ระดมสมองร่วม ลดอันตรายยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร

กทม. เน้น 4 กลยุทธ์ ป้องกันและบำบัดยาเสพติด ขยายการเฝ้าระวังและฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน มากกว่า 500 ชุมชน พร้อมทำให้คนรู้จักเข้าใจตัวเอง เพื่อลดอันตรายจากยาเสพติด และปัญหากับชุมชน

วันนี้ (6 มิ.ย. 2566) ที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร มูลนิธิรักษ์ไทยและภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาครัฐ และสื่อ ร่วมเสวนาพิเศษหัวข้อ “ลดอันตรายยาเสพติดในกรุงเทพมหานคร” โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้และทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหายาเสพติด ภายใต้นโยบายการลดอันตรายจากยาเสพติด รวมถึงทิศทางแนวทางแก้ไขปัญหายาเสพติด การลดอันตรายภายใต้ข้อกำหนดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และบูรณาการแนวทางการทำงานของทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน

นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในส่วนของสถานการณ์กรุงเทพมานคร นั้นไม่เพียงแต่การจับกุม แต่ยังพยายามดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันในหลากหลายกระบวนการ และดำเนินการภายใต้นโยบายของรัฐบาล ในเรื่องการป้องกันและบำบัดยาเสพติด แบ่งเป็น 4 กลยุทธ์ คือ การป้องกัน การปราบปราม การรักษาบำบัดฟื้นฟู และการบริหารจัดการ

ด้านการป้องกันนั้นได้ร่วมดำเนินการกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด และกระทรวงสาธารณสุข อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การเฝ้าระวังในพื้นที่ชุมชน และการลดอันตรายในมุมของผู้ใช้ยาเสพติดที่ทำอย่างไรไม่ให้กลับไปใช้อีก รวมถึงเรื่องครอบครัวก็มีส่วนสำคัญที่จะช่วยลดอันตรายยาเสพติด และทางกรุงเทพมหานครได้ขยายมาสู่โครงการ ‘การบำบัดฟื้นฟูโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน’  หรือที่เรียกว่า ‘CBTX’ โดยดำเนินการมากว่า 500 ชุมชน

นอกจากนี้ ยังอยากให้การเจ็บป่วยจากการใช้ยาเสพติดลดลง โดยการเข้าสู่กระบวนการรักษาฟื้นฟูได้ทันท่วงทีเพื่อลดอันตรายจากการใช้ยาเสพติดเมื่อมีการใช้เกิดขึ้น เน้นที่การช่วยเหลือผู้ป่วยจากการใช้ยาเสพติดเข้าสู่กระบวนการบำบัด

ด้าน พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวว่า ผู้ที่ใช้ยาเสพติด ถือว่าเป็นผู้ป่วย ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ แม้การรักษาด้วยการบำบัดจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่การบำบัดเมื่อเริ่มต้นแล้วก็มีการจบลง ในขณะที่การใช้ยาเสพติดก็ยังคงเป็นปัญหาอยู่ เพราะเมื่อบำบัดเสร็จแล้วก็อาจเกิดการกลับไปเสพติดอีกครั้ง ดังนั้น เมื่อยังหยุดการใช้ยาเสพติดไม่ได้จะทำอย่างไรให้อันตรายน้อยลง การลดอันตรายจากยาเสพติดก็คือการทำให้คนรู้จักและเข้าใจตัวเอง ถ้ามีทางเลือกในการบำบัดก็สามารถบำบัดได้ ถ้ายังเข้าบำบัดไม่ได้ก็มีเทคนิคอื่น ๆ ที่จะช่วยลดอันตราย

นพ.ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติด กระทรวงสาธารณสุข มองว่า ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้ยาเสพติดในระดับไหนก็ควรได้รับการบำบัดรักษา นอกจากนี้หน่วยงานต่าง ๆ ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของคุณภาพ และมาตรฐานของการบำบัดรักษาผู้ป่วยยาเสพติด โดยเฉพาะเรื่องการลดอันตราย ดังนั้น การลดอันตรายจากยาเสพติด ก็คือ การลดปัญหาผู้ติดยาเสพติดโดยการเข้าสู่กระบวนการบำบัดที่ทางกระทรวงสาธารณสุขได้วางเป้าหมายไว้ เพื่อนำไปสู่การลดและเลิกเสพยา รวมถึงลดอันตรายที่เกิดจากการใช้ยาเสพติด และปัญหาที่เกิดกับชุมชนด้วย

ทางภาคสื่อ ทายาท เดชเสถียร และ พิศาล แสงจันทร์ ผู้ผลิตรายการท่องเที่ยวเชิงสารคดี รายการ “หนังพาไป” พูดถึงประสบการณ์จากการเดินทางไปประเทศมาเลเซีย เดนมาร์ก และเนเธอร์แลนด์ และได้ทำความเข้าใจว่าการลดอันตรายจากยาเสพติดคืออะไร ซึ่งไม่มีประเทศไหนในโลกที่ปลอดยาเสพติด ดังนั้น การลดอันตรายจึงเป็นมาตราการที่สำคัญในเมื่อไม่สามารถห้ามการใช้ยาเสพติด ซึ่งก่อนเดินทางมีมุมมองว่าทำไมต้องลดอันตรายจากสารเสพติด แต่หลังจากเดินทางก็ได้เปิดมุมมองว่ายังมีแนวทางมากมายที่สามารถลดอันตรายจากสารเสพติดได้ ไม่ใช่แค่เรื่องการบำบัด หรือการติดคุก เท่านั้น แต่ยังมีอะไรซ่อนอยู่อีกมากที่คนทั่วไปยังไม่เข้าใจ

ในฐานะสื่ออาจจะต้องทำการบ้านเยอะขึ้นในประเด็นยาเสพติด เพราะเวลาพูดหรือนำเสนออกไปมีคนฟังเยอะ และมีศักยภาพในการสื่อสารเยอะ ในเรื่องยาเสพติดอาจจะค่อย ๆ รื้อความคิดเดิมที่ว่ายาเสพติดเป็นพิษต่อสังคม เป็นการคิดว่าจะมองผู้ใช้ยาเสพติดในท่าทีแบบไหน และควรปฏิบัติกับเขาเหล่านั้นอย่างไร คิดว่าในอนาคตแนวคิดของต่างประเทศอาจจะค่อย ๆ เข้ามาผสมกับบริบทสังคมไทย และสื่อจะเป็นตัวกลางที่ทำให้สังคมเข้าใจมากขึ้น

ช่วงท้ายของการเสวนา พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ ได้พูดย้ำถึงการลดอันตรายยาเสพติด ว่า ไม่ใช่การใช้ยาเสพติดอย่างเสรี แต่เป็นการทำความเข้าใจธรรมชาติของโลกว่ายาเสพติดอยู่กับเรา เราจะอยู่ไปกับสิ่งนี้อย่างไร โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ยาอยู่ในชนิดต่าง ๆ ท่ามกลางสังคม ทำอย่างให้คนเหล่านี้ปลอดภัย เพราะถ้าคนเหล่านี้มีความปลอดภัย มีคนที่สามารถให้คำปรึกษาได้ เขาก็จะสามารถตัดสินใจได้ แต่ถ้าสังคมตีตราว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิดหรือมีบาป เขาก็จะยิ่งถอยห่างออกไป แล้วผลกระทบที่เกิดขึ้นก็จะส่งผลต่อคนในสังคมด้วย ทั้งครอบครัวและชุมชน เพราะฉะนั้นการให้คนเหล่านี้กลับเข้าสู่สังคมได้จึงเป็นเรื่องที่ดี

“วันยาเสพติดโลกปีนี้อาจจะไม่เหมือนที่ผ่านมา เนื่องจาก พ.ร.บ.ยาเสพติดของไทย ได้พูดถึงการลดอันตรายจากยาเสพติด ดังนั้น สังคมควรช่วยกันคิดเส้นทางที่จะเดินต่อไปเพื่อจะทำให้คนในสังคมอยู่ร่วมกันได้”

พร้อมบุญ พานิชภักดิ์ เลขาธิการมูลนิธิรักษ์ไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active