ตั้ง กก.สอบตำรวจไม่ยอมตรวจแอลกอฮอล์ตั้งแต่รอบแรก ด้านเลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ เสนอเกิดอุบัติเหตุต้องตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกคน แม้ยังไม่มีกฎหมายรองรับ
ล่าสุด ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ หลังพนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ขับรถเบนท์ลีย์ ในข้อหา ขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส, ได้รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย, ขับรถในขณะเมาสุรา (ฝ่าฝืนไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์ ให้สันนิษฐานว่า เมาแล้วขับ นำตัวผู้ต้องหาไปทำการฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลได้พิจารณารับฝากขังตามคำร้อง ต่อมาผู้ต้องหายื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิจารณาเเล้วอนุญาตให้ประกันตีราคา 1 เเสนบาท
ก่อนหน้านี้ตำรวจนครบาล แจงการดำเนินการกรณีรถเบนท์ลีย์เฉี่ยวชนบนทางด่วน ยันตำรวจแจ้งข้อหา ‘ขับรถในขณะเมาสุรา’ เหตุฝ่าฝืนไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์ ให้สันนิษฐานว่า เมาแล้วขับ พร้อมตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงการใช้วิจารณญาณของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการตรวจวัดแอลกอฮอล์
พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รอง ผบช.น.ในฐานะโฆษก บช.น. และ พล.ต.ต.นิธิธร จินตกานนท์ รอง ผบช.น. ชี้แจงว่า ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลได้ให้ความสำคัญ และกำชับให้ผู้บังคับการตำรวจจราจรลงไปควบคุมดูแลเกี่ยวกับการดำเนินคดีดังกล่าวด้วยตนเอง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม โปร่งใส และเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนและสังคม ถึงความคืบหน้าของการดำเนินการเพิ่มเติมเกี่ยวกับคดีดังกล่าวใน 2 ประเด็นหลัก ดังนี้
ประเด็นที่ 1 การดำเนินคดี : เมื่อวันที่ 11 ม.ค.66 จากการที่พนักงานสอบสวนได้รวบรวมข้อเท็จจริง และหลักฐานเพิ่มเติม จึงได้แจ้งข้อหาเพิ่มเติมกับผู้ขับรถเบนท์ลีย์ในข้อหาขับรถโดยประมาทอันอาจเกิดอันตรายแก่บุคคลและทรัพย์สินของผู้อื่น และเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส , ได้รับอันตรายแก่กายและทรัพย์สินเสียหาย, ขับรถในขณะเมาสุรา (ฝ่าฝืนไม่ยอมเป่าแอลกอฮอล์ ให้สันนิษฐานว่า เมาแล้วขับ) และนำตัวผู้ต้องหาไปทำการฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งศาลได้พิจารณารับฝากขังตามคำร้อง
ประเด็นที่ 2 การดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง : เนื่องจากคดีดังกล่าว ยังมีพี่น้องประชาชนในสังคมมีความสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินการ และการใช้วิจารณญาณของพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ผู้บังคับการตำรวจจราจร จึงได้ออกคำสั่งตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.66 โดยมอบหมายให้รองผู้บังคับการตำรวจจราจรเป็นประธานคณะกรรมการ และให้รายงานผลการตรวจสอบให้ทราบภายใน 15 วัน ผลเป็นประการใดจะแจ้งให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบต่อไป
ขณะที่ก่อนหน้านี้ (9 มกราคม 2566 ) มูลนิธิเมาไม่ขับ ได้ส่งหนังสือด่วน ไปถึง พลตำรวจตรี จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เรื่องขอให้พิจารณาสั่งการให้พนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาเมาแล้วขับกับผู้ขับขี่รถเบนท์ลีย์ที่ก่อเหตุ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเข้าใจว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้เลือกปฎิบัติและพร้อมอำนวยความยุติธรรมให้กับทุกฝ่าย
ก่อนหน้านี้ ประเทศไทย เคยมี พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่10) พ.ศ.2557 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จราจรทางบก 2522 มีผลบังคับใช้แล้วโดยมีการแก้ไข 2 ประเด็นหลักสำคัญๆ แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 142 เกี่ยวกับกำหนดข้อสันนิษฐานในกรณีผู้ที่ขับขี่ ไม่ยอมให้ความร่วมมือในการทดสอบว่าความสามารถเนื่องจากเมา
ซึ่ง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมใหม่จะให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรสั่งให้หยุดรถ ถ้าคนขับมีพฤติการณ์เมาสุรา หรือเรียกให้ผู้ขับขี่เป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ หากผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบให้เจ้าหน้าที่สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นเมาสุราโดยเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีฐานขับรถขณะเมาสุราได้
สำหรับบทลงโทษถ้าผู้ขับขี่ปฏิเสธการทดสอบตรวจวัดแอลกอฮอล์กฏหมายเดิมคือปรับไม่เกิน1,000 บาท ซึ่งกรณียินยอมให้ทดสอบแต่พบว่าเมาให้ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับตั้งแต่ 5,000-10,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับและให้ศาลยกเลิกใบอนุญาตขับขี่
แต่กฏหมายใหม่นี้ได้เพิ่มความเข้มงวดในการเอาผิดผู้ที่ไม่ยอมให้ความร่วมมือมีการปรับแก้กฎหมายให้อำนาจเจ้าหน้าที่ถ้าคนปฏิเสธตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตำรวจสามารถทำสำนวน ส่งอัยการฟ้องได้ทันที เข้ามาตรา 42(2)ปรับตั้งแต่10,000-20,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ
ปี 2565 ระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดช่องการตรวจวัดแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่ที่อาจอยู่ในภาวะหมดสติ หรือ ได้รับอันตรายจนไม่สามารถให้ความยินยอมในการทดสอบการมีสารอยู่ในร่างกายได้ หรือไม่สามารถเป่าได้ ให้พนักงานสอบสวนพิสูจน์ทราบข้อเท็จจริง ด้วยการส่งตัวไปยังโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เพื่อพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ต้องทำภายใน 3 ชั่วโมง นับตั้งแต่ได้รับแจ้งเหตุ
นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีกฎหมายเพื่อมีการปรับปรุงบทลงโทษสำหรับ ผู้ดื่มแล้วขับ หรือ ปฏิเสธการเป่า มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับ 10,000-20,000 บาท แต่ก็ยังมีอีกหลายกรณีที่ไม่เป็นข่าวที่ไม่ถูกตรวจวัดแอลกอฮอล์ในที่เกิดเหตุ
“อยากเสนอให้ออกกฎหมายเพิ่มเติมหากเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งควรตรวจแอลกอฮอล์กับผู้ขับขี่ทุกคนโดยไม่ละเว้น ซึ่งปัจจุบันมีเพียงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุทุกครั้งต้องตรวจแอลกอฮอล์กับผู้ขับขี่ทุกคน แต่ในความเป็นจริงระเบียบสำนักงานตำรวจแห่งชาติคือสิ่งที่พึงปฎิบัติแต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับดุลยพินิจในแต่ละสถานการณ์ ซึ่งไม่มีบทลงโทษผู้ปฎิบัติที่ชัดเจนเหมือนการมีกฎหมายกำกับ”
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ในการเก็บหลักฐานทันทีทุกคดีอุบัติเหตุ คือความจำเป็น แม้เป็นเรื่องดีที่มองความปลอดภัยผู้บาดเจ็บเป็นอันดับแรก แต่ในข้อเท็จจริงการรักษาสามารถทำควบคู่กับการตรวจพิสูจน์ปริมาณแอลกอฮอล์ได้ เพราะในกรณีผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวถูกส่งเข้าห้องฉุกเฉิน แพทย์จะเปิดเส้นเจาะเลือดให้น้ำเกลืออยู่แล้ว ในคนที่บาดเจ็บรุนแรงต้องส่งตัวอย่างเลือดไปตรวจหมู่เลือดเผื่อไว้หากจำเป็นต้องให้เลือด ในขั้นตอนนี้พนักงานสอบสวนสามารถแจ้งให้แพทย์เก็บเลือดประมาณ 5 ซีซี ไว้ใช้ภายหลัง
“เพราะทุก 1 ชั่วโมง ปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดจะลดลง 15 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ เมื่อผู้บาดเจ็บฟื้นจึงค่อยแจ้งขอตรวจ ซึ่งจะปฏิเสธหรือยอมรับก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ย้ำว่าข้อปฏิบัตินี้ทำไปด้วยกันได้โดยไม่กระทบกับการรักษา”