ย้ำ ‘ข้อมูลเท็จ’ ทำลายความน่าเชื่อถือ น่ากลัวกว่าอำนาจเงิน-รัฐ

‘พรรณิการ์ วานิช’ เตือน ข้อมูลลวง บิดเบือน เปรียบอาวุธทางการเมืองยุคใหม่ ทำลายความเชื่อมั่นนักการเมือง ระบอบประชาธิปไตย แนะ สื่อมีบทบาทสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน รับมือข่าว-ข้อมูลบิดเบือน

เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 68 ในงาน Thai PBS Verify Talk เวทีทอล์กที่รวมตัวนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ คนการเมือง และตัวแทนจากแพลตฟอร์มใหญ่ กับการรับมือข่าวลวง ข้อมูลเท็จ พร้อมด้วยตัวแทนจาก “Ecology of Thai PBS Verify” มาร่วมแชร์ประสบการณ์และมุมมอง เพื่อให้ประชาชนรู้ก่อนแชร์ แยกแยะก่อนเชื่อ หยุดแชร์ข่าวลวงให้หมดไปจากหน้าฟีด

พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ระบุในเวที โดยย้ำเตือนถึงอันตรายของ Disinformation (ข้อมูลบิดเบือน) และ Misinformation (ข้อมูลเท็จ) ที่กำลังกลายเป็นอาวุธทางการเมืองสำคัญ ซึ่งมีพลังทำลายความน่าเชื่อถือของนักการเมือง พรรคการเมือง และระบอบประชาธิปไตยโดยรวม ร้ายแรงที่สุดคือ การที่ข้อมูลเหล่านี้ทำให้ความเป็นมนุษย์ถูกลดทอน เช่น การเหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ หรือเหยียดฐานะ ที่มุ่งเป้าให้คน ๆ หนึ่งดูน่ารังเกียจ และไม่สมควรได้รับความเห็นใจอีกต่อไป

พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า

ถูกทำลายความน่าเชื่อถือ น่ากลัวกว่าอำนาจรัฐ-เงิน

พรรณิการ์ ยังชวนผู้ฟังสวมบทบาทเป็นนักการเมืองที่กำลังจะลงสมัครรับเลือกตั้ง แล้วตั้งคำถามว่า “คุณจะกลัวคู่แข่งที่มีเครื่องมือแบบใดมากที่สุด” ระหว่าง ก. การซื้อเสียง ข. การคุมกลไกราชการ หรือ ค. การมีทีมไอโอที่แข็งแกร่ง โดยพบว่า ในห้องเสวนาส่วนใหญ่เลือกข้อ ค. การมีทีมไอโอที่แข็งแกร่ง สะท้อนให้เห็นว่า ในยุคข้อมูลล้นโลก สิ่งที่น่ากลัวไม่ใช่แค่เงินหรืออำนาจรัฐ แต่คือการทำลายความเชื่อที่ประชาชนมีต่อนักการเมืองและระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองจะอยู่รอดไม่ได้หากไม่มีความเชื่อมั่นจากประชาชน เพราะสิ่งนี้ได้มายาก แต่สูญเสียได้ง่ายที่สุด

พรรณิการ์ อ้างถึงสมการ Trust Equation ที่เป็นผลรวมขององค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ความน่าเชื่อถือ (Credibility), ความเสมอต้นเสมอปลาย (Reliability) และ ความใกล้ชิด (Intimacy) หารด้วย ความมุ่งเน้นตัวเอง (Self-orientation) โดยชี้ว่ากระบวนการ Disinformation มักพุ่งเป้าโจมตีไปที่ Credibility ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของความไว้ใจ

หวั่นการลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักการเมือง

ยกตัวอย่างถึงพรรคอนาคตใหม่ที่เคยถูกกล่าวหาว่า “ล้มเจ้า” พรรคก้าวไกลถูกใส่ร้ายว่า “มีนโยบายตัดบำนาญข้าราชการ” ขณะที่พรรคประชาชนล่าสุด ก็ถูกบิดเบือนว่า “จะให้บัตรประชาชนคนเมียนมา” ซึ่งทั้งหมดเป็นเรื่องไม่จริง แต่เพียงข้อกล่าวหาเท็จเพียงหนึ่ง ก็สามารถทำลายความเชื่อมั่นที่สั่งสมมายาวนานได้ในพริบตา โดยยังเตือนถึงรูปแบบ Disinformation ที่รุนแรงกว่านั้น คือการลดทอนความเป็นมนุษย์ของนักการเมือง เช่น การใส่ร้ายป้ายสีด้วยถ้อยคำเหยียดเพศ เหยียดชาติพันธุ์ จนทำให้สังคมไม่รู้สึกเห็นอกเห็นใจอีกต่อไป

โฆษกคณะก้าวหน้า ยังยกตัวอย่างกรณีของอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เคยถูกเรียกว่า “หญิงขายชาติ” คือ การใช้อัตลักษณ์ทางเพศมาลดทอนคุณค่าอย่างไร้เหตุผล หรือกรณีล่าสุดของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ตกเป็นเป้าข้อครหาถึงกรณีคลิปเสียงหลุด ล้วนสะท้อนการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ผ่านวาทกรรมเกลียดชัง ซึ่งอาจปูทางไปสู่ความชอบธรรมในการใช้วิธีนอกระบบ เช่น รัฐประหาร หรือการใช้กลไกทางตุลาการในการสั่งปลดออกจากตำแหน่ง

“ถ้าคุณแพทองธารถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ คนจำนวนมากอาจไม่รู้สึกว่าเกิดอะไรผิดปกติ ทั้งที่นี่คือนิติสงครามชัด ๆ เพราะภายในเวลาไม่ถึงปี เราอาจมีนายกฯ จากการเลือกตั้ง 2 คน คือ คุณเศรษฐา และคุณแพทองธาร ถูกปลดด้วยข้อหาเดียวกันว่า ไม่ซื่อสัตย์สุจริตอย่างเป็นที่ประจักษ์ นี่คืออันตรายของ Disinfomation ที่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน จนไม่เหลือแม้แต่ความเห็นอกเห็นใจ”

พรรณิการ์ วานิช

‘ชาตินิยม’ กับ เครื่องมือทางการเมือง

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ พรรณิการ์ ชี้คือ การใช้กระแสชาตินิยมเป็นเครื่องมือทางการเมือง โดยยกตัวอย่างกรณีความตึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชา ซึ่งถูกกระตุ้นผ่านข่าวลือและคลิปที่ไม่มีใครตรวจสอบ แต่ประชาชนเชื่อทันที เพราะชาตินิยมเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหว ดรามา และน่าเร้าใจ และเมื่อใดก็ตามที่กระแสชาตินิยมพุ่งสูง ประชาชนมักเรียกร้องผู้นำแบบเด็ดขาด เป็นผู้นำทหารที่ใช้กำลัง มากกว่าจะรักษาระบบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่าทั้งในไทยและทั่วโลก

พรรณิการ์ ยังชี้ว่า ทุกคนต่างมองเห็นตัวอย่างชัดเจนที่สุดจากกรณีความตึงเครียดกับกัมพูชา แค่ผู้นำอย่างฮุนเซนออกมาพูดว่าจะมีคลิป คนไทยจำนวนมากก็เชื่อทันที ทั้งที่ไม่มีใครยืนยันได้ว่าคลิปเหล่านั้นมีอยู่จริงหรือไม่ สิ่งที่น่ากลัวคือ การปลุกกระแสแบบนี้ไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับฮุนเซน แต่ยังเข้าทางกลุ่มที่ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลประชาธิปไตย พวกเขาต้องการใช้วิธีนอกระบบ เช่น รัฐประหาร เพื่อจัดการกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งยังเชื่อว่า วันนี้หลงอยู่ในวาทกรรมรักชาติ ปกป้องแผ่นดิน และคล้อยตามกระแสโดยไม่ตั้งคำถาม อย่าลืมว่า ขณะนี้ไม่ใช่แค่การเมืองภายในประเทศที่ใช้การ Discredit (ทำลายความเชื่อถือ) แต่เรากำลังเห็นผู้นำประเทศ ใช้ความชาตินิยมและอารมณ์ความเกลียดชัง เพื่อทำลายผู้นำของประเทศเพื่อนบ้านด้วยเช่นกัน

“เวลาเขาพูดกันว่าทันทีที่กระสุนปืนดังขึ้น สิ่งแรกที่ตายคือความจริง”

พรรณิการ์ วานิช

ย้ำบทบาท ‘สื่อ’ สร้างภูมิคุ้มกัน รับมือข่าว-ข้อมูลบิดเบือน

พรรณิการ์ ยังมองว่า วิธีที่ดีที่สุดในการรับมือกับ Disinformation ไม่ใช่การให้รัฐมาเป็นผู้กำหนดว่าอะไรคือความจริง แต่คือการสร้างภูมิคุ้มกันทางปัญญาให้ประชาชน ผ่านหน่วยงานที่เป็นกลาง เช่น องค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงแบบ AFP Fact Check หรือการมีสื่อสาธารณะที่เชื่อถือได้ และประชาชนก็มีสิทธิจะตั้งคำถามได้อย่างเสรี หากหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ชี้ขาดว่าอะไรคือข่าวจริง อะไรคือข่าวปลอม ข้อมูลที่ได้รับนั้นจะน่าเชื่อถือเพียงใด พร้อมทั้งหวังว่า ไทยพีบีเอสจะเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมสร้างกลไกกลางในการตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างโปร่งใสและได้รับความเชื่อถือจากทุกฝ่าย

ที่สำคัญที่สุด ต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่รัฐเป็นผู้กำหนดความจริงแต่เพียงผู้เดียว เพราะนั่นอาจทำให้หลงไปในกระแสชาตินิยมหรือการดิสเครดิตทางการเมือง จนมองไม่เห็นความเป็นมนุษย์ของกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง พรรคการเมือง หรือแม้แต่ประเทศเพื่อนบ้าน

ทิ้งท้าย พรรณิการ์ ยังฝากไว้ว่า ทุกคนคือประชาชนที่มีสิทธิ์ในการใช้วิจารณญาณ มีเสียงที่ทรงพลังในการดึงสติให้สังคมไม่ตกเป็นเหยื่อของ Misinformation และ Disinformation ไม่ว่าจะมาจากภายในประเทศ หรือจากภายนอกก็ตาม

“ประชาชนต้องมีสิทธิ์ตรวจสอบ และมีอำนาจในการตัดสินใจด้วยข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ให้รัฐเป็นผู้ตัดสินความจริงแทน”

พรรณิการ์ วานิช

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active