นักวิชาการ ชี้ ทุกปัญหาเกิดจากโครงสร้างใหญ่ แก้ได้ด้วยนโยบายทางการเมือง พรรคการเมืองเห็นร่วม ต้องสร้างโอกาสให้คนทุกกลุ่ม ย้ำ ปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นเพียงแค่คนรุ่นใหม่ แต่เกิดกับทุกวัย การแก้ปัญหาควรคำนึงถึงทุกคน
22 เม.ย. 2566 กิจกรรม “Lost & Found: ตามหาความฝันที่หล่นหายของคน GEN Z” เปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนปัญหาคนรุ่นใหม่ 4 ด้าน คือ ความฝันและความหวัง, ที่อยู่อาศัย, ความมั่นคงในชีวิต และการกระจุกตัวของโอกาสที่อยู่ในเมือง รวมทั้งฟังเสียงสะท้อนเรื่องจริงที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญ ผ่านมุมมองของนักวิชาการ เพื่อส่งต่อเสียงสะท้อนถึงพรรคการเมืองให้เข้าใจปัญหาและร่วมหาทางออกในระดับนโยบาย
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองความฝันที่หล่นหายของคน Gen Z ในมิติของการกระจุกตัวของโอกาสที่อยู่ในเมือง โดยกล่าวถึง Gen Z ว่าเป็น Gen ที่เป็นตัวอักษรสุดท้ายของภาษาอังกฤษ ความพิเศษ คือ รุ่นสุดท้ายของโลกเก่าและรุ่นแรกของโลกใหม่ เพราะฉะนั้นการก้าวเข้าสู่โลกใหม่ พื้นที่ใหม่ ๆ มักจะเกิดขึ้นในเมืองใหญ่ก่อน ปัญหาที่พวกเขาเจอในเรื่องการกระจุกตัวของโอกาสที่อยู่ในเมืองเป็นโครงสร้างใหญ่
เมื่ออธิบายจากมุมเศรษฐศาสตร์ จะพบว่า “ตัวกินฝัน” เกิดขึ้นทุกที่ทั่วโลกจาก 4 ปัจจัย คือ 1) การเปลี่ยนแปลงในโลกของงาน คือ โลกหมุนเร็วขึ้น เศรษฐกิจหมุนช้า เวลากลายเป็นศัตรู ส่งผลให้แรงงานมุ่งหน้าเข้าสู่พื้นที่เมือง ที่มีความเปลี่ยนแปลงรวดเร็วกว่าจังหวัดอื่น ๆ 2) โอกาส หมายถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงของภาคเศรษฐกิจ เกือบทุกจังหวัดยิ่งโต ยิ่งใช้คนน้อย เพราะมองว่าแรงงานคนเป็นภาระ 3) ค่าครองชีพ โดยระบุว่า ค่าครองชีพพุ่งเร็ว กินความลำบากของคน ต้องแข่งกับเวลา และ 4) ทักษะ ที่ช่วงชีวิตลดเหลือไม่ถึง 5 ปี เช่น ทักษะการจัดการการเรียนรู้ ที่สำรวจในปี 2015 แต่ถัดมาอีก 5 ปี ทักษะเหล่านั้นใช้ไม่ได้แล้ว หมายความว่าเรื่องที่เป็นทักษะในวัยเรียน เมื่อเรียนจบกลับมาจะใช้ไม่ได้แล้วในโลกการทำงาน ซึ่งทั้งหมดไม่สามารถแก้ไขได้โดยคนตัวเล็ก แต่เป็นเรื่องเชิงโครงสร้างที่ต้องแก้ด้วยการเมืองและนโยบาย
ขณะที่ความท้าทายสำคัญที่มองเห็นจากภาพอนาคต คือ พวกเขาจะจนลงทั้งที่รายได้เพิ่มขึ้น ทำให้การมีเงินไม่ได้การันตีการมีชีวิต เพราะเงินจะไม่เพิ่มเร็วกว่าภาระที่ต้องใช้ ยิ่งหากเลือกการมีครอบครัว การเปลี่ยนแปลงของสิ่งรอบตัวจะทำให้เจ็บเร็วขึ้น และสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นในโลกการจ้างงานที่ไม่ถาวร กลายเป็นโลกที่เสี่ยงมากขึ้น ขณะเดียวกันก็พบว่ากลุ่มคน Gen Z เป็นกลุ่มที่มีโอกาสมากที่สุดเช่นกัน เพราะมีความสามารถในการ Up Skill – Re Skill ได้มากที่สุด เพราะเป็นคนที่ใกล้กับโลกมากที่สุด นั่นคือ Gen Z
จากเสียงสะท้อนทำให้พบว่าไม่สามารถแก้ได้โดยลำพัง จึงเป็นโจทย์ที่จะฝากให้พรรคการเมือง พร้อมตั้งคำถามว่าพรรคการเมืองจะมีนโยบายอะไรที่จะทำให้คนรุ่นใหม่กล้าฝันได้อีกครั้ง
“ความพอเพียงในชีวิต กับความเพียงพอในการเติมเต็มความฝัน เป็นคนละโจทย์กัน เวลาเราสร้างรัฐสวัสดิการ ฐานคิดคือพอเพียงในการใช้ชีวิต ซึ่งมักนึกถึงคนอายุมาก แต่จริงๆ welfare ต้องครอบคลุมคนทุกกลุ่ม”
เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว นักวิชาการคณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB กล่าวว่า จากการรับชมซีรีส์ Generation เคว้ง พบว่าน่าหนักใจทุกปัญหา เพราะในทุกปัญหามีความเชื่อมโยงกันอยู่ ถ้าจะแก้ปัญหาให้ได้ยั่งยืนจริง ๆ จำเป็นต้องคิดและแก้ปัญหาทั้ง 4 เรื่องไปพร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความฝัน เรื่องงาน การที่คนรุ่นใหม่รู้สึกว่าตามหาความฝันไม่เจอ ทำให้เชื่อมโยงไปถึงเรื่องงาน ที่ไม่สามารถทำให้พวกเขาวิ่งตามความฝันได้เท่าที่ควร ขณะที่ปัจจุบันงานกระจุกตัวอยู่ในเพียงพื้นที่เมืองโดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร พื้นที่นี้เป็นเสมือนศูนย์รวมแห่งความฝัน แต่ขณะเดียวกันถ้าปัจจัยพื้นฐานอย่างบ้านหรือที่อยู่อาศัย พวกเขาไม่สามารถที่จะคว้ามันได้ ความฝันอื่น ๆ ก็ยากตามไปด้วย คิดว่าทุกอย่างเชื่อมโยงกันอยู่
วรดร ยังกล่าวถึงการที่คนรุ่นใหม่กำลังเผชิญความท้าทายเรื่องการเข้าถึงบ้านที่ดี ที่ประชาชนทุกคนควรมีสิทธิอยู่ในพื้นที่ คุณภาพที่เหมาะสม อยู่ในทำเลที่เอื้อต่อการใช้ชีวิต ในระดับค่าใช้จ่ายที่สอดคล้องกับรายได้ และสามารถอยู่อาศัยได้อย่างมั่นคง แต่ปัจจุบันกลับพบว่าหากพวกเขามีเงินเดือนประมาณ 2 หมื่นกว่าบาท ซึ่งถือเป็นระดับรายได้ต่อหัวของครัวเรือน 30 เปอร์เซ็นของครัวเรือนที่รวยที่สุดใน กทม. ถ้าคนที่อยู่ในกลุ่มระดับรายได้ 30 เปอร์เซ็นแรกของกรุงเทพฯ ยังไม่สามารถมีบ้านที่ใกล้ที่ทำงาน เดินทางสะดวกได้ แล้วคนอีก 70% ที่มาจากครัวเรือนที่รายได้น้อยยิ่งกว่า จะยิ่งเผชิญทางเลือกที่มีข้อจำกัดยิ่งกว่า เผชิญสถานการณ์ที่ย่ำแย่กว่าอีก
นอกจากนี้ จากการสำรวจของโครงการวิจัยภายใต้องค์การสหประชาชาติ พบว่า ประชากรเมือง เกือบ 3 ล้านครัวเรือน ยังอาศัยอยู่ในที่อยู่อาศัยที่ไม่ได้มาตรฐาน เช่น ไม่มีน้ำสะอาด ไม่มีระบบสุขาภิบาลหรือส้วมที่ดี แออัด ไม่แข็งแรง เสี่ยงไล่รื้อ ฯลฯ นั่นหมายความว่ามีสาเหตุมาจากราคาบ้านที่สูงมาก กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เคยตั้งเกณฑ์ว่าค่าใช้จ่ายเรื่องบ้านไม่ควรเกิน 15-20 เปอร์เซ็นต่อรายได้ครัวเรือน แต่กรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่กลับสูงมากเกินกว่า 80 เปอร์เซ็น เห็นได้จากสถิติย้อนหลัง 8 ปี จะเห็นว่าบ้านในกรุงเทพฯ ราคาขึ้น 27-62 เปอร์เซ็น สวนทางกับค่าจ้างแรงงานที่ลดลง 6 เปอร์เซ็น ทำให้คนรุ่นใหม่ มีแนวโน้มเข้าถึงบ้านที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ
ขณะที่ ศูนย์วิจัย 101PUB เคยสำรวจกลุ่มเยาวชนไทย 2 หมื่นคน ว่ามองความฝันแต่ละเรื่องสำคัญกับพวกเขาแค่ไหน ถ้าถามเด็กอายุน้อยหน่อย เกิน 3 ใน 4 การมีบ้านเป็นความฝันที่สำคัญมาก ๆ แต่เมื่อขยับเป็นวัย 23-25 ปี ความฝันเดียวกันนั้นจะเหลือแค่ครึ่งเดียว ที่การมีบ้านเป็นความฝันที่สำคัญกับพวกเขา สะท้อนว่า เมื่อเยาวชนโตขึ้น พบความเป็นจริงเรื่องราคาบ้านที่พุ่งขึ้น เกินค่าจ้าง ทำให้รู้สึกว่าความฝันนั้นเป็นไปไม่ได้ เป็นฝันที่เกินเอื้อมมาก “เยาวชนที่ฝันอยากมีบ้านในประเทศนี้ มีน้อยกว่าเยาวชนที่ฝันว่าอยากจะย้ายออกจากประเทศนี้เสียอีก”
“ถามเยาวชนอายุ 15 – 25 ปี ถ้าได้เงิน 1 ล้านบาทจะเอาไปทำอะไร…อันดับ 1 เอาไปใช้หนี้ให้ที่บ้าน มันสะท้อนว่าความฝันของคนรุ่นใหม่ไม่ได้เริ่มจากศูนย์ แต่เริ่มจากติดลบ”
วรดร เลิศรัตน์ นักวิจัยนโยบายสาธารณะ 101PUB
ภายหลังการให้ข้อมูลจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญ ได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนพรรคการเมืองเลือกประเด็นปัญหาที่ต้องการแลกเปลี่ยน โดย วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ตัวแทนพรรคก้าวไกล กล่าวว่า วิกฤตตั้งแต่ช่วงต้นของการทำงานของคน Gen Z คือเผชิญปัญหาหนี้ครัวเรือน โอกาสที่จะรองรับความล้มเหลวมีน้อยมาก ๆ ฉะนั้นหากจะมีแนวทางออกให้คนกลุ่มนี้ มองออกเป็น 4 เรื่อง คือ 1) เติมความฝัน สร้างตาข่ายรองรับความเสี่ยง ประโยชน์ คือ กลุ่มเป้าหมายวัยทำงานได้ประโยชน์ พ่อแม่ได้รับสวัสดิการรัฐ พวกเขาจะได้กล้าวิ่งตามความฝันมากขึ้น safety ด้านสวัสดิการ ที่อยู่อาศัย 2) ส่งเสริมการลงทุนแห่งอนาคต การบริโภคในประเทศ ส่งเสริมการลงทุน เด็กGen Z ไม่ได้อยากเป็นลูกจ้าง SME ต้องการรัฐที่ปกป้อง 3) คนGen Z ต้องการความแฟร์ ทลายทุนผูกขาด หากมีระบบนิเวศการแข่งขันที่แฟร์ ก็จะลงทุนได้มากขึ้น และ 4) ความเข้าอกเข้าใจ ปรับสิทธิบัตรทองให้ครอบคลุมมากขึ้น ในด้านสุขภาพจิต ให้นักเรียนนักศึกษาเข้าถึงนักจิตวิทยาได้
ด้าน ธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ ตัวแทนพรรคไทยสร้างไทย กล่าวว่า การแก้ปัญหาการโยกย้าย และการกระจุกตัวของคนรุ่นใหม่ในเมือง มาจาก 1) ต้องการเรียนหนังสือ และ 2) การแสวงหาโอกาส จึงมองว่าต้องลดความเหลื่อมล้ำ เพราะรายได้ต่อหัวต่อครัวเรือนของต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ ต่างกันหลักหมื่น เห็นชัดถึงคุณภาพ การแก้ไขไม่ใช่แค่ปัญหาของ Gen Z แต่รวมถึงหลาย ๆ รุ่น ต้องมีสวัสดิการให้ทุกรุ่น รวมถึงดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ วันเรียน ต้องมีการเรียนฟรีจนจบปริญญาตรี หรือเทียบเท่า แบบฟรีจริง ๆ ไม่มีค่าใช้จ่ายย่อยอื่น ๆ เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ขณะที่วัยทำงาน ต้องมีกองทุนคนตัวเล็กให้ผู้ที่ต้องการประกอบการ โดยคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ส่วนวัยชรา มีนโยบาย 30 บาท โดยยกระดับให้มีเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวกกับทุกคนไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ไม่ว่าใครก็สามารถคุยกับหมอได้ตลอด 24 ชั่วโมงทางออนไลน์ และเป็นระบบที่สาธิตให้ทุกคนสามารถคุยได้จริง ๆ หรือแม้กระทั่งผู้คนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพจิต ความเครียด
ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวว่า สนับสนุนเรื่องการสร้างงานสร้างอาชีพ ต้องสร้างแต้มต่อให้คนรุ่นใหม่และสตาร์ทอัพ เพราะคนกลุ่มนี้มีมาก ถ้ารัฐสร้างแต้มต่อทั้งเรื่องการท่องเที่ยวและการเกษตร และรัฐให้ความสำคัญกับการจ้างงาน
ขณะที่ วทันยา บุนนาค ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จะแก้ไขอย่างใดอย่างหนึ่งไม่ได้ ทุกวัยทุกคนมีเป้าหมายในชีวิต สิ่งที่เสนอเพื่อแก้ปัญหาจึงให้ความสำคัญ คือ 1) สร้างพื้นที่ในการรองรับถ้าล่ม ไปตามความฝันโดยไม่ต้องกังวล เมื่อมีรัฐสวัสดิการที่รองรับ 2) หน้าที่ของรัฐ คือสร้างโอกาสให้กับประชาชนอย่างเท่าเทียม และ 3)การสร้างพื้นที่ปลอดภัย เรื่องพื้นฐานทางครอบครัว ทำให้เขามีความมั่นใจในการออกไปเจออะไรต่าง ๆ ในสังคม ที่อยู่บนความท้าทายตลอดเวลา