แฉ! เรือกว่าครึ่งที่ถูกจับฐานลอบทำประมงเขตอุทยานฯ มาจากนอกเขต

ภาคประชาชนจังหวัดสตูล ชี้ หยุดอ้างไม่มีพื้นที่จับปลา ย้ำของกลางสัตว์น้ำที่จับได้ รวมมากกว่า 300,000 กิโลกรัม หากเป็นเรือเล็กหรือประมงพื้นบ้าน 1 ลำ อาจต้องใช้เวลาถึงร้อยปี ในการจับ

จากกรณี เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เข้าจับเรือประมงอวนลาก ที่ลักลอบทำประมงในพื้นที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ได้ 27 ลำ โดยกรณีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจาก การลงพื้นที่ติดตามปัญหาข้อพิพาทที่ดินเกาะหลีเป๊ะ ของ พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. เมื่อช่วงปลายเดือนก่อน และตรวจสอบพบเรือประมงขนาดใหญ่ลากอวนทำการประมงอยู่ในทะเลใกล้เกาะหลีเป๊ะ ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะตะรุเตา ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศและความหลากหลายของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล จึงได้มอบหมายให้ กรมประมง และกรมอุทยานฯ ตรวจสอบเรื่องนี้ จนมาสู่การจับกุมเรือดังกล่าว 

ทั้งนี้เรือประมงพาณิชย์ทั้ง 27 ลำ มีขนาด ระหว่าง 40-113 ตันกรอสส์ จากการตรวจสอบด้วยข้อมูลในระบบติดตามเรือประมง หรือ VMS ในช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่แล้ว จนถึงช่วงมกราคมปีนี้ พบเส้นทางของเรือทั้ง 27 ลำนี้ ส่วนใหญ่มีจุดทำประมงอยู่ในพื้นที่เขตอุทยานฯ แห่งชาติตะรุเตา ถือเป็น การกระทำผิดตาม พ.ร.บ.อุทยานฯ ปี 2562 ในหลายข้อหา

หลังเหตุการณ์นี้ ทางสมาคมประมงจังหวัดสตูล ได้ยื่นหนังสือถึง ผู้ว่าราชการจังหวัด ทันทีเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ พร้อมระบุเหตุผลสำคัญ เนื่องจากจังหวัดสตูล ส่วนใหญ่เป็นเกาะ แทบไม่เหลือพื้นที่ทำประมง โดยเรือประมงทั้ง 27 ลำ ขาดเจตนาทำประมงในเขตอุทยานฯ ซึ่งถือว่ามีโทษสูง ถึงขั้นริบเรือ จึงอยากให้ทางจังหวัดอนุเคราะห์ และหาวิธีช่วยเหลือเรือประมงทั้ง 27 ลำ ให้ได้ทำประมงกันต่อไป

ล่าสุด สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จังหวัดสตูล ในฐานะอดีตกรรมการประมงจังหวัดสตูล โพสเฟซบุ๊ก ส่วนตัว ระบุข้อสังเกตต่อกรณีที่  “นายกสมาคมประมงจังหวัดสตูล” ออกมาปกป้องเรือประมงพาณิชย์ 27 ลำ ที่ถูกจับในเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ตามหนังสือที่ได้ยื่นถึงผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 โดยมีใจความสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1. มองว่าการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเกาะตะรุเตา ได้มีการนำพื้นที่ของกรมราชทันฑ์ในยุคที่มีการใช้เกาะตะรุเตาเป็นเรือนจำกักขังนักโทษ  โดยการกำหนดเขตทะเลเพื่อป้องกันการหลบหนีของนักโทษ เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเขตอุทยานฯตะรุเตา ที่ประกาศตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517 จนทำให้ชาวประมงในจังหวัดสตูลแทบไม่เหลือพื้นที่ทำการประมง

2. เหตุแห่งการจับเรือประมงพาณิชย์จำนวน 27 ลำ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมานั้น เกิดขึ้นเพราะ พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล นั่งเฮลิคอปเตอร์ ผ่านพื้นที่อุทยานฯตะรุเตาเมื่อปลายเดือนมกราคม 2566 

3. เรือประมงพาณิชย์ที่ถูกจับเหล่านั้นขาดเจตนา จนทำให้ต้องถูกจับ จึงขอความเห็นใจผ่านไปยังท่านผู้ว่าฯ ให้ช่วยหาวิธีการช่วยเหลือด้วย

กรณีดังกล่าว สมบูรณ์ มีข้อสังเกตที่จะสร้างความเข้าใจกับสาธารณชนและกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหลายคือ 1. การประกาศเขตอุทยานแห่งชาติ(ทางทะเล) มีเป้าหมายเพื่อต้องการปกป้องคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่สำคัญในพื้นที่นั้นๆ ดังนั้นการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติตะรุเตาจึงตั้งอยู่บนหลักการดังกล่าว นั่นหมายความว่า “รัฐ” ต้องการให้ประชาชนได้ร่วมกันปกป้องคุ้มครองและรักษาไว้ซึ่งแหล่งทรัพยากรสำคัญของพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้มีการใช้ประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่เพื่อใครบางคนบางกลุ่มเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้ อุทยานฯต้องออกมาชี้แจง

ทั้งนี้ ยังมีคำถามไปยังหัวอุทยานแห่งชาติตะรุเตา (ตั้งแต่อดีต – ปัจจุบัน) ว่า การจับเรือประมงพาณิยช์ทั้ง 27 ลำนั้น เป็นเพราะ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล นั่งเฮลิคอปเตอร์ผ่าน ตามคำที่นายกสมาคมประมงจังหวัดสตูลกล่าวอ้างหรือไม่ และหากเป็นเช่นนั้นจริง แสดงว่าอุทยานฯไม่เคยตรวจจับเช่นนี้มาก่อนเลยใช่หรือไม่

และขอถามไปยังนายกสมาคมประมงจังหวัดสตูลว่า เรือประมงพาณิชย์ที่ถูกจับทั้ง 27 ลำ เป็นสมาชิกของสมาคมฯใช่หรือไม่ และการที่อ้างว่าเขาขาดเจตนาที่จะทำผิดกฏหมายคืออะไร หมายถึงเรือเหล่านั้นไม่ทราบว่ามีเขตอุทยานฯ หรือไม่รู้ว่ามีกฏหมายห้ามการทำประมงในเขตดังกล่าวไว้ ทั้งที่ ระบบเทคโนโลยีสมัยนี้ก้าวหน้าไปมากแล้ว และสามารถที่จะแสดงภาพเขตการทำประมงในระบบคอมพิวเตอร์ได้ไม่ยาก 

“นายกสมาคมประมง ถึงขั้นร้องขอผู้ว่าฯ ให้ช่วยหาวิธีการช่วยเหลือเรือประมงพาณิชย์เหล่านั้น อย่าให้เรือต้องถูกริบ ซึ่งผมไม่แน่ใจว่าท่านผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล จะจัดการอย่างไรในเรื่องนี้ แม้ส่วนตัวจะเห็นใจผู้เป็นเจ้าของเรือทั้งหลาย ที่อาจจะถูกริบเรือจากฐานความผิดนี้ได้ แต่ท่านจะต้องแยกแยะให้ได้ว่าท่านจะยึดหลักอะไรในการดำเนินการในเรื่องนี้ “ 

สมบูรณ์ คำแหง เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนา จ.สตูล

พร้อมทั้งตั้งคำถามถึงนายกสมาคมประมงจังหวัดสตูล ว่าต้องไม่ลืมว่านายกสมาคมฯ เป็นบิดาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 จังหวัดสตูล แม้การใช้อำนาจหน้าที่ตามบทบาทดังกล่าวจะเป็นสิทธิที่พึงกระทำได้ หากแต่ต้องระวังการแสดงออกดังกล่าว เพราะกระทบต่อประชาชนชาวจังหวัดสตูลในภาพรวม ที่เขามีความรักหวงแหนทรัพยากรธรรมชาติของจังหวัดตนเอง และยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกด้วย ไม่เช่นนั้นพวกเขาจะคิดว่ากำลังใช้อำนาจแฝงทางการเมือง ไม่เคารพกฏหมาย และทำการกดดันฝ่ายราชการให้กระทำหรือไม่กระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง เพียงเพื่อปกป้องประโยชน์ของคนเฉพาะกลุ่มเท่านั้น โดยอยากเห็นนายกสมาคมประมงจังหวัดสตูลออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อเรื่องดังกล่าว พร้อมกับเตือนไปยังสมาชิกสมาคมฯที่กระทำความผิดมากกว่า

พร้อมกันนี้ ยังระบุข้อมูลเรือประมงพาณิชย์ที่ถูกจับทั้ง 27 ลำนั้น เกือบ 20 ลำ คือเรือจาก 3 สมุทร (ภาคกลาง) ที่ยกกันมาลักลอบจับทรัพยากรสัตว์น้ำในเขตทะเลจังหวัดสตูล และมีการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนไปจำนวนมาก ที่จับการทำความผิดได้ซึ่งหน้ามีของกลางที่เป็นสัตว์น้ำกว่า 3 แสนกิโลกรัม จึงอยากทราบว่าพร้อมที่จะเอาตัวเองไปปกป้องกลุ่มประมงเหล่านั้นด้วยใช่หรือไม่ (ซึ่งไม่ได้หมายความว่าจะกีดกันเรือต่างถิ่น แต่เรือต่างถิ่นต้องเคารพกฏหมายและเคารพคนในพื้นที่

จากการพูดคุยกับตัวแทนเครือข่ายประมงพื้นบ้านจังหวัดสตูล ระบุว่า หากจะจับปลาให้ได้เท่ากับปริมาณที่เรือใหญ่ซึ่งใช้เครื่องมือประสิทธิภาพสูงจับ 300,000 กิโลกรัม  เรือเล็กหรือประมงพื้นบ้าน 1 ลำ อาจต้องใช้เวลาถึงร้อยปี เพราะค่าเฉลี่ยปริมาณจับสัตว์น้ำของเรือประมงพื้นบ้าน 1 ลำ จับได้ 3 ตัน หรือ 3,000 กิโลกรัม ต่อ 1 ปี ย้ำว่าเป็นปริมาณต่อปี

ดังนั้น จึงอยากให้ทุกฝ่ายเคารพกติกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายและตรวจตราการทำประมงผิดกฎหมายอย่างเข้มงวดเพื่อให้มีทรัพยากรเพื่อใช้ประโยชน์ต่อลูกหลานในอนาคต 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active