เปิด 3 ข้อเรียกร้อง วอน สว.เคารพเสียงส่วนใหญ่ เลือกนายกฯ, รัฐบาลใหม่แก้รัฐธรรมนูญ, ยกเครื่อง กกต. พร้อมระบุ การเมืองไทยเปลี่ยนได้ และเปลี่ยนแล้ว
15 พ.ค. 2566 ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ เลขาธิการ มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (P-NET) ระบุว่า เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 ได้เป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่ง ที่ประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 75.22% ร่วมใจกันออกมาเปลี่ยนประเทศไทย อย่างสันติวิธีผ่านกระบวนการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตย เป็นคุณค่าความหมายที่ต้องจารึกไว้ ว่าการเมืองไทยสามารถเปลี่ยนได้ ปัญหาอุปสรรคต่าง ๆ สามารถก้าวข้ามได้ แม้แต่วงจรอุบาทว์ ปัญหาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง การใช้อำนาจอิทธิพล การจูงใจด้วยการใช้นโยบายรัฐเจ้าหน้าที่วางตัวไม่เป็นกลาง ก็ไม่สามารถที่จะเอาชนะสิทธิ์และเสียงของประชาชน ที่ต้องการแสดงเจตนารมณ์ของตนเองในการมีส่วนร่วมดูแลกำหนดอนาคตประเทศไทย
ในฐานะมูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) ขอแสดงความยินดีและชื่นชมการแสดงออกของประชาชน ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ไม่ว่าจะสังกัดพรรคไหนสีไหน หรืออยู่ในวัยใด โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ผู้พิการ หรือแม้แต่ ผู้ป่วย ที่มีจิตใจมุ่งมั่นออกมาใช้สิทธิ์เพื่อประชาธิปไตย เพื่อยืนยันถึงเจตนารมณ์ ความสำคัญของการเลือกตั้ง ว่าจะเป็นหนทางที่นำไปสู่การคลี่คลายความขัดแย้ง และการสร้างสรรค์ประเทศชาติร่วมกัน
มูลนิธิองค์กรกลางเพื่อประชาธิปไตย (พีเน็ต) จึงขอให้ทุกฝ่ายยอมรับผลการเลือกตั้ง และให้ผลการเลือกตั้งนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาลตามครรลองคลองธรรมของประชาธิปไตย ขอให้ทุกฝ่ายเคารพในมติมหาชน และขอเรียกร้อง ดังนี้
- สมาชิกวุฒิสภาเคารพเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกนายกรัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาล
- รัฐบาลใหม่รักษาคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งกับประชาชนโดยเฉพาะการจัดให้มีการลงประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยเร็ว
- คณะกรรมการการเลือกตั้ง ปรับปรุงแก้ไขระเบียบ และแนวการทำงานเพื่อแก้ปัญหากระบวนการบริหารจัดการเลือกตั้ง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในการจัดการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นการมีส่วนร่วมในคณะกรรมการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้ง คณะกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้ง (กปน.) และ โดยเฉพาะส่งเสริมองค์กรเอกชนมีส่วนร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ช่วงก่อนเลือกตั้งและมีอาสาสมัครสังเกตการณ์ อยู่ประจำทุกหน่วยเลือกตั้ง ตลอดจนการส่งเสริมการรณรงค์เผยแพร่ประชาธิปไตย จัดเวทีพูดคุยประชาธิปไตยในชุมชน เพื่อให้การออกเสียงลงคะแนนประชามติ หรือการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในอนาคตสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนอย่างแท้จริง