‘ก้าวไกล’ นำ 32 ว่าที่ ส.ส. กรุงเทพฯ หารือคณะผู้บริหาร กทม. ‘ชัชชาติ’ ย้ำ จุดมุ่งหมายเดียวกัน ทำประโยชน์สูงสุดให้ประชาชน ‘พิธา’ ดัน เลือกตั้ง ผอ.เขต ย้ำ หลายเรื่องต้องผลักดันแก้กฎหมายในสภา เพิ่มอำนาจผู้ว่าฯ กทม.
6 มิ.ย. 2566 ที่ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (เสาชิงช้า) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมประชุมหารือแนวทางการทำงานในอนาคตเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมด้วยผู้บริหารและว่าที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล และคณะผู้บริหารกรุงเทพมหานคร เพื่อออกแบบการทำงานร่วมกันในฐานะที่พรรคก้าวไกลเป็นพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุดในกรุงเทพฯ จำนวน 32 คน จากทั้งหมด 33 เขต ตามการรายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)
ในการหารือครั้งนี้ ชัชชาติ ได้กล่าวถึง 21 ข้อเสนอ Empower Bangkok เช่น เรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง การแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ปัญหาการจราจร ปัญหาน้ำท่วม โดยพิธาได้ชื่นชมการทำงานของ กทม. ที่นำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ไขปัญหาของประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการภาครัฐได้สะดวกยิ่งขึ้น ลดช่องว่างระหว่างรัฐกับประชาชน พร้อมระบุว่าหลายข้อเสนอของผู้บริหาร กทม. ตรงกับ 300 นโยบายของพรรคก้าวไกลและตรงกับร่างกฎหมายจำนวน 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลเตรียมยื่นทันทีเมื่อเปิดสภาฯ ทั้งนี้ ระหว่างหารือ ว่าที่ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นและให้ข้อเสนอแก่ผู้ว่าฯ กทม. ด้วย
ชัชชาติ กล่าวภายหลังใช้เวลาประชุมร่วมกันกว่า 1 ชั่วโมง ว่ายินดีต้อนรับทีมพรรคก้าวไกล การหารือวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี เพราะการจะขับเคลื่อนเรื่องใดไปข้างหน้า การร่วมมือกันตั้งแต่ต้นเพื่อสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ จึงขอขอบคุณนายพิธาที่ให้ความเห็นที่เป็นประโยชน์ วันนี้เป็นก้าวแรกของการเดินทางไกล ทั้ง กทม. และพรรคก้าวไกลมีเป้าหมายเดียวกันคือผลประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ด้าน พิธา กล่าวขอบคุณผู้ว่าฯ กทม. เช่นกัน สิ่งสำคัญคือต้องก้าวด้วยกันซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่พรรคคิดมาโดยตลอดในการทำงานอย่างไร้รอยต่อ ปัญหาของกรุงเทพฯ ทั้งเรื่องเก่าและความท้าทายใหม่ จะแก้ไขได้อย่างฉับไวมีประสิทธิภาพ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน ตั้งแต่ระดับรัฐบาล รัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฎร ผู้ว่าฯ กทม. และสภา กทม. ที่ผ่านมาการทำงานมี 3 อุปสรรคสำคัญ คือข้อจำกัดด้านกฎหมาย ข้อจำกัดด้านงบประมาณ และการประสานงานระหว่างรัฐสภากับสภา กทม. หากแก้ไขทั้งหมดนี้ได้ จะทำให้ กทม. ทำงานได้คล่องตัวมากขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาของประชาชน
สำหรับการหารือมี 3 ประเด็นหลัก ประเด็นที่หนึ่ง คือข้อเสนอ 21 ข้อของ กทม. ซึ่งต้องอาศัยการประสานงานกับรัฐสภาในการแก้ไขกฎหมาย พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือ เช่น การแก้ไขฝุ่น PM2.5 ในกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่มีสาเหตุจากรถยนต์ ถ้ารถน้อยกว่า 4 ล้อ กทม. มีอำนาจในการตรวจ แต่ถ้ามากกว่า 4 ล้อ จะเป็นอำนาจของกระทรวงอื่น
ประเด็นที่สอง คือร่างกฎหมาย 45 ฉบับที่พรรคก้าวไกลจะเสนอต่อสภาฯ ที่เกี่ยวข้องกับ กทม. คือการแก้ไขพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าเขต และประเด็นที่สาม คือการตั้งคณะกรรมการเปลี่ยนผ่านในการทำงานระหว่างพรรคก้าวไกลและ กทม. (Bangkok Transition Team) โดยพรรคก้าวไกลมีพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ เป็นประธาน ส่วน กทม. มีต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน หลังจากนี้คณะทำงานจะมีการประชุมติดตามความคืบหน้ากันต่อไป เพื่อประโยชน์ของพี่น้องประชาชนกรุงเทพฯ ทุกคน
พิธา กล่าวย้ำว่า วันนี้เป็นการมาหารือในฐานะของพรรคก้าวไกล เรื่องเร่งด่วนช่วงฤดูฝนมีเรื่องการจัดการระบายน้ำ แก้ปัญหาเรื่องน้ำทะเล การคมนาคม ต้องสามารถเอาเทคโนโลยีเข้ามาร่วมได้ เรื่องรถติดต้องแก้ไขให้ได้มากที่สุด แต่ไม่จบแค่ที่ กทม. ต้องแก้ถึงปริมณฑลได้ด้วย
ในประเด็นเรื่องการแก้ไขเรื่องคอร์รัปชัน พิธา กล่าวว่า ข้าราชการที่ดีมีเยอะ แต่อาจจะมีข้าราชการบางคนที่ใช้โอกาสของการใช้ดุลยพินิจในขั้นตอนการขอใบอนุญาตมาทุจริต เรียกรับสินบน ขณะนี้วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ติดตามประเด็นนี้ และล่าสุดเมื่อช่วงเช้าที่พรรคเพื่อไทยได้มีการตั้งคณะกรรมการที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่งวิโรจน์ทำงานในคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วย ซึ่งไม่ได้ดูปัญหาแค่ในกรุงเทพฯ แต่ดูครอบคลุมทั้งประเทศ เช่น ส่วยน้ำมัน ส่วยโรงเรียน รวมถึงใบอนุญาตต่าง ๆ ที่พบว่าข้าราชการมีการยืดเวลาเพื่อเรียกรับเงินใต้โต๊ะ
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าเรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียวและการย้ายท่าเรือคลองเตยจะมีการหารือเลยหรือไม่ พิธา กล่าวว่าประเด็นดังกล่าวจะอยู่ในการประชุมของคณะกรรมการ Bangkok Transition Team