ย้ำ ‘เจรจาสันติภาพ’ แนวทางยุติขัดแย้งยั่งยืนที่สุด จี้ถาม รัฐบาล-เพื่อไทย อย่าปล่อยคนชายแดนใต้สิ้นหวัง

นักสันติวิธี ชี้ข้อสังเกต PEACE SURVEY ประชาชนชายแดนใต้ มองไม่เห็นความก้าวหน้าการพูดคุยสันติภาพ ทั้งมีความหวัง เชื่อมั่น และสนับสนุน ขณะที่ ข้อค้นพบทั่วโลก ย้ำชัด สันติภาพ แนวทางแก้ขัดแย้งที่รากเหง้า ชี้เงื่อนไขตัวป่วน ทำการพูดคุยสะดุด ขณะที่ ภาคประชาสังคม ขอเป็นข้อกลาง เชื่อมการพูดคุยทุกฝ่าย หวังสันติภาพเป็นจริง

ในเวที Policy Forum “ประชาชนอยู่ตรงไหน ในสมการสันติภาพ” ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล พูดเปิดประเด็น โดยยกกรณีศึกษาจาก ผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสัติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ (PEACE SURVEY) ซึ่งผ่านมาแล้วทั้งสิ้น 7 ครั้ง ค้นพบว่า ในช่วงแรก ๆ ที่ทำการสำรวจ ผู้คนในพื้นที่ไม่มีความไว้วางใจ และไม่ค่อยมีใครอยากตอบคำถาม แต่เมื่อสำรวจผ่านมาหลายครั้ง ผู้คนกล้าตอบคำถามมากขึ้น แล้วก็มีคำถามกลับมา ว่า การพูดคุยสันติภาพนั้นเกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คน ทั้งคนในพื้นที่ นอกพื้นที่ มีคนเจ็บ คนตาย จำนวนมาก พวกเขาจึงควรมีสิทธิ์ได้สะท้อนความต้องการที่ชัดเจนต่อกระบวนการสันติภาพ บางคนพูดในฐานะของเหยื่อความรุนแรง จึงอยากให้เสียงของพวกเขามีความสำคัญ

“ทุกครั้งที่สำรวจผู้คน มีข้อเสนอลดความรุนแรง ขอเรื่องการพูดคุยสันติภาพ ครั้งแรก ๆ อาจไม่เชื่อมั่น แต่ผ่าน ๆ มา ก็เริ่มเห็นพัฒนาการ โดยเฉพาะการสนับสนุนการพูดคุย ขอให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมกับการพูดคุย จนในครั้งที่ 7 ของการสำรวจ มีข้อเสนอที่อยากให้มีกฎหมายรองรับกระบวนการพูดคุย ซึ่งทั้ง 7 ครั้ง สะท้อน ว่า ผู้คนหนุนกระบวนการพูดคุย ส่วนจะเชื่อมั่นไหม ก็ต้องค่อย ๆ ขยับไป นอกจาก นั้นยังมองเห็นความหวัง และอยากให้การพูดคุยมีความก้าวหน้า หากดูจากกราฟจะเห็นว่า ในการสำรวจทุกครั้งสีจะขยายออกไปตลอด นั่นคือ การสนับสนุนกระบวนการพูดคุย ที่มีเพิ่มขึ้นตลอด ความหวังของผู้คนต่อสันติภาพ เพิ่มสูงขึ้น ความเชื่อมั่นในกระบวนการพูดคุย เพิ่มสูงขึ้น แต่ที่น่าสนใจคือ สัดส่วนความก้าวหน้าของการพูดคุย แทบไม่มีเลย เพราะช้ามาก อัตราความก้าวหน้าแทบไม่มีเลย”

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์

ผศ.พัทธ์ธีรา นาคอุไรรัตน์ รักษาการแทนรองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล

ผศ.พัทธ์ธีรา ยังระบุถึงการตั้งคำถามว่าใครมีอำนาจตัดสินใจแท้จริง ใครคือตัวจริงตัวปลอมในกระบวนการพูดคุย ซึ่งพบว่า ทางฝ่ายขบวนการ ก็ถามกลับมาเช่นกันว่า ฝ่ายไทยใครมีอำนาจตัดสินใจ ช่วยเอาคนตัวจริงมาคุยกับเขาได้ไหม ในขณะที่ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งเงื่อนไขซึ่งกันและกัน แต่สิ่งสำคัญที่ต้องไม่ลืมคือ ในขณะนี้ทั้ง 2 ฝ่ายสร้างเงื่อนไขกันอยู่ แล้วหยุดพูดคุยกัน แต่กลับเอาประชาชนเป็นตัวประกันอยู่หรือไม่ ซึ่งการจัดทำ PEACE SURVEY 7 ครั้งที่ผ่านมา นอกจากข้อเสนอยุติความรุนแรง หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน ในช่วงหลัง ๆ มีที่เสนอเพิ่มขึ้นมา ว่า ประชาชนเริ่มเบื่อ กับการที่ทั้ง 2 ฝ่ายตั้งแง่กันแบบนี้ เมื่อไรจะคุยกัน เพราะประชาชนอยากมีชีวิตดี ๆ สักที  

ซูกริฟฟี ลาเตะ ที่ปรึกษาประธาน The Patani ฝ่ายการเมืองและสันติภาพ ให้ความเห็น โดยยอมรับว่า การทำสำรวจอย่าง PEACE SURVEY ในพื้นที่ขัดแย้งนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ยากมาก เพราะประชาชนไม่เชื่อมั่นรัฐ อยู่ในความหวาดกลัว เหตุการณ์ความรุนแรงทำให้เสียงของผู้คนที่ออกมาพูดความต้องการในสภาวะที่มีความขัดแย้งทำได้ยากมาก การทำสำรวจ จึงต้องใช้ความพยายาม 

ดังนั้นการคาดหวังกระบวนการสันติภาพ และการพูดคุย ต้องทำให้กระบวนการเดินไปข้างหน้า เพราะเป็นปัจจัยที่ทำให้ประชาชนเชื่อมั่น และศรัทธา แต่การจะบอกได้ว่าก้าวหน้าหรือไม่นั้น จริง ๆ แล้ว อยู่เหนือการควบคุมของประชาชน แต่เป็นสิ่งที่ภาครัฐ และ ฝ่ายขบวนการฯ ต้องร่วมกันผลักดัน ว่าจะทำให้กระบวนการเดินไปทางไหน

ซูกริฟฟี ลาเตะ ที่ปรึกษาประธาน The Patani ฝ่ายการเมืองและสันติภาพ

ขณะเดียวกันยังมองว่า หากจะพูดถึงกระบวนการสันติภาพ ก็คงหนีเรื่องประชาธิปไตยไม่ได้ ซึ่งการแสดงออกตลอด 20 ปีมานี้ มีผลต่อการส่งเสียงความหวาดกลัว เพราะในพื้นที่ประชาชนที่ต้องการส่งเสี่ยงถูกคุกคาม ถูกดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมบ้าน ดังนั้นหากอยากให้สันติภาพเดินต่อได้ รัฐบาลต้องให้ความสำคัญเรื่องประชาธิปไตย และสิทธิเสรีภาพการแสดงออกด้วย

พูดคุยกับใครก็ได้ให้เหตุการณ์รุนแรงลดลง

สอดคล้องกับ ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ มองว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ผู้คนในพื้นที่ชายแดนใต้ มีความหวังเสมอกับกระบวนการสันติภาพ เพราะเป็นความหวังเดียวที่จะหยุดความรุนแรง ช่วงแรก ๆ ก็ไม่ค่อยหนุนการพูดคุย ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอม แต่ช่วงหลังขอให้คุยกับใครก็ได้เพื่อทำให้สถานการณ์สงบลง

สำหรับความเห็นของชาวพุทธในพื้นที่ส่วนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการพูดคุย เพราะมองว่า ชาวพุทธเสียเปรียบ คิดว่าผลประโยชน์จากการพูดคุยตกอยู่กับแค่ชาวมลายูมุสลิม คนอื่นเสียเปรียบหมด ชาวพุทธจึงไม่ค่อยสนับสนุน แต่ 3 เดือนที่ผ่านมาคนพุทธ เริ่มรู้สึกไม่ไหวแล้ว และอยากให้กระบวนการพูดคุยเกิดขึ้นจริง ๆ สักที

“จากปี 2566 ที่มี JCPP ถือเป็นความก้าวหน้าของกระบวนการพูดคุยที่เป็นขั้นตอน มีแผนปฏิบัติการร่วม ทำให้เรามีความหวัง ขนาดรัฐบาลทหารยังหนุนการพูดคุยสันติภาพ เราก็ยิ่งมีความหวังมากขึ้นกับรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ปรากฎว่า รัฐบาลจากการเลือกตั้งทำให้เราผิดหวังมาก ไม่มีการตั้งตัวแทนฝ่ายไทยที่ชัดเจน ทั้ง ๆ ที่ เขาก็เตรียมคนฝ่ายเขามาแล้ว ถ้าอยากจะให้ก้าวหน้าก็ต้องดำเนินการ พูดคุยต่อ” 

ลม้าย มานะการ

ธิดา วรรณลักษณ์ ประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนใต้

ธิดา วรรณลักษณ์ ประธานชมรมพุทธรักษาจังหวัดชายแดนใต้ ก็มองว่า การพูดคุยสันติภาพทุกคนต้องการ แต่ถามว่าทางฝ่ายของรัฐบาลไทย และฝ่ายขบวนการฯ ต้องการแค่ไหน เนื่องจากมีเสียงสะท้อนจากชาวพุทธที่คิดว่า ต่างฝ่ายต่างก็มีธงเป็นของตัวเอง แล้วก็ไม่มีใครยอมถอยในสิ่งที่ตัวเองตั้งเอาไว้ ถ้าเป็นแบบนี้แล้วประชาชนจะอยู่อย่างไร 

“ที่ผ่านมาพัฒนาการความรู้สึกของผู้คนในพื้นที่อาจดีขึ้นมาเรื่อย ๆ ตั้งแต่ช่วงโควิด เราเห็นคนพุทธ คนมุสลิม เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน มีเยื่อใยกัน สถานการณ์ตรงนั้นเริ่มดีขึ้น ทุกอย่างเหมือนคลี่คลาย ทำให้ทัศนคติ ความหวาดระแวงถูกวางลงไป แต่พอตั้งแต่ต้นปี มาถึงเดือนเมษายน ทุกอย่างถูกทำลายโดยสิ้นเชิง แล้วเราจะมีกระบวนการพูดคุยบนซากศพรึเปล่า”

ธิดา วรรณลักษณ์

‘เจรจาสันติภาพ’ แนวทางหยุดความรุนแรงที่ยั่งยืน

ขณะที่ ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุถึงความเห็นที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ช่วงที่เกิดสถานการณ์ความรุนแรงในชายแดนใต้ ซึ่งมีชุดความคิดของผู้คนที่ ไม่อยากให้เกิดการพูดคุย เจรจา อยากให้ปราบปราม อยากให้ใช้ความรุนแรง และเรื่องหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามถึงกระบวนการสันติภาพ คือ “จะไปคุยกับโจรทำไม ?” จึงพยายามศึกษาค้นหางานวิชาการ เพื่อหาคำตอบว่า จริง ๆ แล้วกระบวนการสันติภาพทั่วโลก เขาไปคุยกันกับใคร

โดยมีงานวิจัย โครงการศึกษาวิจัยการหาข้อยุติทางการเมือง จากมหาวิทยาลัยเอดินเบิร์ก ทำฐานข้อมูลกระบวนการเจรจาสันติภาพทั่วโลก 1,500 กรณี ตั้งแต่ปี 1990 เป็นต้นมา ซึ่งหากข้อมูลนี้ถูก ก็มีข้อสรุป ว่า การเจรจากระบวนการสันติภาพเป็นหนึ่งในแนวทางยุติความขัดแย้งที่ยั่งยืน และใช้กันแพร่หลายที่สุดในโลก ทำไมถึงยั่งยืน เพราะไปคุยกันเรื่องรากเหง้าปัญหากันตั้งแต่แรก ว่า ทำไม ? ต้องจับปืนขึ้นสู้ ทำไม ? ฝ่ายหนึ่ง ให้อย่างที่อีกฝ่ายต้องการไม่ได้ แล้วประชาชนจะอยู่ตรงไหนของกระบวนการนี้ ซึ่งพบว่า มีแต่กระบวนการสันติภาพ และการพูดคุยเท่านั้นที่ทำแบบนี้ได้ โดยที่การปราบปรามทำแบบนี้ไม่ได้

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์ อาจารย์สาขาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เจรจาสันติภาพ พูดคุยกับโจร ?

นอกจากนั้นยังพบข้อมูลการศึกษาล่าสุด ในปี 2566 จากสำนักวิชาวัฒนธรรมแห่งสันติ มหาวิทยาลัยประจำเขตปกครองตนเองแห่งบาร์เซโลนา ที่ได้ศึกษากระบวนการเจรจาสันติภาพ พบว่า ในปี 2566 มีกระบวนการเจรจา กระบวนการสันติภาพทั่วโลก 45 กรณี มากที่สุด เกิดขึ้นที่แอฟริกา 18 กรณี ในเอเชีย แปซิฟิก 10 กรณี ซึ่งในปี 2566 ถือเป็นเทรนด์ที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากปีก่อนหน้านั้น อย่างในปี 2564 มีกระบวนการเจรจาสันติภาพทั่วโลก 37 กรณี ปี 2565 มีการเจรจา 39 กรณี

“จากข้อสังเกตที่ได้ พบว่า การพูดคุย จะคุยกับใคร ถ้าไม่คุยกับโจร โดย 45 กรณี ไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นความขัดแย้งภายในรัฐ บางกรณีเป็นกรณีความขัดแย้งระห่างรัฐ กรณีความขัดแย้งภายในรัฐส่วนใหญ่ 28 จาก 45 กรณี คิดเป็น 62% เป็นการพูดคุยโดยรัฐเป็นคู่เจรจาสำคัญ เป็นการคุยกับขบวนการติดอาวุธ จึงสามารถตอบคำถาม ว่า การเจรจาสันติภาพ ส่วนใหญ่ก็ต้องคุยกับโจร” 

ชญานิษฐ์ พูลยรัตน์

แต่จะคุยกับโจรเพียงลำพังหรือไม่นั้น ชญานิษฐ์ อธิบายเพิ่มว่า หลายกรณีไม่ได้คุยกับกลุ่มขบวนการติดอาวุธเพียงขบวนการเดียว อย่างที่ โคลัมเบีย ในี 2566 มีการพูดคุยกับ ขบวนการติดอาวุธถึง 3 กลุ่ม ในฟิลิปปินส์ ก็คุยกับหลายขบวนการ ซึ่งบทเรียนจากที่อื่น ๆ ทั่วโลก ย้ำชัดว่าต้องเดินหน้าพูดคุยให้ได้

ขณะเดียวกันยังพบข้อสังเกตอีกว่า ความรุนแรง มีความสำคัญต่อการเจรจาสันติภาพทั่วโลกจริง หมายความว่า การเจรจาจำนวนมากสะดุด หยุดลง ถ้าความรุนแรงเพิ่มขึ้น เช่นกันไม่จำเป็นต้องหยุดยิงก่อนจึงจะพูดคุยกันก็ได้

ส่วนวาระอื่น ๆ อย่าง การลดอาวุธ การถอนกำลัง การคืนผู้ติดอาวุธสู่สังคม ก็เกิดขึ้นทั่วโลกไม่ใช่เฉพาะชายแดนใต้ ขณะที่ความรุนแรงขัดแย้งในรัฐจำนวนมาก ปะเด็นสำคัญ คือ การคุยถึงรูปแบบการบริหารการปกครอง 

มองเงื่อนไข ทำเจรจาสันติภาพสะดุด!

แล้วอะไร ? จะทำให้กระบวนการเจรจาสะดุดลงโดยสิ้นเชิง ชญานิษฐ์ พบว่า

  1. การแบ่งขั้วแยกข้างทางการเมือง เป็นปัจจัยสำคัญ ต่อกระบวนการสันติภาพทั่วโลก 

  2. การเพิ่มขึ้นของการเข้ายึดกุมอำนาจนำในทางทหาร ที่บั่นทอนกระบวนการสันติภาพให้น้อยลง เรื่องตัวจริงตัวปลอมจึงอาจไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่คือคำถามรองจากกระบวนทัศน์ และยุทธศาสตร์หลักที่ต้องเลือก ถ้ามีการเจรจา กับการปราบปราม หากเลือกการเจรจา ก็ต้องไม่บอกว่า หาตัวจริงไม่เจอ แล้วไม่เจรจา หรือหาตัวจริงไม่เจอ แล้วใช้วิธีการปราบปราม ซึ่งบทสนทนา บอกว่า คุยมาตั้งนานความรุนแรงไม่ยอมลดลงเลย แต่ก็ต้องบอกว่า การปราบปรามมาก่อนหน้านั้น ก็ไม่ช่วยแก้ปัญหาเช่นกัน 

  3. ผู้ขัดขวางกระบวนการพูดคุย หรือ ตัวป่วนในกระบวนการพูดคุยสันติภาพ มีได้มากมายหรืออาจจะเยอะกว่ากลุ่มผู้ติดอาวุธด้วยซ้ำ 

  4. กระบวนการสันติภาพ การเจรจา ยั่งยืนไม่ได้ถ้าไม่ครอบคลุมผู้คนหลากหลายกลุ่ม ที่ไม่ใช่แค่รัฐ และ กลุ่มขบวนการ แต่ต้องมีประชาชนทุกกลุ่มทุกศาสนา ความเชื่อ กลุ่มเปราะบางต่าง ๆ รวมอยู่ด้วย
ฟาอิก กรระสี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร

เด็ก เยาวชน ขอเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการเจรจาสันติภาพ

ฟาอิก กรระสี ที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญสันติภาพชายแดนใต้ สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคำถามว่า ความขัดแย้งรุนแรงในชายแดนใต้เกิดขึ้นมาชั่วอายุคน ในฐานะเด็ก เยาวชนคนรุ่นใหม่ จะต้องรับมรดกน้ีไปอีกนานแค่ไหน ? ทั้ง ๆ ที่เด็ก เยาวชน ในชายแดนใต้ มีมากถึงกว่า 40% ซึ่งถือว่าไม่ใช่คนส่วนน้อย ช่วยตอกย้ำว่า ในกระบวนการสันติภาพ ก็จำเป็นต้องมีเด็ก เยาวชน อยู่ในนั้นด้วย แต่ตอนนี้พวกเขาอยู่ตรงไหน เพราะพวกวเขากำลังตกเป็นเหยื่อ ได้รับผลกระทบ เยาวชนนอกระบบ ไม่มีงานทำ เลยเถิดไปสู่การจับอาวุธ ในทุกความซับซ้อน ความรุนแรงมีเด็ก เยาวชน แทรกซึมอยู่

“เด็ก เยาวชนที่ชายแดนใต้ ถูกปิดกั้น พวกเขาอยากต่อสู้เพื่อพื้นที่ของเขา อยากสร้างสังคมใหม่ อยากมีพื้นที่ดี ๆ อย่างใน อ.หาดใหญ่ เวลาได้ไปพวกเขาดีใจมากที่ขับรถแล้ว ไม่ต้องเจอเจ้าหน้าที่ตรวจบัตรประชาชน หลายคนได้รับผลกระทบจากความไม่ปกติ ที่กลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว”

ฟาอิก กรระสี

ลม้าย มานะการ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้

ขณะที่ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ยังสะท้อนมุมมองเพิ่มเติม โดยตั้งข้อสังเกต ว่า นายกฯ อันวาร์ ของมาเลเซีย มีความสนิทสนม กับ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถึงขั้นแต่งตั้งเป็นที่ปรึกษา จึงเชื่อว่า ทักษิณ น่าจะมีอำนาจ บารมีมากพอ และอีกอย่างลูกสาว ซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรี ก็ต้องทำตามคำแนะนำของพ่อ แล้วเพราะอะไร เรื่องการเดินหน้าสันติภาพชายแดนใต้ จึงคุยกันไม่ได้ ถ้าทำตรงนี้สำเร็จอาจถือเป็นโปรเจกต์ใหญ่มากที่จะทำให้ทั่วโลกยอมรับ

ย้ำ ประชาสังคมชายแดนใต้ ข้อกลาง เชื่อมพูดคุยทุกฝ่าย

และหากถามว่าประชาชนอยู่ตรงไหนในกระบวนการสันติภาพ ประธานสภาประชาสังคมชายแดนใต้ ย้ำว่า อยู่ทุกที่ อยู่เป็นโซ่ข้อกลางให้กับทุกกลุ่ม เชื่อมระหว่างพี่น้องประชาชนที่ไม่กล้าส่งเสียง ไปยังรัฐบาล ว่าต้องการสันติภาพจากการพูดคุย ในฐานะตัวแทนชาวพุทธ เราก็ไปมาเลเซีย ไปพูดคุยกับผู้นำมาราปาตานี พลูโล ผู้นำบีอาร์เอ็น จึงทำให้ทราบว่าทั้ง 3 กลุ่ม ต้องการการพูดคุยทั้งนั้น จึงยืนยันว่า แม้ประชาชนไม่ใช่ตัวแปรสำคัญในการพูดคุย แต่เราก็เป็นตัวแปรที่มีปัจจัยต่อการพูดคุยได้เหมือนกัน เราก็อยากให้พูดคุยโดยเร็ว การพูดคุยเป็นขั้นตอนสำคัญ ซึ่งสภาประชาสังคมฯ ยินดี เป็นตัวกลางสื่อสารให้จากโต๊ะเจรจาสันติภาพ เราอยากเป็นคณะติดตามที่รัฐบาลตั้งอย่างเป็นทางการ

ถึงตรงนี้แม้จะเห็นพ้องกันว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพนั้นสำคัญ แต่สำหรับ ชญานิษฐ์ แล้วเชื่อว่า ทุกคนมีความเห็นต่างกันได้ ซึ่ง เป็นประเด็นที่ ศ.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ พูดอยู่เสนอ ว่า การขับเคลื่อนนโยบาย การแก้ปัญหาความรุนแรง ควรอยู่บนข้อเท็จจริง คนส่วนใหญ่เข้าใจคนชายแดนใต้ จากความรู้สึก มากกว่าข้อเท็จจริง จึงอยากให้เอาข้อมูลสถิติมาแลกเปลี่ยนกัน เห็นต่างได้ แต่ควรเห็นต่างด้วยข้อมูล ไม่ใช่เห็นว่าคนที่พูดเรื่องสันติภาพ เป็นแนวร่วม เป็นขบวนการ  

ชญานิษฐ์ ยังเรียกร้องถึงฝ่ายนโยบาย ทั้งรัฐบาล และพรรคเพื่อไทย ที่พยายามผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ไม่ใช่แค่กางเกงช้าง ไม่ใช่ทุเรียน แต่คิดว่า ถ้ารัฐบาล และพรรคเพื่อไทย สนใจและมีความสามารถลดทอน ความรุนแรงในชายแดนใต้ลงได้ น่าจะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ ที่สำคัญที่สุดที่อยากผลักดัน

“คุณทักษิณไปที่ชายแดนใต้ พูดเอาไว้ว่าความรุนแรงจะยุติเร็ว แต่วิธีการตอนนี้ มีทั้งข้อมูลเชิงปริมาณ เชิงคุณภาพ ว่า การไม่ใช้ความรุนแรง สำคัญแค่ไหนสำหรับคนในพื้นที่ จึงอยากชี้ชวนให้ผู้คนในสังคมไทย ที่เป็นผู้เสียภาษีลงไปใช้แก้ปัญหาในชายแดนใต้ อยากให้ใช้ความรู้สึกบ้าง อยากให้เอาใจเขามาใส่ใจเราให้มากขึ้น”

เช่นเดียวกับ ซูกริฟฟี ที่เชื่อว่า สันติภาพไม่ใช่แค่การพูดคุย แต่ต้องอาศัยปัจจัยทางการเมือง การเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง จะส่งผลต่อกระบวนการสันติภาพทั้งหมด โดยข้อเสนอภาคประชาสังคม เห็นว่า ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลต้องมีเจตนำนงที่ชัดเจน ว่า เมื่อไรจะก้าวพ้นความขัดแย้ง ถึงเวลาที่รัฐบาลเพื่อไทยต้องตอบคำถาม ในช่วงที่ประชาชนกำลังจะหมดความหวัง ก็คาดหวังว่ารัฐบาลเพื่อไทยจะให้ความสำคัญกับสันติภาพที่ชายแดนใต้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active