กระตุ้นสังคมต้องไม่เพิกเฉย ร่วมกดดันสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบ ลดการสูญเสีย แม้จะมีกฎหมายควบคุมก็ยังหยุดคนเมาแล้วขับให้ลดลงบนท้องถนนของไทยได้ยาก หากไม่เริ่มสร้างจุดเปลี่ยน
หลังเกิดเหตุผู้รักษาประตูทีมฟุตบอลชลบุรีเอฟซี เมาขับชนคนที่ออกมาเดินออกกำลังกายตอนเช้ามืดเสียชีวิต โดยผลตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือดคนขับสูงถึง 184 mg% ซึ่งสูงเกินกว่ากฎหมายกำหนดเกือบ 4 เท่า ในช่วงปลายเดือนตุลาคม ทำให้เกิดกระแสสังคมรวมถึงแฟนฟุตบอล ได้ออกมาเรียกร้องถามหา “ความรับผิดชอบ” จากต้นสังกัดในการลงโทษที่มากกว่าหยุดลงสนามและเป็นความรับผิดชอบที่ทัดเทียบกับวงการฟุตบอลระดับสากล
แต่เมื่อผ่านไปไม่นาน เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 ได้เกิดเหตุรถยนต์ชนรถจักรยานยนต์พ่วงข้าง บริเวณสี่แยกไฟแดงหน้าทางเข้าสนามกีฬา 700 ปี ถนนคันคลองชลประทาน ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ โดยมีทหารในสังกัดกองทัพบก ชื่อ ยศสิบเอกสถาพร กองโกย ขับรถขณะเมาสุราชนรถของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน บาดเจ็บสาหัส 1 คน
เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนภาพปัญหาเมาแล้วขับยังคงมีต่อเนื่อง จากข้อมูลเฝ้าระวังการบาดเจ็บ กองป้องกันบาดเจ็บ กรมควบคุมโรค สะท้อนให้เห็นสัญญาณอันตรายของปัญหาเมาขับ ที่พบว่าสัดส่วนร้อยละ (%) ของผู้เสียชีวิตจากดื่มขับมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา (2563-2564) และยิ่งน่ากังวลเพราะข้อมูลการเจาะเลือดตรวจวัดแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ที่บาดเจ็บรุนแรง พบว่าครึ่งหนึ่ง (50%) มีระดับแอลกอฮอล์เกินกฎหมายกำหนด
ขณะที่มูลนิธิเมาไม่ขับ ทำหนังสือเปิดผนึกเสนอเคสทหารถึงผู้บัญชาการทหารบก หลังจากทหารในสังกัดขับรถขณะเมาสุราชนรถของประชาชนผู้บริสุทธิ์เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 2 คน ขอให้ลงโทษทางวินัยกำลังพลที่ละเมิดกฎหมายเมาแล้วขับ เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่าง กับกำลังพลท่านอื่น ๆ โดยมีเนิ้อความระบุสะท้อนอุบัติเหตุเมาแล้วขับ และขอให้กองทัพบกควรยึดถือปฎิบัติอย่างเคร่งครัดเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีให้แก่ประชาชน โดยมีเนื้อความตามหนังสือว่า
รัฐบาลนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนนอย่างจริงจังและต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐบาลภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตลอดระยะเวลาที่ได้เป็นผู้นำบริหารประเทศ ได้มีนโยบายที่ชัดเจนในการที่จะลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนที่มีสาเหตุมาจากการเมาแล้วขับ รวมไปถึงการให้ความเห็นชอบกฎหมายที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับการลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน หลายฉบับ อาทิเช่น กฎหมายการปฏิเสธการตรวจวัดแอลกอฮอล์ให้ถือว่าเมาแล้วขับ (เมาไม่เป่า) กฎหมายลดปริมาณแอลกอฮอล์จาก 50 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ เหลือ 20 มิลลิกรัมเปอร์เซนต์ ในกลุ่มเด็กเยาวชน และผู้มีใบขับขี่ชั่วคราว ฯลฯ
พฤติกรรมดังกล่าวของสิบเอกสถาพร กองโกย เป็นพฤติกรรมการขับขี่ที่อันตรายต่อประชาชนผู้บริสุทธิ์บนท้องถนน ทั้ง ๆ ที่กฎหมายเมาไม่ขับได้มีการบังคับใช้ อีกทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนได้รณรงค์ผ่านสื่อสาธารณะทุกช่องทางอย่างกว้างขวาง ที่สำคัญนโยบายการลดความสูญเสียบนท้องถนนเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และของกองทัพบก ที่ข้าราชการและกำลังพลของกองทัพบกต้องยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีกับประชาชน
การเมาแล้วขับ ถือเป็นนโยบายของรัฐบาล และกองทัพบก ซึ่งเป็นข้าราชการต้องเป็นแบบอย่างที่ดีต่อประชาชนไม่ใช่กระทำการละเมิดกฎหมายเสียเอง นอกจากนั้นการจะอ้างว่าเป็นการกระทำความผิดหลังเวลาราชการก็ไม่สามารถอ้างได้เพราะวินัยของข้าราชการสะท้อนถึงภาพลักษณ์ขององค์กรและของผู้บังคับบัญชา มิฉะนั้นแล้วจะก่อให้เกิดเสียงครหาจากประชาชนว่ามีการปกป้องช่วยเหลือกัน ทำให้ภาพพจน์ของกองทัพบกเสียหาย
ในนามของมูลนิธิเมาไม่ขับ อยากให้กรณีดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาเพื่อให้กำลังพลในกองทัพบก ที่ยังมีพฤติกรรมเมาแล้วขับ ได้ลด ละ เลิกพฤติกรรมดังกล่าวเสีย ในฐานะข้าราชการที่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับประชาชน ซึ่งผลการดำเนินการเป็นประการใด ขอความกรุณาแจ้งให้กับมูลนิธิเมาไม่ขับทราบด้วย
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนไทยเสียชีวิตกว่า 20,000 คนต่อปี บาดเจ็บประมาณ 1 ล้านคนต่อปี มูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคม สูงถึง 5 แสนล้านบาทต่อปี ทั้งนี้จากรายงานขององค์การอนามัยโลก ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงติดอันดับ 9 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 1 ของทวีปเอเชียและกลุ่มประเทศอาเซียน
หากสังคมไม่ร่วมมือแก้ปัญหาเมาแล้วขับร่วมกัน เราจะสูญเสียประชาชนผู้บริสุทธิ์อีกจำนวนมาก ทั้งเด็กเล็ก วัยทำงาน ที่เป็นกำลังหลักของชาติแบบไม่รู้เนื้อไม่รู้ตัว ผมยอมรับการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยมีผลอย่างมากทำให้จับคนเมาแล้วขับ ขณะเดียวกันกล้องหน้ารถ หล้องบนท้องถนนคือสิ่งสำคัญที่ควรจะมีและช่วยกันส่งภาพ เพื่อให้สังคมรวมกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงระบบที่มักมีความซ้ำซ้อน
การที่รวมคิดร่วมช่วยร่วมพัฒนาไทยจะก้าวไปสู่จุดที่ต่างประเทศเขาทำได้ เช่น ญี่ปุ่นที่แม้จะมีประชากรดื่มค่อนข้างมากแต่ก็ไม่ขับรถเวลาเมา ขณะที่สหรัฐอเมริกา ฐานข้อมูลคนเมาขับจะถูกบันทึกจัดเก็บเป็นประวัติรายบุคคลเมื่อไม่ต้องการเสียประวัติก็จะไม่ทำผิดกฎหมาย
นายแพทย์แท้จริง ศิริพานิช นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน เลขาธิการมูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย เปิดเผยว่า ถ้าเทียบกฎหมายเมาแล้วขับของไทยและญี่ปุ่นพบว่า ไทยยังมีการลงโทษกฎหมายที่ไม่รุนแรงเท่ากับญี่ปุ่น ขณะที่ญี่ปุ่นระหว่างที่ปรังปรุงกฎหมายก็ทำให้การบังคับใช้มีผลต่อการลดคนเมาลงมาก
อย่างในกรณีเคสนักแสดงจากเกาหลี “คิมแซรอน” นักแสดงที่เคยก่อเหตุเมาแล้วขับ ที่แยกฮักดง ย่านชงดัมดง ดังนัมกู กรุงโซลและตรวจพบว่าเธอมีแอลกอฮอลล์ในเลือดเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด จนทำให้หายไปจากวงการบันเทิง เพราะเหตุเมาแล้วขับนับเป็นเรื่องร้ายแรงของสังคมเกาหลี และเปลี่ยนชีวิตเธอให้กลายมาทำงานพาร์ททามในคาเฟ่ โดยจากอุบัติเหตุครั้งนั้นสร้างความเสียหายไว้อย่างมากมายทั้งทำให้ตู้ไฟฟ้าที่ตั้งอยู่ริมถนนเสียหาย ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าไม่สามารถเปิดกิจการได้ ทำให้ คิมแซรอน ต้องดำเนินการจ่ายค่าชดเชยกว่า 30 รายการให้กับธุรกิจการค้าและผู้ที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ
ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในทางทฤษฎีป้องปราม deterrence effect ต้องอาศัย 2 ขา ที่ต้องทำอย่างเข้มแข็ง
ก) มีการตรวจจับครอบคลุม ต่อเนื่อง จริงจัง ไม่เลือกปฏิบัติ เข้ม หรือถ้าชนคนเจ็บตาย ก็ตรวจ alc ทุกราย ไม่รอด
ข) มีบทลงโทษหนัก เพื่อสร้างความเกรงกลัว ทั้งโทษทางกฎหมาย , ผิดซ้ำจับคุก และมีโทษจาก “ต้นสังกัด” หรือกระแสสังคมกดดัน