“พรรคเส้นด้าย” ปฏิเสธแจกเงินประชานิยม “พรรคพลังธรรมใหม่” คงอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ลุยหาเสียงตลอดสงกรานต์ แม้กติกาเลือกตั้งใหม่ปิดประตูพรรคเล็ก แต่ไม่ถอย
สงกรานต์ปีนี้ มีหลายพรรคเล็กไม่ปล่อยให้เวลาสูญเปล่า ลงพื้นที่แจกใบปลิว ชูนโยบายเด่น สร้างภาพจำ เร่งหาเสียง The Active ชวนทำความรู้จักแนวคิด นโยบาย และการหาเสียงของ 2 พรรคเล็กอย่าง “พลังธรรมใหม่” และ “เส้นด้าย” ทั้ง 2 พรรค ยังมั่นใจกับการลงพื้นที่ของตัวเอง โดยเฉพาะ พรรคเส้นด้าย ที่ยืนยันว่า แม้จะเป็นพรรคเล็กแต่ก็มีต้นทุนทางการเมือง ทั้งบทบาทสำคัญที่เคยทำงานจากสถานการณ์โควิด-19 และมี สก. อยู่ในมือหลายเขต จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากมากนักที่จะได้เข้าไปนั่งในสภาฯ สัก 1-2 ที่นั่ง ขณะที่ พรรคพลังธรรมใหม่ ตั้งใจสานต่ออุดมการณ์ทางการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมอย่างเข้มข้น
พรรคพลังธรรมใหม่ ยืนหยัดอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม สู้ศึกเลือกตั้ง
พรรคพลังธรรมใหม่ นำทัพโดย นพ.ระวี มาศฉมาดล อดีต ส.ส. โดยมองว่าเป็นปกติที่พรรคเล็กจะกังวล เพราะมีข้อจำกัดมากกว่าพรรคใหญ่หลายเท่า โดยเฉพาะความเป็นไปได้น้อยที่จะเข้าไปนั่งในสภาฯ สิ่งที่พรรคเล็ก กำลังเผชิญปัญหาอยู่ในเวลานี้ คือ งบประมาณการทำป้ายหาเสียง รถแห่หาเสียง การระดมคนมาฟังปราศรัย ซึ่งทุกอย่างต้องใช้เงิน รวมถึงกติกาการเลือกตั้งที่แทบจะปิดประตูพรรคเล็กไปเลย
พรรคพลังธรรมใหม่ จึงคิดวิธีชูนโยบายเด่น สำหรับคนเฉพาะกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกมากขึ้น เช่น นโยบายการบรรจุศาสนาพุทธ เป็นศาสนาประจำชาติ และให้ไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนา เจาะกลุ่มคนจาก 40,000 วัดทั่วประเทศ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายด้านอื่นๆ อย่าง นโยบายหมอประจำตัวทั่วไทย คนไทยทุกคนจะมีหมอประจำตัวภายใน 4 ปี, นโยบายที่ดิน เตรียมออกโฉนดที่ดิน ทั่วประเทศ 1 ล้านแปลงภายใน 4 ปี, นโยบายเอาน้ำมันของเราคืนมาก โดยการตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ เอาน้ำมันคืนมา 5 แสนล้านบาท ต่อปี โดยสัมปทานใดครบอายุสัมปทานจะมอบให้บรรษัทพลังงานแห่งชาติ เข้าไปดูแลแทนคนไทยทั่วประเทศ กำไรแต่ละปีนำไปลดราคาพลังงาน, จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพอเพียงพิเศษ ทุกอำเภอ ภายใน 4 ปี, เกษตรกรหมดหนี้ โดยการออก พ.ร.บ.ชาวนา ชาวสวน ชาวไร่ ฯลฯ
โดยยืนยันว่า พรรคพลังธรรมใหม่ ไม่เหมือนพรรคอื่น เพราะการประกาศนโยบายจะต้องทำทันที ถ้าเป็นรัฐบาลจะต้องนำทั้ง 10 ข้อไปเจรจา พรรคได้ร่างกฎหมายไว้ทั้งหมดแล้ว
พรรคเส้นด้าย ปฏิเสธประชานิยม – ชูนโยบายเจาะลึกสู้การเมืองกระแสหลัก
คริส โปตระนันทน์ หัวหน้าพรรคเส้นด้าย อดีตผู้สมัคร ส.ส. เขตพญาไท พรรคอนาคตใหม่ ในการเลือกตั้งครั้งนี้ แยกออกมาตั้งพรรคเส้นด้าย หลังก่อตั้งกลุ่มเส้นด้ายมาช่วยเหลือประชาชนแก้ปัญหาคอขวดในช่วงการระบาดโควิด-19 เขามองว่าพรรคใหญ่ห่างไกลประชาชน พรรคเล็กจึงยังมีโอกาสชนะได้ โดยส่วนตัว คริส ทำงานในพื้นที่พญาไทมาครบ 4 ปี จึงค่อนข้างมั่นใจในการลงสมัครเลือกตั้งครั้งนี้ ทางพรรคส่ง ส.ส. 20 เขต มีตัวเต็งอยู่ในเขตราชเทวี, ปทุมวัน, สาทร, พญาไท-ดินแดง, จตุจักร-บางเขน ส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) ก็มีส่วนผสมของผู้สมัครที่ลงตัว คนหนึ่งเคยเป็น ตำรวจที่เผชิญเส้นสายมาตลอดชีวิต, นักธุรกิจรุ่นใหม่, และผู้พิพากษา ที่มีหัวใจอยากทำให้ระบบการทำงานของศาลไทยทำงานได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยส่วนตัวคริส มั่นใจว่าพรรคเส้นด้ายน่าจะมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 ล้านเสียง หรือประมาณ 5 คน ขณะที่ ส.ส.เขต ก็มีฐานเดิมอยู่แล้วเพราะมี สก.ในเขตราชเทวี จัตุจักร และวัฒนา
เหตุผลที่ผันตัวจากอาสา มาทำงานการเมืองเพราะมองว่าการมีเสียงเข้าไปพูดในสภาฯ ทำให้เสียงของเราดังขึ้น อย่างน้อยอยากยกระดับ ระบบสาธารณสุข กำจัดระบบเส้นสาย สร้างความเป็นธรรมทั้งในระบบเศรษฐกิจ และกระบวนการยุติธรรม และอยากส่งเสริมให้ประชาชนเข้มแข็งยืนได้ด้วยตัวเอง เชื่อว่า เราเป็นพรรคเดียวที่ประกาศว่าไม่ต้องการแจกเงินในทุกกรณีไม่ว่าจะเรียกว่าเบี้ย รัฐสวัสดิการ ดิจิทัล ไม่เอาประชานิยมเด็ดขาด ไม่ใช่การวางแผนระยะยาว… ถ้าประเทศไทยเป็นแบบนี้ประเทศไทยเติบโตต่อไปไม่ได้ สุดท้ายก็ไม่อยากแข่งขัน เพราะไม่มีความยุติธรรมในประเทศ เหมือนที่เด็กๆ เขามี #อยากย้ายประเทศหนี เราอยากทำให้ประเทศสวยงามอีกครั้ง อยากให้เขากลับมาช่วยพัฒนาประเทศ
คริส ย้ำว่า การทำงานด้านอาสาตนทำมาอยู่แล้วแม้จะไม่ได้เป็นนักการเมือง และบทพิสูจน์ตลอดหลายปีหลังบทเรียนโควิด-19 ก็ยิ่งทำให้เขามั่นใจว่าประชาชนไว้ใจ แต่ก็ยังต้องรอดูว่าจะต้านกระแสใหญ่ได้หรือไม่ แต่หลังจากลงพื้นที่มักจะได้ยินชาวบ้านบอกว่า พรรคใหญ่ หาตัวยาก หาตัวไม่เจอ จึงคิดว่าพรรคเล็ก ยังคงใกล้ชิดกับประชาชน และพรรคเส้นด้ายก็ยังเป็นพรรคที่เกิดจากชุมชน เป็นการเมืองแบบใหม่ที่ขอให้ได้มีตัวแทนของพรรคกลุ่มนี้เข้าไปนั่งในสภาฯ แต่จุดยืนสำคัญหลังการเลือกตั้งแล้ว มองว่าหากพรรคใดที่ไม่ได้ชนะการเลือกตั้ง แต่มีเสียง ส.ว.สนับสุน พรรคเรารับไม่ได้… คริส กล่าวทิ้งท้าย
นอกจาก 2 พรรคนี้ ยังมีพรรคเล็กอีกหลายพรรค ที่มีความตั้งใจในทุก ๆ สนามเลือกตั้ง แม้จะไม่ค่อยประสบความสำเร็จอย่างในต่างประเทศ ที่ให้ความสำคัญกับนโยบายเฉพาะกลุ่ม เช่น นโยบายสิ่งแวดล้อม, นโยบายที่ผลักด้นด้านอาชีพ และประเด็นเฉพาะ ฯลฯ
สำหรับกติการเลือกตั้ง ปี 2566 นั้น ลดจำนวน ส.ส.บัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จากเดิม 150 ที่นั่ง เหลือ 100 ที่นั่ง และยังต้องใช้คะแนนเสียงจากประชาชนมากถึง 350,000 คะแนน กว่าจะที่จะมีสิทธิ์เข้าไปนั่งในสภาฯ ทำเอาพรรคเล็กเหนื่อยหนัก ดูเหมือนจะเป็นกติกาใหม่ที่ตอบโจทย์พรรคใหญ่ เพราะระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เอื้อให้พรรคขนาดใหญ่ที่มี ส.ส.เขตมาก มีฐานคะแนนในพื้นที่อยู่แล้วมีโอกาสได้ ส.ส.เขต หลายคน และมีผลทำให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อมีโอกาสได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย การเลือกตั้งยุคปัจจุบันจึงถูกมองว่า ทุน และฐานเสียงกลายเป็นปัจจัยสำคัญของผลการเลือกตั้งครั้งนี้