็นทางออกที่ละมุนละม่อมมากที่สุดก็พอรับได้ แต่เรื่องนี้ชาวเลคงต้องพิจารณาและหารือกันให้ชัด
เพราะจริง ๆ แล้วตามข้อเท็จจริง หน่วยงานรัฐ โดยเฉพาะอำเภอ หรือท้องที่ อย่าง อบต.เกาะสาหร่าย มีหน้าที่โดยตรง ในการที่จะเข้าไปตรวจสอบพื้นที่สาธารณะประโยชน์ ที่ใช้ประโยชน์ร่วมกันมานาน นี่คือข้อเท็จจริงตามกระบวนการที่ควรจะเป็น ที่ควรจะต้องขับเคลื่อน แต่กระบวนการกลไกนี้ กลับไม่ทำงาน
“เอาจริง ๆ เอกสารหลักฐานทุกอย่างมันมีชัดอยู่แล้ว ทั้งภาพถ่ายทางอากาศ ผลสอบสวนของดีเอสไอ ของกรรมการสิทธิมนุษยชนมีอยู่แล้ว เอาเข้าจริง ๆ ผมคิดว่าแค่กลไกปกติทำงานอย่างเช่น ที่ พล.อ.สุรินทร์ พิกุลทองให้ไว้ ผมคิดว่าปัญหาทุกอย่างยุติได้ โดยเฉพาะในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของพีมูฟ ก็ได้มีมติให้ทางอำเภอเมืองสตูล และ อบต.เกาะสาหร่ายไปดำเนินการพิสูจน์ ว่าทางสาธารณะประโยชน์มันอยู่ตรงนั้นจริงไหม อะไร ยังไง แล้วหลังจากนั้นค่อยทำความเห็นเสนอให้อธิบดีกรมที่ดินได้ดำเนินการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ทับที่สาธารณะต่อไป แต่กลไกนี้ไม่ทำงาน “
เจกะพันธ์ พรหมมงคล ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน
ผู้ช่วยผู้ประสานงานเครือข่ายชาวเลอันดามัน ยังเห็นว่า การใช้กระบวนการยุติธรรม มีข้อควรระวัง เพราะนั่นอาจหมายถึงว่าไปยอมรับแล้วว่าเอกสารสิทธิ์นั้นออกโดยชอบธรรม นี่จึงเป็นแค่ทางเลือก ถึงอย่างไรทางหลักต้องผลักดันให้กลไกปกติทำงานก่อน ดังนั้นจึงเป็นอีกเรื่องสำคัญ ที่จะไปเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีสั่งการเร่งรัดให้ทางอำเภอ อบต.เกาะสาหร่าย ได้ดำเนินการตามกฎหมายที่มีอยู่ด้วย ทำอย่างไรให้กลไกนี้สามารถเดินหน้าได้