พบสถิติผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 243 คน ใน 263 คดี จากการแสดงออก และการชุมนุมทางการเมือง ด้านนักกิจกรรมหวังมีการแก้ไข ม.112
วันนี้ (6 พ.ค.2566) ข้อมูลจาก ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เปิดสถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งเป็นข้อมูลนับตั้งแต่ วันที่ 24 พ.ย.2563 – 2 พ.ค.2566 ซึ่งนับตั้งแต่ช่วงปี 2561 หลังมีการเปลี่ยนแนวทางการบังคับใช้มาตรา 112 ประกอบสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงปี 2563 ก็มีปรากฏรายงานข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐเริ่มกลับมาบังคับใช้ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
มีการเผยแพร่รายชื่อผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 จากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 24 พ.ย. 63 ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง อย่างน้อย 243 คน ใน 263 คดี
- โดยจากคดีทั้งหมด แยกเป็นคดีที่มี “ประชาชน” เป็นผู้ไปร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 124 คดี, คดีที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร้องทุกข์กล่าวโทษจำนวน 11 คดี, คดีที่กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 9 คดี, คดีที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองไปร้องทุกข์กล่าวโทษ 1 คดี ส่วนที่เหลือเป็นคดีที่ตำรวจเป็นผู้กล่าวหา
- พฤติการณ์ที่ถูกกล่าวหาแยกเป็นคดีที่เกี่ยวกับการปราศรัยในการชุมนุมจำนวน 48 คดี, คดีการแสดงออกอื่นๆ ที่ไม่ใช่การปราศรัย เช่น การติดป้าย, พิมพ์หนังสือ, แปะสติ๊กเกอร์ เป็นต้น จำนวน 67 คดี, คดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 139 คดี และไม่ทราบสาเหตุ 8 คดี
- ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นเด็กและเยาวชน อายุไม่เกิน 18 ปี จำนวน 18 ราย ในจำนวน 21 คดี
- ศาลมีการออกหมายจับ อย่างน้อย 98 หมายจับ (กรณี “เดฟ ชยพล” นักศึกษามธ. ถูกศาลจังหวัดธัญบุรีออกหมายจับ แต่ต่อมาตำรวจไปขอยกเลิกหมายจับ และไม่ได้ดำเนินคดี) และยังมีการจับตามหมายจับเก่าตั้งแต่ช่วงปี 2559 อย่างน้อย 2 หมายจับ
- คดีที่อยู่ในชั้นศาลแล้ว จำนวน 187 คดี ยังไม่มีแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี
- แกนนำการชุมนุมถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนทั้งหมด ดังนี้
พริษฐ์ ชิวารักษ์ 23 คดี
อานนท์ นำภา 14 คดี
ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล 10 คดี
ภาณุพงศ์ จาดนอก 9 คดี
เบนจา อะปัญ 7 คดี
ชินวัตร จันทร์กระจ่าง 7 คดี
พรหมศร วีระธรรมจารี 5 คดี
ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา 4 คดี
ชูเกียรติ แสงวงค์ 4 คดี
วรรณวลี ธรรมสัตยา 4 คดี
ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล 3 คดี
สมพล (นามสมมติ) 6 คดี
หลังมีผู้ถูกดำเนินคดี ม.112 ทำให้สังคมเกิดข้อถกเถียงเกี่ยวกับประเด็นการแก้ไข ม.112 ซึ่งมีทั้งพรรคการเมืองที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ในการเลือกตั้งปี 2566 จึงเห็นการนำประเด็นนี้มาพูดบนเวทีปราศรัยหรือเวทีการดีเบตหลายครั้ง
ก้อง อุกฤษฏ์ สันติประสิทธิ์กุล จากกลุ่มทะลุราม อายุ 25 ปี เป็นอีกหนึ่งคนที่ถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่งเวลานี้ได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดีในชั้นอุทธรณ์
อุกฤษฏ์ คาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งนี้ จะมีนโยบายที่ทำให้เกิดการแก้ไขมาตรา 112 และ 116 รวมไปถึงให้นิรโทษกรรม แก่นักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว รวมถึงนักโทษทางการเมืองคนอื่นๆ
“ถ้ายังเป็นรัฐบาลชุดเดิมกลัวว่าจะมีปัญหาที่เกิดขึ้นคือ คนที่โดนคดี 112 หรือ 116 ก็จะโดนจองจำ และไม่มีการนิรโทษกรรม เพราะถ้ายังเป็นรัฐบาลชุดเดิม ก็จะไม่มีการแก้ไข”
ขณะที่การเลือกตั้งในครั้งนี้มีการหยิบยก ม.112 มาพูดถึงเป็นวงกว้าง โดยมีพรรคการเมืองทั้งที่เห็นด้วยกับการแก้ไข และพรรคการเมืองที่เห็นว่า ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวกฎหมาย และไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข