ชี้ ปัญหาประมง ไม่ใช่เรื่องที่ประมงพาณิชย์และประมงพื้นบ้านต้องตกลงกันเท่านั้น เห็นด้วยหากจะเดินหน้าแก้ไข พ.ร.ก.การประมง 2558 แต่ต้องยืนบนหลักการแก้ไขให้ดีขึ้น ไม่ใช่สร้างความเสียหายทำลายทรัพยากร พร้อมเสนอ 4 ประเด็นปฏิรูปประมงเพื่อความยั่งยืน
วันนี้ (28 มิ.ย. 66) จากกรณีที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ไปพบภาคีเครือข่ายประมงและธุรกิจต่อเนื่องเมื่อวันที่ 27 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งนำโดยสมาคมประมงแห่งประเทศไทย เพื่อรับฟังเสียงสะท้อนปัญหาและผลกระทบความเดือดร้อนในการทำประมง พร้อมรับปากจะเร่งแก้ปัญหาตามข้อเสนอของภาคีเครือข่ายประมงและธุรกิจต่อเนื่องทันทีหากได้เป็นรัฐบาล ทั้งการเดินหน้าแก้ไข พ.ร.ก.การประมงปี 2558ม การแก้ไข คำสั่ง กฎกระทรวง ที่เป็นปัญหาและอุปสรรค, การแก้ไขปัญหาอุตสาหกรรมประมงทั้งระบบ, กระจายอำนาจการตัดสินใจในเรื่องของกำหนดเรื่องทะเลชายฝั่งให้คณะกรรมการประมงจังหวัด และย้ำว่าถึงเวลาที่ต้องมีการทำงานของรัฐกับเอกชนในเรื่องนี้อย่างจริงจัง
ต่อประเด็นนี้ ในมุมของเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคมที่ขับเคลื่อนประมงเพื่อความยั่งยืน โดย วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย เปิดเผยกับ The Active ว่า การที่แกนนำเตรียมจัดตั้งรัฐบาล อย่างพรรคก้าวไกล ไปรับฟังเสียงของกลุ่มประมงเมื่อวานนี้เป็นเรื่องปกติที่ควรต้องทำอยู่แล้ว เพราะชัดเจนว่าที่นั่นก็เป็นฐานเสียงสำคัญ แต่ขณะเดียวกันก็เห็นว่าต้องรับฟังเสียงทุกฝ่ายอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะกลุ่มประมงในท้องถิ่น ที่เขาทำประมงพื้นบ้านกันจริง ๆ และกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศซึ่งอาจจะรวมตัวกันยาก เพราะไม่มีงบประมาณในการรวมตัวเดินทางมาพบ อันนี้ก็เป็นโจทย์ท้าทายของพรรคการเมืองที่บอกมาตลอดว่า มีกระบวนการทำงานแบบใหม่ มีคณะทำงาน และมีทรัพยากรบุคคล ที่จะลงไปทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน อันนี้ก็ต้องจับตาว่าจะทำยังไงให้ได้เสียงสะท้อนที่ครอบคลุม และแก้ปัญหารอบด้าน
นอกจากนี้ ยังต้องรวมถึงกลุ่มอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพราะเรื่องประมง ไม่ใช่แค่เรื่องของประมงพาณิชย์ กับ ประมงพื้นบ้าน แต่เกี่ยวข้องกับทุกคนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรทางทะเลในประเทศ ทั้งผู้บริโภค ภาคประชาสังคมกลุ่มอนุรักษ์ทรัพยากร และนักวิชาการ
วิโชคศักดิ์ ยังเห็นว่า หากจะเดินหน้าแก้ไขปัญหาประมงเพื่อความยั่งยืน ตามที่เขียนไว้ใน MOU ของพรรคร่วมต้องครอบคลุม 4 เรื่องหลัก คือ 1.ระบบการออกแบบบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำในทะเลไทย หรือแม้แต่น้ำจืดก็ตาม มีกลไกมาตรการ กฎหมายที่สำคัญ คือ พ.ร.ก.การประมง ซึ่งที่ผ่านมาหลายพรรคการเมืองรวมถึงพรรคก้าวไกล เสนอเรื่องนี้เป็นนโยบาย ที่อยากเดินหน้าแก้ไขทุกพรรค ซึ่งเราก็เห็นว่า เรื่องนี้ยังเป็นภารกิจสำคัญที่ถ้าอยากให้การประมงยั่งยืนจริง ก็ต้องแก้จริงจัง แต่ต้องยืนบนหลักแก้แล้วไม่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้นหรือส่งผลกระทบต่อทรัพยากร คือแก้ไขต้องดีขึ้น ไม่ใช่แย่ลง
“ต้องไปดูรายละเอียด ว่าไปแก้จุดไหนอย่างไร ตรงตามที่มันจะทำให้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหรือยิ่งแย่ลง เช่น ถ้าแก้แล้วทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง คนต้องซื้ออาหารทะเลแพงขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องไปดูกันถึงรายละเอียดของแต่ละพรรคหรือว่าไปประชุมกันแล้ว ออกมาเป็นแบบไหนอย่างไร “
เรื่องที่ 2 ที่ต้องให้ความสำคัญมาก คือการจับสัตว์น้ำวัยอ่อนและนโยบายการให้โควตา แบบรายวัน ซึ่ง 2 อันนี้มันผูกกัน และเราคิดว่า ตราบใดที่ไม่แก้ตรงนี้ แม้จะแก้กฎหมายประมงอย่างไรก็ตาม ถ้ายังมีมาตรการเหมือนเดิม ไม่มีวันที่ทำให้เกิดประมงยั่งยืนในประเทศได้ คนจะต้องกินอาหารทะเลแพงขึ้น และค่อย ๆหายไปเรื่อย ๆ
เรื่องที่ 3 ต้องพูดถึงเรื่องเครื่องมือบางชนิด ที่จำเป็นต้องห้ามเพิ่ม คือเป็นกลุ่มเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูงมาก เช่น อวนลากคู่ ซึ่งทั่วโลกเขาไม่ใช้แล้ว มีประเทศไทยที่เดียว ที่ยังใช้อยู่
“ที่อื่นมี 1 ลำ แล้วลากอวนของตัวเอง แต่เราเรือ 2 ลำ ผูกอวนระหว่างกันแล้วก็เดินสวนสนามในทะเล ทั่วโลกไม่ใช้ บ้านเราใช้ ตอนนี้มีอยู่ 1,124 ลำ ในประเทศเรา แต่ในจำนวนนี้เหลือ 600 กว่าคู่ มีเจ้าของไม่กี่ราย แต่เป็นกลุ่มเครื่องมือเดียวในประเทศนี้ ที่จับสัตว์น้ำได้ 1 ส่วน 3 ของผลจับทั้งหมด มันมโหฬาร มองเรื่องการจัดสรรทรัพยากรไม่เป็นธรรมแน่นอน คือคนไม่ถึง 200 คน แต่ได้ทรัพยากรไปเยอะด้วยเครื่องมืออวนลากคู่ส่วนประมงขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ตันกรอสส์ รวมกัน ทั้งประเทศ ที่อยู่ในระบบ 50,000 ลำ และนอกระบบรายเล็กรายน้อยเป็นแสน ๆ ลำ จับรวมกันได้แค่แสนตัน 600 คู่จับได้ 5 แสนตัน ต้องถามว่าความเป็นธรรมอยู่ตรงไหน เป็นตัวชี้วัดชัดเจนว่า กฎหมาย นโยบายไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อเรื่องนี้“
และเรื่องที่ 4 ส่วนสุดท้ายที่เราคิดว่าน่าจะต้องทำงานด้วยกัน จำเป็นต้องทำงานกับตลาดและผู้บริโภค เพราะความเข้าใจผู้คนตอนนี้ ถูกทำให้เข้าใจว่าฎหมายประมงและทรัพยากรประมง ทรัพยากรสัตว์ทะเล ไม่เกี่ยวกับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็นองค์กรพัฒนาเอกชน นักธุรกิจ พ่อค้าแม่ค้า คนในตลาด พยายามทำให้เข้าใจว่า เป็นเรื่องที่ชาวประมง คือ ประมงพื้นบ้านและประมงพาณิชย์ ต้องไปตกลงกัน นี่แหละเลยเป็นปัญหาใหญ่
“ทั้ง ๆ ที่ประชากรทุกคนเป็นเจ้าของทะเลด้วยกัน คือเปรียบหมู่บ้านหนึ่ง มีหนองน้ำใหญ่แห่งหนึ่ง ก็ต้องมีกติกาคือกฎหมายประมง เพื่อที่จะกำหนดว่า ใครที่ไปจับสัตว์น้ำของเรา ทะเลของเรา ต้องอยู่ในกติกาว่าด้วยอะไรบ้าง เช่นตรงนี้ประมงอวนลากคู่ห้ามจับนะ จับมากไปจะทำลายสัตว์น้ำอนาคตด้วย นี่คือกติกา แต่ในกติกานี้มีรัฐบาล เหมือนกรรมการหมู่บ้าน เป็นผู้บริหาร แต่ทุกวันนี้กฎหมายประมงถูกทำให้แคบ กลายเป็นเรื่องของคนริมหนอง คือแค่ประมงพื้นบ้าน กับประมงพานิชย์ขัดแย้งกัน ต้องไปตกลงกันให้ได้แค่นั้น ซึ่งมันไม่ใช่ และการที่นำพาสังคมไปทางนั้น ทำให้เหตุการณ์ไม่ดีขึ้นเลยและแย่ลงเรื่อยๆ คนอยู่ไกล ต้องซื้ออาหารทะเลแพงขึ้นเรื่อยๆ“
วิโชคศักดิ์ ยังกล่าวถึงแนวทางการติดตามความคืบหน้าต่อการแก้ไขปัญหาประมงของภาคประชาสังคม โดยจะมีคณะทำงาน 4 ชุด เพื่อติดตามร่างแก้ไขกฎหมายประมงทุกร่าง ดูนโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ รวมถึง MOU พรรคร่วมที่คาดว่าจะเป็นรัฐบาล ที่ประกาศ MOU มา ซึ่งมีการให้ความสำคัญต่อนโยบายประมง จึงจำเป็นต้องติดตามเรื่องนี้ และคาดหวังจะได้ทำงานคู่ขนานกัน ในฐานะภาคประชาสังคม เพื่อนำไปสู่การประมงยั่งยืน โดยจะนำมาวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อจัดทำข้อเสนอเข้าไปประกบ