เตรียมพร้อมเลือกตั้งล่วงหน้า ผู้ใช้สิทธิหวังตอบโจทย์ แก้ปัญหาชีวิต

7 พ.ค.เลือกตั้งล่วงหน้า ประชาชนกว่า 2.3 ล้านคน ลงทะเบียนใช้สิทธินอกเขต iLaw แนะ 8 ขั้นตอน “ก่อน-ขณะใช้สิทธิ” หวั่นสับสน เหตุขั้นตอนมากกว่าวันเลือกตั้งจริง ด้านผู้ใช้สิทธิหวังเลือกตั้ง ตอบโจทย์ชีวิต

วันนี้ (6 พ.ค.2566) ก่อนเลือกตั้งล่วงหน้า 1 วัน ประชาชนต่างเตรียมตัวออกไปใช้สิทธิ ทั้งผู้ที่เคยเลือกตั้งมาแล้ว และผู้ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรก มีเสียงสะท้อนจากประชาชนหลายช่วงวัยที่มีความหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า จะช่วยแก้ปัญหาในชีวิตของพวกเขาได้ และต้องการมีนโยบายที่สามารถทำได้จริง

นก อายุ 60 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดอุบลราชธานี บอกกับ The Active ว่า เมื่อไม่ได้กลับไปเลือกตั้งที่ภูมิลำเนาก็จะใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า

“หวังว่า หลังการเลือกตั้ง อยากให้ประเทศเป็นประชาธิปไตยและได้นายกฯ ที่มาจากการเลือกของประชาชน อยากจะให้รัฐบาลที่เลือกมากับมือเข้ามาบริหารประเทศ หวังให้คนรุ่นใหม่เข้ามา เพราะมองว่าอนาคตมันไม่ใช่ของรุ่นตนแล้ว รุ่นเด็กรุ่นลูกรุ่นหลาน คืออนาคตที่เขาต้องก้าวไป อนาคตต้องเปิดโลกทัศน์มากขึ้น”

ในวัย 60 ปี เธอยังหวังให้มีนโยบายเรื่องรัฐสวัสดิการ ปากท้อง แต่ก็คิดว่านโยบายอาจจะเป็นไปได้ไม่ทั้งหมด ทุกโครงการ ทุกนโยบาย ที่พรรคการเมืองเสนอมา อาจจะทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง ก็ยังดีกว่าไม่เกิดอะไรเลย

สิ่งที่อยากได้รับจากรัฐบาลชุดใหม่ อันดับแรก คือ เรื่องปากท้อง รัฐสวัสดิการ เบี้ยผู้สูงอายุ ควรปรับขึ้น เพราะว่าไม่อยากให้ลูกหลานมานั่งเป็นห่วงเป็นใย นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ ที่อยากจะได้ก็คือเงินเบี้ยผู้สูงอายุ 3,000 บาท สวัสดิการการรักษาพยาบาล หวังอยากให้เศรษฐกิจดีขึ้น ข้าวของก็อยากให้ถูกลงเพราะตอนนี้ราคาแพงเกินไป

บี ในวัย 18 ปี เป็นผู้มีสิทธิเลือกตัังครั้งแรก เธอบอกว่า เวลานี้รู้สึกเหมือนประเทศกำลังถดถอย และมองไม่เห็นอนาคตของตัวเอง เคยคิดจะไปเรียนต่อต่างประเทศ ก็แผนก็ต้องสะดุดเพราะเศรษฐกิจแย่ลงเรื่อย ๆ

นโยบายที่เธออยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญคือเรื่องการศึกษาที่เท่าเทียม โดยมองผ่านประสบการณ์ของตัวเอง ที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลมาตลอด รู้สึกว่า โอกาสหลายอย่าง ที่จะได้ทดลอง หรือ เรียนรู้ในสิ่งที่ชอบหลายอย่างมันหายไป ขณะที่เด็กในโรงเรียนเอกชนจะได้รับโอกาสมากกว่า ยิ่งช่วงโควิดที่ผ่านมา ก็ไม่มีโอกาสได้ทำกิจกรรมหลายอย่างที่ควรจะทำ และอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญและรับฟังคนรุ่นใหม่มากขึ้น

“อยากให้รัฐบาลใส่ใจคนรุ่นใหม่ ควรฟังว่าคนรุ่นใหม่อยากให้แก้ตรงไหน เพราะว่าคนรุ่นใหม่ในอนาคตก็จะเป็นแรงหลักของชาติ ที่จะพาชาติพัฒนาไปมากกว่านี้ อยากให้ฟังความคิดเห็นเรื่องการเพิ่มเงินเดือนของเด็กจบใหม่ เพราะค่าครองชีพสูงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ค่าแรงเท่าเดิมมาหลายปีแล้ว รู้สึกว่ามันไม่พอ”

ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ได้เผยแพร่ข้อมูลการตรวจสอบขั้นตอน การไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้าให้แก่ประชาชน เนื่องจากหวั่นว่าจะเกิดความยุ่งยาก และสับสนเกี่ยวกับขั้นตอนการใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต

มีประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจากหลายเขต หลายจังหวัด ที่เลือกใช้สิทธิในวันพรุ่งนี้ (7 พ.ค.2566) ประชาชนสามารถไปเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งที่ลงทะเบียนไว้ได้ ตั้งแต่เวลา 08.00 – 17.00 น. ซึ่งหากลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้าไว้ ต้องไปใช้สิทธิเท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขการลงทะเบียน หรือไปใช้สิทธิเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. ได้

โดยทาง iLaw ให้ข้อมูล ทั้งหมด 8 ขั้นตอนสำหรับการตรวจสอบสิทธิก่อนไปเลือกตั้งล่วงหน้า ได้แก่

1) ผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต เช็คสิทธิเลือกตั้ง และลำดับที่ในบัญชีของตนเอง อย่าลืมพกบัตรประจำตัวประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลักไปด้วย เช่น หนังสือเดินทาง ใบขับขี่ หรือจะโหลดแอป ThaiID เพื่อแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแบบอิเล็กทรอนิกส์

หากมีเอกสารที่ได้รับจากการลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขต ทั้งการลงทะเบียนผ่านทางเว็บไซต์ หรือที่สำนักงานเขต อำเภอ หรือสำนักทะเบียนท้องถิ่น ให้นำไปเผื่อเพื่อแสดงเป็นหลักฐาน กรณีที่ลงทะเบียนทางออนไลน์ และบันทึกเอกสารไฟล์ PDF ไว้ตั้งแต่ลงทะเบียน จะนำใส่โทรศัพท์มือถือหรือแท็บเล็ต หรือจะปริ๊นท์ไปแสดงหลักฐานก็ได้

ถ้าไม่ได้บันทึกเอกสารไว้ ให้เช็คสิทธิ-สถานที่ไปเลือกตั้ง ว่าระบุข้อมูล วันที่ไปใช้สิทธิ-สถานที่ไปใช้สิทธิ ถูกต้องหรือไม่ โดยการเช็คสิทธิในเว็บไซต์ สำหรับผู้ที่ลงทะเบียนเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตไปแล้ว ข้อมูลด้านล่างหน้าเว็บไซต์จะต้องระบุว่า “การขอไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง” และระบุวันที่เลือกตั้งล่วงหน้า คือ วันที่ 7 พฤษภาคม 2566

2) อย่าลืมเช็คเบอร์พรรคการเมืองเพื่อเลือก ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (บัตรสีเขียว) และเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (บัตรสีม่วง) ของเขตที่มีสิทธิเลือกตั้ง เขตตามทะเบียนบ้านของตนเอง ห้ามกาเบอร์ผู้สมัครของเขตที่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งขั้นตอนนี้หลายคนอาจเกิดความสับสนได้

3) ไปถึงหน้าหน่วยเลือกตั้ง เข้าแถวแยกตามป้ายจังหวัดที่ตนมีสิทธิ ในหน่วยเลือกตั้งล่วงหน้านอกเขตจะมีป้ายแยกจังหวัด เพื่อให้ประชาชนเข้าแถวตามป้ายจังหวัดของตนเอง

4) แสดงตนกับเจ้าหน้าที่ โดยแจ้งลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของตนเอง และยื่นบัตรประชาชน หรือเอกสารที่ราชการออกให้และมีเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เราลงลายมือชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งนอกเขต และเจ้าหน้าที่ก็จะระบุ จังหวัด เขตเลือกตั้ง และรหัสเขตเลือกตั้งที่เรามีสิทธิลงบนซองใส่บัตรเลือกตั้ง ให้ดูด้วยว่าจังหวัดและเขตที่เรามีสิทธิเลือกตั้ง ระบุบนหน้าซองถูกต้องหรือไม่ บนซองจะต้องมีการเจาะรูทั้งสองข้างเพื่อให้เห็นบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบได้จากภายนอก ต่อมา จะส่งบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งของเรา ให้เจ้าหน้าที่คนที่ 2

การจำลองคูหาการเลือกตั้ง

5) รับบัตรเลือกตั้งกับเจ้าหน้าที่ หลังจากเจ้าหน้าที่คนที่ 2 ได้รับบัตรประชาชนและซองใส่บัตรเลือกตั้งหนึ่งซองของเรามาแล้ว เจ้าหน้าที่คนที่ 2 จะจดลำดับที่ในบัญชีรายชื่อของเรา ไว้ที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้ง และให้เราลงลายมือชื่อที่ต้นขั้วบัตรเลือกตั้งด้วย หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็จะลงลายมือชื่อกำกับตรงต้นขั้วบัตรเลือกตั้งเช่นกัน แล้วส่งมอบบัตรเลือกตั้งและบัตรประชาชนคืนมาให้

หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่สามารถลงลายมือชื่อได้ ให้พิมพ์ลายนิ้วมือของนิ้วโป้งข้างขวา ถ้าไม่มีนิ้วโป้งขวาให้พิมพ์ลายนิ้วมือนิ้วโป้งซ้าย แต่ถ้าไม่มีนิ้วโป้งทั้งสองข้าง ให้พิมพ์ลายนิ้วมืออื่นแทนและกรรมการประจำหน่วยจะใส่หมายเหตุไว้

6) เมื่อเข้าคูหาเลือกตั้ง ให้กาเครื่องหมาย “กากบาท” ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ในคูหาเลือกตั้งจะมีปากกาเตรียมไว้ให้ แต่ถ้านำไปเองก็แนะนำให้ใช้สีน้ำเงินเพราะจะอ่านง่ายกว่าเวลาเจ้าหน้าที่นับคะแนน

บัตรเลือกตั้งใบแรก เลือกตั้งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต (สีม่วง) จะมีแค่เบอร์มาให้ ไม่มีข้อมูลชื่อ-นามสกุล ไม่มีโลโก้พรรค ต้องจำเบอร์ให้ได้ก่อนเข้าคูหา

บัตรเลือกตั้งใบที่สอง เลือกผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคการเมือง (สีเขียว) จะมีโลโก้พรรคการเมืองระบุไว้ในบัตร แต่ก็ควรจำเบอร์พรรคที่จะเลือกได้เพื่อให้รวดเร็วขึ้น

ให้ทำเครื่องหมาย “กากบาท” ในช่องว่างสำหรับทำเครื่องหมาย โดยให้ทำเครื่องหมายกากบาทแค่ครั้งเดียวเท่านั้น แต่ละบัตรเลือกตั้ง สามารถกาเลือกได้เพียงเบอร์เดียว

หากไม่อยากเลือกผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตคนใดเลย หรือ ไม่ประสงค์จะเลือกบัญชีรายชื่อจากพรรคการเมืองใดเลย ให้ทำเครื่องหมายกากบาทในช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด”

บัตรเลือกตั้งแบบจำลอง

ข้อห้าม ไม่ควรทำพฤติกรรมดังต่อไปนี้ เพราะบัตรเลือกตั้งนั้นจะกลายเป็น “บัตรเสีย”

  • ห้ามทำเครื่องหมายอื่นนอกจากกากบาท เช่น กากบาทแล้วใส่วงเล็บล้อม ทำเครื่องหมายดาว วาดรูปหัวใจ ทำสี่เหลี่ยม เขียนคำหรือเบอร์พรรคที่จะเลือก
  • ห้ามใส่เครื่องหมายกากบาทมากกว่าหนึ่งอันในช่องเดียว
  • ทำเครื่องหมายกากบาทนอกช่องทำเครื่องหมาย
  • กาเบอร์มากกว่าหนึ่งเบอร์ขึ้นไป
  • ห้ามเขียนข้อความใดๆ ลงในบัตรเลือกตั้ง
  • ห้ามปล่อยช่องเว้นว่างไว้ ไม่กาเบอร์ใดเลย
  • ห้ามกาทั้งช่อง “ไม่เลือกผู้สมัครผู้ใด” หรือ “ไม่เลือกบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองใด” และกาเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต หรือเบอร์บัญชีรายชื่อพรรคการเมืองด้วย
  • ห้ามกาในช่องที่ไม่มีผู้สมัคร

7) หลังจากกาในช่องทำเครื่องหมายกากบาท ของบัตรเลือกตั้งทั้งสองใบแล้ว ให้นำบัตรเลือกตั้งใส่ซองใส่บัตรเลือกตั้ง ปิดผนึกซองให้เรียบร้อย อย่าเพิ่งนำบัตรเลือกตั้งไปหย่อนใส่กล่อง แต่ให้ไปให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบก่อนว่าใส่บัตรและปิดผนึกเรียบร้อยหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะลงลายมือชื่อกำกับตรงรอยต่อผนึกซองบัตรเลือกตั้งและปิดทับรอยต่อผนึกซอง ด้วยเทปกาวใส กลไกนี้จะทำให้ช่วยตรวจสอบได้ว่า ซองใส่บัตรเลือกตั้งถูกเปิดหรือไม่

8) หลังจากเจ้าหน้าที่จัดการกับซองใส่บัตรเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว ก็จะส่งซองใส่บัตรเลือกตั้งคืนกลับมาให้ ให้นำซองใส่บัตรเลือกตั้ง ไปหย่อนลงในหีบบัตรเลือกตั้ง โดยหีบจะมีใบเดียว และบัตรแต่ละประเภท (เลือกส.ส. แบบแบ่งเขต – บัญชีรายชื่อ) จะถูกนำไปแยกภายหลัง โดยที่ซองใส่บัตรจะมีรูเพื่อให้เห็นว่ามีบัตรสองใบ สองสี

จากขั้นตอนทั้ง 8 ข้อ จะเห็นว่ามีหลายขั้นตอนที่อาจทำให้สับสนได้ ดังนั้น ก่อนไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า ทุกคนควรอ่านขั้นตอนอย่างละเอียด และจดจำหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมือง ที่ต้องการเลือกให้ได้ก่อนเข้าคูหาจะดีที่สุด และควรทำตาขั้นตอนอย่างระมัดระวัง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active