เจ้าหน้าที่คอยอำนวยความสะดวก ตั้งแต่ขั้นตอนตรวจสอบสิทธิ จนถึงการการลงคะแนน แต่จะไม่มีการกาบัตรแทนกันเพื่อป้องกันการทุจริต ยกเว้นกรณีไม่สามารถทำได้เอง ขณะที่บางเขต พบผู้ป่วยติดเตียงอยากออกมาใช้สิทธิ
วันนี้ (14 พ.ค.66) บรรยากาศการเลือกตั้งในพื้นที่ กทม. ตั้งแต่เปิดหีบเวลา 08.00 น. พบผู้สูงอายุจำนวนมากทยอยออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง เช่น เขตคลองเตย-วัฒนา และ เขตดินแดง แม้จะมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ
เสมอ วงศ์สุวรรณ วัย 73 ปี อาศัยเพื่อนบ้านในแฟลตดินแดง ประคองพาออกมาเลือกตั้ง ระบุว่า ตนเองออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งทุกครั้ง ขณะที่ตัวเองอาศัยอยู่กับสามีที่เป็นผู้ป่วยติดเตียงไม่สามารถออกมาเลือกตั้งได้ หากได้รัฐบาลใหม่อยากให้เป็นคนดี ใส่ใจผู้สูงอายุที่มีความพิการ โดยเฉพาะในเขตเมือง
“อยากให้เข้ามาดูแล ใส่ใจ ผู้สูงอายุที่อยู่กัน 2 คน หรืออยู่คนเดียว มีคนมาคอยดู เอาข้าวเอาน้ำมาให้บ้าง บางทีเขาแจก ๆ กัน ไม่ใช่เราไม่ใส่ใจ แต่เราก็ออกไปไม่ได้”
เสมอ วงศ์สุวรรณ
สอดคล้องกับผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งเขตดินแดง ที่ระบุว่า ในช่วงครึ่งวันเช้ามีผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งจำนวน 5 คนที่ต้องใช้ไม้เท้าหรือมีคนพามาส่ง และที่นั่งวีลแชร์ 1 คน ซึ่งภายในแฟลตดินแดงมีผู้สูงอายุจำนวนค่อนข้างมาก และยังมีผู้สูงอายุที่ป่วยติดเตียงส่วนหนึ่งที่อยากออกมาเลือกตั้งแต่ทำไม่ได้ ส่วนตัวรู้สึกเสียดายโอกาสแทน และน่าจะมีการออกแบบให้คนกลุ่มนี้ได้เลือกตั้ง เช่นมีเจ้าหน้าที่เอาบัตรเลือกตั้งไปถึงบ้านภายใต้มาตรการดูแลที่รัดกุม
นิษา สินศาสตร์ ประธานหน่วยเลือกตั้งที่ 26 แขวงรัชดาภิเษก เขตดินแดง กล่าวว่า วันนี้ที่หน่วยเลือกตั้งได้เตรียมเจ้าหน้าที่ไว้อำนวยความสะดวกสำหรับผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือ หรือคนพิการ ตั้งแต่จุดตรวจสอบสิทธิจนถึงขั้นตอนลงคะแนน แต่จะไม่มีการกาบัตรแทนกันเพื่อป้องกันการทุจริต ยกเว้นทางหน่วยฯ ประเมินแล้วว่าไม่สามารถลงคะแนนได้จึงจะให้เจ้าหน้าที่กาบัตรแทนภายใต้พยานเพื่อความโปร่งใส
ขณะที่เวลา 10.30 น. มีรายงานที่เขตเลือกตั้ง ที่ 3 หน่วยเลือกตั้งที่ 27 บริเวณโรงเรียนไตรสามัคคี จังหวัดสมุทรปราการ มีรายงานว่ามีการฉีกบัตรลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร โดย ทรงพร อุดรพันธ์ ผู้ประสานงานประจำหน่วยเลือกตั้งดังกล่าว เปิดเผยว่า เกิดการฉีกบัตรเลือกตั้งจริง โดยเป็นหญิงสูงอายุคนหนึ่ง มีการหลงหลงลืม ๆ โดยเป็นการฉีกบัตรตรงรอยปะของบัตรลงคะแนน ซึ่งคุณยายเข้าใจผิดว่าให้ฉีกตามรอยปะ หลังจากที่คุณยายลงคะแนนแล้วจึงนำส่วนที่ฉีกมาให้ ทางเจ้าหน้าที่จึงทราบเรื่อง เบื้องต้นจึงเชิญตัวคุณยายไปยังศูนย์ประสานงานการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อสอบสวนอย่างละเอียดและดำเนินการตามระเบียบต่อไป
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่าคุณยายไม่มีเจตนาจะทำลายบัตรเลือกตั้งในครั้งนี้ หลังจากนี้คงต้องให้เจ้าหน้าที่ ประชาสัมพันธ์ให้ผู้สูงอายุที่มาใช้สิทธิ์เข้าใจและข้อห้ามของการทำลายบัตรลงคะแนน