ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ยื่น รมว.ยุติธรรม ขอความช่วยเหลือกองทุนยุติธรรมในระหว่างสู้คดี หลังกลับไปทำกินบนพื้นที่ดั้งเดิม ถูกจับกุม-ดำเนินคดีข้อหารุกอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อเดือน ม.ค. ปี 2564
วันนี้ (9 ม.ค. 2566) ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี ในนามกลุ่ม “บางกลอยคืนถิ่น” พร้อมด้วยทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เดินทางไปยังกระทรวงยุติธรรม หลักสี่ กรุงเทพฯ เพื่อยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในนามประธานกรรมการกองทุนยุติธรรม ขอความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมในระหว่างการสู้คดี หลังเดือน มี.ค. 2564 ถูกเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจานสนธิกำลังเข้าจับกุม และพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรแก่งกระจานได้แจ้งข้อกล่าวหาตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ในข้อหายึดถือหรือครอบครองที่ดิน ก่อสร้าง แผ้วถาง เผาป่า หรือกระทำด้วยประการใด ๆ ให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิม รวมถึงแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ และพระราชบัญญัติป่าไม้ ซึ่งการจับกุมและดำเนินคดีดังกล่าวสืบเนื่องจากเมื่อต้นปี 2564 รวมทั้งสิ้น 29 คน โดยเป็นผู้ใหญ่ 27 คน และเยาวชน 2 คน
หนังสือดังกล่าวระบุว่า ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การยืนยันต่อพนักงานสอบสวนและร้องขอความเป็นธรรมต่อพนักงานอัยการว่า ไม่ได้กระทำผิดตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวอ้างแต่อย่างใด หากมีการส่งฟ้องคดีต่อศาลแล้ว การดำเนินคดีดังกล่าวจะมีการดำเนินการฟ้องคดีที่ศาลจังหวัดเพชรบุรีและศาลเยาวชนและครอบครัว จ.เพชรบุรี ตั้งอยู่ อ.เมือง จ.เพชรบุรี แต่เนื่องจากภูมิลำเนาของผู้ต้องหาทั้งหมดอยู่ที่บ้านบางกลอยล่าง ในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ซึ่งการเดินทางออกจากบ้านบางกลอยล่างถึง อ.แก่งกระจาน ใช้เวลาเดินทางมากกว่า 3 ชั่วโมง ต้องแวะพักและเดินทางไปยังอำเภอเมืองเพชรบุรีอีกกว่า 1 ชั่วโมง รวมระยะเวลาการเดินทางประมาณ 5 ชั่วโมงเศษในแต่ละครั้ง จึงต้องใช้เวลาในการเดินทางมาก่อนล่วงหน้า 1 วัน มาขึ้นศาลอีก 1 วันเป็นอย่างน้อย และต้องใช้เวลาเดินทางกลับอีก 1 วัน รวมเป็น 3 วัน 2 คืน โดยที่ผู้ต้องหาทุกคนมีฐานะยากจนจึงไม่มีเงินที่จะไปพักโรงแรมได้
การเดินทางจึงจำเป็นต้องเสียทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร และค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเป็นคดีที่มีบุคคลจำนวนมาก ทำให้มีค่าใช้จ่ายมากขึ้น โดยผู้ต้องหาทั้งหมดไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไม่ไปก่อเหตุภยันตรายประการใด ลักษณะการกระทำความผิดไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของประเทศ หรือการกระทำที่มีผลกระทบต่อประชาชนที่ทำให้ประชาชนได้รับความเสียหาย หรือความเชื่อมั่นของกระบวนการยุติธรรม
“ผู้ต้องหามีภาระในการดูแลบุคคลในครอบครัวที่หากไม่ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนยุติธรรมจะทำให้เกิดความเดือดร้อนอย่างยิ่ง โดยการที่ผู้ต้องหาถูกดำเนินคดีสืบเนื่องมาจากการใช้สิทธิชุมชน สิทธิในที่ทำกิน และสิทธิในที่ดินที่อยู่อาศัยเท่านั้น เนื่องจากมีความเดือดร้อนจากการถูกบังคับโยกย้ายจากที่ดินดั้งเดิมโดยไม่ชอบ”
หนังสือระบุ
การถูกดำเนินคดีของผู้ต้องหาทั้งหมดนี้ทำให้ต้องมีภาระค่าใช้จ่าย ทั้งค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร ในแต่ละครั้งที่ต้องมารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน ต่อพนักงานอัยการ และการเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาลดังที่กล่าวข้างต้น ต้องเสียเวลาในการเดินทางและดำเนินการอย่างน้อยครั้งละไม่ต่ำกว่า 3 วัน มีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 2,000-3,000 บาทเป็นอย่างน้อย แต่หากต้องพักมากกว่า 2 คืน ก็จะมีค่าใช้จ่ายที่มากกว่านั้น
อีกทั้งยังจำเป็นจะต้องมีเงินประกันตัวในชั้นศาล ที่จะขอให้มีการสั่งปล่อยตัวชั่วคราว ก็จำเป็นต้องใช้หลักทรัพย์ในการวางประกันต่อศาล การที่ต้องถูกดำเนินคดีและต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายดังกล่าว จึงเป็นความเดือดร้อนอย่างยิ่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ควรจะถูกดำเนินคดี นอกจากนี้แม้ว่ามูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนจะให้ความช่วยเหลือในการจัดหาทนายความมาดำเนินคดีให้ แต่ก็ไม่อาจมีค่าใช้จ่ายในการจ่ายเงินค่าทนายความได้ทั้งหมด จำเป็นต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับทนายความด้วย แต่ผู้ต้องหาไม่สามารถจัดหามาได้เช่นเดียวกัน
“ด้วยเหตุดังกล่าว ผู้ต้องหาทั้ง 29 คน จึงเรียนมาเพื่อขอให้ท่านพิจารณาดำเนินการสั่งการให้คณะกรรมการกองทุนยุติธรรมได้พิจารณาอนุมัติให้ความช่วยเหลือทางคดีสำหรับค่าใช้จ่ายในการถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก ค่าอาหาร หลักทรัพย์ประกันกรณีการขอปล่อยตัวชั่วคราว ตลอดจนค่าใช้จ่ายสำหรับทนายความที่ทางมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนเป็นผู้จัดหา เนื่องจากเป็นทนายความที่ผู้ต้องหาไว้วางใจและร่วมให้ความช่วยเหลือทางคดีมาแต่ต้น เพื่อให้เกิดการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ว่า บุคคลถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด เพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 29 คนได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่ ได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมอย่างแท้จริง และเป็นไปตามแนวทางการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน”
ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนย้ำ