‘ชัยธวัช’ ยันคุย ส.ว.ตอบรับดี – ภาค ปชช. จี้เปิดทางคนรุ่นใหม่บริหารประเทศ

เลขาธิการพรรคก้าวไกล เผย MOU พรรคร่วมรัฐบาล กำลังเดินหน้า เชื่อ ส.ว.เห็นข้อตกลงร่วม 22 พ.ค.นี้ ยิ่งส่งผลเชิงบวก โหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

วันนี้ (20 พ.ค.66) ผู้สื่อข่าว Thai PBS รายงานว่า ชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยในฐานะผู้จัดการตั้งรัฐบาล ว่า ขณะนี้พรรครวบรวมเสียงได้ 313 เสียง ถือว่ามีเพียงพอ และมั่นคงแล้วตามหลักการประชาธิปไตยสากลทั่วไป หลังจากนี้ จะเดินหน้าคุยกับ ส.ว. เพื่อทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เพื่อนำพาบ้านเมืองไปต่อตามครรลองประชาธิปไตย ไม่ไปสู่ทางตัน ทั้งนี้จากที่ได้พูดคุยกับ ส.ว. จำนวนหนึ่ง พบว่า หลายท่านกังวลต่อทิศทางนโยบายต่างประเทศ การรักษาสมดุลของไทยในเวทีการเมืองโลก และ ส.ว. ไม่ต้องการเห็นรัฐบาลชุดใหม่ ทำให้เกิดความขัดแย้งทางการเมืองเพิ่มขึ้น เมื่อได้พบกัน ได้อธิบายจุดยืน และแนวทางของพรรคก้าวไกล ทาง ส.ว.ก็เข้าใจมากขึ้น

ชัยธวัช ตุลาธน

“ในวันที่ 23 พฤษภาคมนี้ จะมีประชุมวิสามัญวุฒิสภา และทราบมาว่าหลังการประชุมวุฒิสภา น่าจะมีการประชุมกันอย่างไม่เป็นทางการของ ส.ว. เรื่องแนวทางการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ผมเชื่อว่าเมื่อ ส.ว. ได้เห็นข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลวันที่ 22 พฤษภาคมแล้ว จะเข้าใจพวกเราดีขึ้น และนำไปสู่การตัดสินใจในเชิงบวกเพื่อผลักดันประเทศไปข้างหน้า”

ชัยธวัช ตุลาธน

ส่วนกระบวนการเจรจาร่าง MOU นั้น เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า ขณะนี้เดินหน้าไปได้ด้วยดี ทุกพรรคกำลังพิจารณาและนำเสนอวาระสำคัญของแต่ละพรรคเพื่อมารวมกันเป็นข้อตกลงร่วมจัดตั้งรัฐบาล โดยในวันพรุ่งนี้ (21 พ.ค.66) จะพูดคุยกับแต่ละพรรคอีกครั้ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปร่วมกันในวันที่ 22 พฤษภาคมนี้

“วาระสำคัญใน MOU จะตอบสนองต่อเสียงประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า ประชาชนต้องการความเปลี่ยนแปลงทั้งในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างเป็นธรรม และปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย มีนิติรัฐ โปร่งใส ปราศจากการทุจริต และแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมาเพื่อให้ประเทศสามารถเดินหน้าไปสู่อนาคตได้”

ชัยธวัช ตุลาธน

ภาคประชาชนใต้ วอน ส.ว. โหวตหนุน นายกฯ-รัฐบาล เสียงข้างมาก

เมื่อวันที่ ( 19 พ.ค.66 ) เครือข่ายองค์กรชุมชน 14 จังหวัดภาคใต้ ตัวแทนเครือข่ายประชาชน ภาคธุรกิจ ภาควิชาการ ภาคใต้ กว่า 30 องค์กร ร่วมเวที ประกาศจุดยืนเรียกร้องพรรคการเมืองและสมาชิกวุฒิสภาหรือ ส.ว. เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชน ในการเลือกนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์

ธีรภัทร์ คหะวงศ์  ครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน กล่าวว่า การเลือกตั้งรอบนี้ ถือว่ากลุ่มเยาวชนมีการตื่นตัวและส่วนร่วมเป็นอย่างมาก ตนคิดว่าที่เด็กเยาวชนให้ความสำคัญต่อการเลือกตั้ง  ไม่ใช่เรื่องของกระแส แต่เพราะมองว่าเป็นความหวัง เพราะเยาวชนที่เพิ่งได้เลือกตั้งเป็นครั้งแรก อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยไม่ได้มีเสรีภาพในการแสดงออกเต็มที่ การเลือกตั้งครั้งนี้ จึงอยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม  ดังนั้นทั้งทุกพรรคที่ได้รับคะแนนเสียง คือได้รับการไว้วางใจจากประชาชน สิ่งที่เรียกร้องจึงขอให้ทุกพรรคใช้โอกาสนี้ ทำหน้าที่ ที่ได้รับมอบหมายจากประชาชน เลือกพรรคที่ได้รับการไว้วางใจมากที่สุดจากประชาชน เป็นผู้นำในการจัดตั้งรัฐบาล แสดงให้ประชาชนได้เห็นว่าท่านเคารพเสียงประชาชน รวมถึงขอเรียกร้องไปยังส.ว.ด้วย   

“ท่านจำเป็นอย่างมากที่ต้องเคารพเสียงประชาชน ท่านต้องเลือกว่า อยากให้เราจดจำท่านแบบไหน อยากให้จดจำในฐานะวุฒิสมาชิกที่สนับสนุนเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนให้บริหารประเทศ หรืออยากให้จดจำในนามคนแก่ ที่ขัดขวางไม่ยอมรับฟังเสียงและความเห็นประชาชน “ 

ธีรภัทร์ คหะวงศ์  
สินชัย รู้เพราะจีน

สินชัย รู้เพราะจีน เครือข่ายสิทธิชุมชนพัฒนาภูเก็ต กล่าวว่า เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง (คปสม.) เกิดขึ้นมาไม่ต่ำกว่า 20 ปี ต่อสู้หลายด้าน ทั้ง เรื่องชาติพันธุ์ เรื่องที่ดินเรื่องที่อยู่อาศัย เรื่องสาธาธารณูปโภค และอื่น ๆ อีกมากมาย เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง มีความเท่าเทียมในสังคมและเราพูดกันมาตลอด ว่าสิ่งที่เราต้องการคือประชาธิปไตย  และยังเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) นำเสนอเรื่องนี้เป็น 1 ใน 9 ข้อ ที่ยื่นต่อรัฐบาลพรรคการเมืองต่าง ๆ ว่าต้องการประชาธิปไตย ที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญและเคารพบนหลักการนี้ 

“ซึ่งพิสูจน์ว่าวันนี้ เราได้มาแล้วคำว่าประชาธิปไตย และได้เสียงส่วนใหญ่ ความต้องการส่วนใหญ่ของประชาชนมาแล้ว คือพรรคการเมืองที่โดนใจ ที่จะสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน  และ ส.ว.เองก็เห็นอยู่ว่า ที่ผ่านมาอะไรเกิดขึ้นบ้าง โดยเราคงไม่ต้องมาย้ำที่มาของส.ว.แล้ว พวกเราต้องการประชาธิปไตยเสียงข้างมากและถึงเวลาที่ต้องทำตามมติของประชาชน  “ 

สินชัย รู้เพราะจีน 

เช่นเดียวกับ ทัศนา นาเวศน์ เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง จ.พังงา (คปสม.พังงา) เห็นว่าสิ่งสำคัญที่สุดในระบอบประชาธิปไตย คือต้องยอมรับเสียงข้างมาก และตอนนี้ชัดว่าเป็นประวัติศาสตร์ มีพรรคการเมืองเสียงข้างมาก และร่วมหลายพรรคจัดตั้งรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหาให้ประชาชนสิทธิประชาขนเลือกมาตามรัฐธรรมนูญ แต่จากกระแสและมีการเสนอข่าว คือกังวลต่อเสียง ส.ว.ที่ตั้งมาจากรัฐธรรมนูญของ คสช. ทั้ง 250 คน ไม่ได้มาจากประชาชนเลือกมา แล้วจะใช้อำนาจเหนือกว่าประชาธิปไตยซึ่งตนไม่เห็นด้วย และที่ ส.ว.หลายคน เริ่มออกมาแสดงความเห็น ไม่เห็นด้วยกับประชาชนและก่อให้เกิดความแตกแยกไม่ถูกต้อง ส.ว.จึงควรสนับสนุนและเคารพเสียงประชาชนเลือกมา เปิดโอกาสให้รนรุ่นใหม่ได้ทำงานให้ประเทศ

ทัศนา นาเวศน์

ภายหลังการสะท้อนและแสดงความคิดเห็นตัวแทนเครือข่ายต่าง ๆ พวกเขาได้ร่วมกัน ประกาศจุดยืนประชาชนภาคใต้ เรียกร้องให้พรรคการเมืองและ ส.ว. เคารพเสียงส่วนใหญ่ของประชาชนในการเลือกนายกฯ จัดตั้งรัฐบาลเดินหน้าสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ดังนี้

1. สมาชิกวุฒิสภา ต้องเคารพเสียงของประชาชนส่วนใหญ่ ด้วยการรับรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 คือ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และคณะรัฐบาลชุดใหม่ที่พรรคก้าวไกลเป็นแกนนำจัดตั้ง เพื่อไปสู่รัฐบาลใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์มากกว่าที่จะมุ่งรักษาและสืบทอดอำนาจของกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนจากคณะรัฐประหาร

2. ขอเรียกร้องให้กลุ่มการเมืองต่าง ๆ เคารพการตัดสินใจของประชาชนจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ โดยไม่กระทำการใดที่ผิดแผกไปจากวัฒนธรรมและมารยาททางการเมืองที่จะต้องเคารพพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมาก ที่จะต้องได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลตามครรลองของระบอบประชาธิปไตย

3. คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะต้องเร่งดำเนินการรับรองสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยเร็วและต้องไม่ตกเป็นเครื่องมือของกลุ่มอำนาจเก่า ที่กำลังกดดันเพื่อให้มีการถอดถอน พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รวมถึงการยุบพรรคการเมืองเพื่อหวังที่จะให้ขั้วอำนาจเดิมกลับเข้ามาจัดตั้งรัฐบาลแทนที่

เครือข่ายประชาชนภาคใต้ หวังว่าขอเรียกร้องทั้ง 3 ข้อนี้ จะได้รับการยอมรับ และออกมาสนับสนุนฉันทามติของประชาชนทั้งประเทศในครั้งนี้โดยทั่วกัน ทั้งเรียกร้องให้องค์กรภาคีเครือข่ายต่าง ๆ ได้ออกมาแสดงจุดยืนดังกล่าวร่วมกัน เพื่อตอกย้ำเจตจำนงของประชาชนทั่วประเทศ ให้พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดได้เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว ป้องกันไม่ให้กลุ่มอำนาจนอกระบบ อาศัยช่องว่างของกระบวนการทางประชาธิปไตย กลับเข้ามามีอิทธิพลเหนือการเมืองได้อีกต่อไป

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active