ศึกนโยบายกัญชา! เครือข่ายฯ บุก สธ. ร้องหยุดตีตรายาเสพติด ขอรอ พ.ร.บ.กัญชา

ย้ำ คงสถานะ ‘พืชสมุนไพร’ เสนอจัดทำประกาศควบคุมชั่วคราว แทนการผลักดันกลับเข้าบัญชียาเสพติด ชี้ สเปกปลูกช่อดอก-ใบสั่งแพทย์ เอื้อทุนใหญ่ ทำลายสิทธิประชาชน เสนอจัดตั้งคณะทำงานร่วม ประเมินผลกระทบรอบด้าน ขณะที่ รัฐ ยัน ยังไร้วาระดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด

วันนี้ (7 ก.ค. 68) เครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย รวมตัวครั้งใหญ่ที่กระทรวงสาธารณสุข หลังจากพรรคภูมิใจไทย ถอนตัวจากรัฐบาล จนส่งแรงกระเพื่อมมาถึงนโยบายกัญชา ที่กระทรวงสาธารณสุข ภายใต้ สมศักดิ์ เทพสุทิน ต้องการควบคุมให้ใช้ทางการแพทย์เท่านั้น 

เนื้อหาในหนังสือที่ยืนต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นอกจากจะเรียกร้องหยุดนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด แล้วเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ยัง ขอให้คงสถานะของกัญชาไว้ในฐานะพืชสมุนไพร และรอให้มี “พระราชบัญญัติกัญชา” ซึ่งเป็นกฎหมายเฉพาะมาควบคุม

ในระหว่างรอกฎหมายฉบับนี้ ขอให้ใช้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดมาตรการควบคุม เพื่อดึงข้อดีของกัญชามาใช้ และควบคุมผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และขอให้จัดตั้งคณะกรรมการร่วมชุดหนึ่ง จัดระบบข้อมูล และวิเคราะห์สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบด้าน เพื่อนำไปสู่การออก ประกาศกระทรวง ที่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

ขณะที่ ประสิทธิ์ชัย หนูนวล เลขาธิการเครือข่ายเขียนอนาคตกัญชาไทย ระบุว่า จากประสบการณ์ของผู้ใช้จริง กัญชาไม่ได้เป็นสาเหตุให้เกิดโรคจิตอย่างที่ถูกกล่าวอ้าง พร้อมตั้งข้อสังเกตต่อความไม่สอดคล้องของนโยบายรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในแต่ละยุค

“ทำไมในสมัยรัฐมนตรีอนุทินถึงระบุว่ากัญชาไม่ใช่ยาเสพติด แต่เมื่อเปลี่ยนมาเป็นรัฐมนตรีสมศักดิ์กลับบอกว่าเป็นยาเสพติด ?”

ประสิทธิ์ชัย หนูนวล

ประสิทธิ์ชัย ยังตั้งคำถามถึง ความไม่เท่าเทียมในการควบคุมสารเสพติดอื่น ๆ ว่า ทำไมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ ซึ่งมีพิษภัยมากเช่นกัน กลับไม่มีการควบคุมการใช้ผ่านใบสั่งแพทย์เหมือนกัญชา ?

ทั้งยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาการจำกัดสิทธิของประชาชนในการใช้และปลูกกัญชา โดยเฉพาะการออกมาตรฐานควบคุม เช่น การบังคับให้มีใบรับรอง GACP สำหรับการปลูกกัญชา ซึ่งเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนใหญ่และทำลายสิทธิของเกษตรกรรายย่อยและประชาชนทั่วไป

ประสิทธิ์ชัย ยังอ้างถึงงานวิจัยจากสหรัฐอเมริกา ที่พบว่า ในรัฐที่มีกฎหมายเปิดให้ใช้กัญชาอย่างถูกกฎหมาย อัตราการใช้บุหรี่ เหล้า และยาเสพติดชนิดรุนแรงกลับลดลง และเตือนว่า การนำข้อมูลที่ไม่เป็นข้อเท็จจริงมาสร้างเป็นมาตรฐานในการกำหนดนโยบาย อาจส่งผลเสียในระยะยาว และทำให้กัญชาถูกตีตราอย่างไม่เป็นธรรม

ขณะที่ กัญชายังมีศักยภาพในการใช้รักษาโรค เช่น มะเร็ง และสะเก็ดเงิน ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากผู้ป่วยจำนวนมาก หากเทียบกับยาเสพติดประเภทอื่น เช่น ยาบ้า กัญชามีความอันตรายน้อยกว่ามาก และมีอัตราการเสพติดที่ต่ำกว่าอย่างชัดเจน

สธ.ย้ำยังไม่มีวาระดันกัญชากลับเป็นยาเสพติด 

ด้าน นายกองตรี ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงกรณีความกังวลของเครือข่ายผู้ใช้กัญชา หลังเข้ายื่นหนังสือต่อกระทรวงสาธารณสุข โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีวาระหรือแนวโน้มในการผลักดันให้กัญชากลับมาเป็นยาเสพติดตามกฎหมาย พร้อมย้ำแนวทางรัฐคือการใช้ประโยชน์ควบคู่มาตรการควบคุมที่เหมาะสม

เลขานุการ รมว.สธ. ยอมรับว่า แม้กัญชาจะมีประโยชน์ในทางการแพทย์และบางคนใช้แล้วได้ผลดี แต่ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ว่ามีผู้ใช้บางรายที่ได้รับผลกระทบ เช่น อาการแพ้ หรือเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่ได้อยู่ในความดูแลของบุคลากรทางการแพทย์

ทั้งยังระบุว่า แนวทางการใช้กัญชาอย่างปลอดภัยควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือผู้ที่มีความรู้ เช่น แพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้านที่มีความเข้าใจในคุณสมบัติและการใช้กัญชา ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการควบคุมการใช้ให้ปลอดภัย

“การควบคุมจึงจำเป็นต้องมี โดยเฉพาะในกรณีที่กัญชาถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น เยลลี่กัญชาที่เด็ก 2 ขวบกินเข้าไปถึง 10 เม็ดจนหมดสติ เหตุการณ์แบบนี้คือสิ่งที่รัฐต้องมีมาตรการควบคุมควบคู่กับการใช้ประโยชน์ทางการแพทย์”

ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์

ทั้งนี้ รัฐบาลยืนยันว่า ประกาศและแนวทางล่าสุดของกระทรวงฯ ยังไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ที่ใช้กัญชาในปัจจุบัน โดยเฉพาะผู้ใช้เพื่อการรักษาอย่างถูกต้อง ส่วนเสียงสะท้อนจากสังคมที่มีทั้งฝั่งที่เห็นว่ากัญชาสร้างประโยชน์ และอีกฝั่งที่กังวลผลกระทบ รัฐเปิดพื้นที่ให้มีส่วนร่วมจากทุกกลุ่มเพื่อหาทางออกร่วมกัน

โดยปัจจุบันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้อนุมัติผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชามากกว่า 600 รายการ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่ม อาหาร หรือสมุนไพร แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้ปฏิเสธศักยภาพของกัญชา แต่เน้นสร้างความเข้าใจและการใช้ที่ปลอดภัย

“วันนี้เราอาจเห็นต่างกันบ้าง แต่ยังสามารถเดินไปด้วยกันได้ ความกังวลว่ารัฐจะดันกัญชากลับไปเป็นยาเสพติด อย่าเพิ่งวิตก เพราะเรื่องนี้ยังไม่มีอยู่ในวาระ”  

ธนกฤต จิตรอารีย์รัตน์

นอกจากนั้น เครือข่ายกัญชาฯ ยังเรียกร้องให้รัฐทบทวน 2 ประเด็นหลัก คือ สเปกการปลูกช่อดอกกัญชา และ ระบบใบสั่งจ่ายโดยแพทย์ โดยเห็นว่า แนวทางที่กำลังจะออกมาอาจส่งผลให้กลุ่มทุนรายใหญ่ได้เปรียบ และเปิดช่องให้มีการซื้อขายใบสั่งจ่ายโดยผิดกฎหมาย

แต่ เลขานุการ รมว.สธ. ยืนยันว่า รัฐมีความจำเป็นต้องควบคุมมาตรฐานช่อดอกกัญชา โดยเฉพาะที่วางขายในร้านค้า ซึ่งบางครั้งพบสารตกค้างอันตราย เช่น ยาฆ่าแมลง หรือเชื้อรา ส่วนการลักลอบซื้อขายใบสั่งจ่ายจากบุคคลที่อ้างตัวเป็นแพทย์ ทั้งที่ไม่มีใบประกอบวิชาชีพจะรับไปตรวจสอบ 

ย้ำไม่ได้เอื้อทุน เตือนหากไร้ระเบียบ อาจกลับเป็นยาเสพติด

ด้าน สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่แม้วันนี้ไม่ได้เข้าปฏิบัติงานที่กระทรวงฯ ในวันที่กลุ่มผู้สนับสนุนกัญชานัดรวมตัวชุมนุม โดยมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ดูแลแทน พร้อมแสดงความห่วงใยต่อสุขภาพผู้ชุมนุมหากมีการค้างคืน

พร้อมยืนยันว่า นโยบายกัญชาไม่ได้เอื้อประโยชน์กลุ่มทุน แต่จำเป็นต้องมีการควบคุม หากจัดระเบียบไม่ได้ อาจต้องพิจารณานำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด แม้ยอมรับว่ายังไม่สามารถดำเนินการได้ในรัฐบาลชุดนี้

ในระยะสั้น เตรียมออกประกาศควบคุมกัญชาในฐานะสมุนไพรควบคุม และสั่งคุมเข้มการผสมกัญชาในอาหาร-ขนม ป้องกันอันตรายต่อผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้แพ้สารกัญชา

ขณะเดียวกัน ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มขับเคลื่อนมาตรการตามประกาศ กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม โดย นพ.นิธิรัตน์ บุญตานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ตรวจร้านค้าจำหน่ายผลิตภัณฑ์กัญชาแปรรูป ให้เป็นไปตามกฎหมายใหม่

ประกาศกระทรวงฯ ฉบับปี 2568 ระบุให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม ต้องจำหน่ายภายใต้การกำกับและเน้นการใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น จากการตรวจสอบพบว่า ร้านค้าส่วนใหญ่มีใบอนุญาตถูกต้อง ผลิตภัณฑ์แปรรูปมีฉลาก อย. ครบถ้วน และได้รับคำแนะนำให้จำหน่ายช่อดอกเฉพาะผู้ที่มีความจำเป็นทางการแพทย์ตามข้อกำหนด

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active