‘สมาคมรักษ์ทะเลไทย’ กังวล ม.69 เปิดทางใช้อวนตาถี่เหมือนมุ้ง ลูกปลาลูกกุ้งหมดทะเลแน่ ด้าน ‘เพื่อไทย’ ย้ำ ช่วยคืนชีวิตประมงตัวจริง เปิดโอกาสประมงพื้นบ้าน มีอาชีพอย่างมั่นคง
เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. 67 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ลงมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ประมงใหม่ฯ ในวาระ 3 ด้วยคะแนน 366 เสียง จาก 368 เสียง โดยไม่มีผู้ลงคะแนนคัดค้าน สภาฯ ยังเห็นชอบข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการฯ และเตรียมส่งร่างกฎหมายไปยังวุฒิสภาเพื่อพิจารณาต่อไป
ปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ กล่าวว่า กฎหมายฉบับนี้จะช่วยฟื้นฟูชีวิตชาวประมง สนับสนุนวิถีชีวิต วัฒนธรรม และอาชีพ พร้อมทั้งสร้างความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย โดยไม่เน้นบทลงโทษรุนแรง แต่มุ่งคุ้มครองอาชีพประมงให้ยั่งยืนถึงชั่วลูกหลาน
พ.ร.บ.ประมงใหม่ กับปัญหาจากอดีต
พรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นผู้เสนอร่างกฎหมายฉบับนี้ อภิปรายถึงผลกระทบจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่ออกโดยรัฐบาล คสช. ซึ่งมีบทลงโทษรุนแรงและกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจนส่งผลเสียหายต่อเศรษฐกิจและอาชีพชาวประมง ปลอดประสพ ชี้ว่า กฎหมายในสมัย คสช. ถูกกดดันจากต่างประเทศและบังคับใช้ด้วยความไม่เท่าเทียม มีการออกกฎหมายลูกกว่า 100 ฉบับ ส่งผลให้ชาวประมงจำนวนมากตกงาน เรือประมงถูกยึดหรือถูกทิ้งร้าง ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่ สร้างรายได้กว่า 200,000 ล้านบาทต่อปี ต้องกลายเป็นผู้นำเข้าปลามาบริโภค ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์
หลักการสำคัญของ พ.ร.บ.ประมงใหม่
ปลอดประสพ เน้นย้ำว่าการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่มุ่งสนับสนุนอาชีพ ไม่ใช่มองชาวประมงเป็นอาชญากร โดยมีแนวทางสำคัญดังนี้
- ปรับนิยาม “ทะเลชายฝั่ง” ให้สอดคล้องกับหลักวิชาการและความเป็นจริง
- เพิ่มโอกาสให้เรือประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก ออกหาปลาได้กว้างขึ้น
- ปรับเงื่อนไขการใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำ ให้เหมาะสมตามบริบท
- อนุญาตให้จับสัตว์น้ำวัยอ่อนที่มีความจำเป็นต่อการบริโภคในประเทศ
- การใช้อวนจับปลาเล็กต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขเฉพาะทางวิชาการ
- เรือประมงสามารถรับฝากสัตว์น้ำได้อย่างเสรี
- การจอดเทียบท่าของเรือประมงต้องมีความยืดหยุ่น
- บทลงโทษต้องพิจารณาจากเจตนาและปรับลดหลั่นตามความเหมาะสม
- หากมีกฎระเบียบใหม่ที่กระทบต่อชาวประมง จะต้องมีมาตรการเยียวยาที่เหมาะสม
ฟื้นชีวิต 6 แสนครอบครัวประมงพื้นบ้าน
เทียบจุฑา ขาวขำ สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กฎหมายประมงฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ชาวประมงพื้นบ้าน กว่า 600,000 ครอบครัว ใน 25 จังหวัด กลับมามีอาชีพที่มั่นคง โดยมีมาตรการส่งเสริมการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การพัฒนาการจำหน่ายสินค้า และการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ประมงพื้นบ้าน อีกทั้งยังช่วยให้การทำประมงถูกต้องตามกฎหมาย
ขณะที่ มงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ระบุในนามตัวแทนชาวประมง 22 จังหวัด โดย “ขอบคุณ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, ปลอดประสพ สุรัสวดี และทุกพรรคการเมือง ที่ได้เร่งแก้ไขกฎหมายฉบับนี้เพื่อให้ชาวประมงได้มีอาชีพที่ยั่งยืน ถือเป็นของขวัญปีใหม่ที่สำคัญที่สุดสำหรับพี่น้องชาวประมง”
‘สมาคมรักษ์ทะเลไทย’ ค้าน ม. 69 หวั่นทะเลไทยพังแน่!
ด้าน วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย ระบุถึง มาตรา 69 ของกฎหมายประมงฉบับใหม่ ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงในขณะนี้ โดยเฉพาะในส่วนที่เปิดทางให้ เครื่องมืออุตสาหกรรมประมงชนิดใหม่ อย่าง “อวนล้อม 3 มิลลิเมตร” ที่มุ่งจับสัตว์น้ำวัยอ่อนและสัตว์ทะเลขนาดเล็กโดยตรง
โดยมองว่า การใช้เครื่องมือดังกล่าวถือเป็น โศกนาฏกรรมทางทะเล ที่อาจนำไปสู่การล่มสลายของปลาทูไทย จนปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าปลาทูถึง 90% ของการบริโภคในประเทศ คิดเป็นปริมาณ 3-4 แสนตันต่อปี หรือประมาณ 300-400 ล้านกิโลกรัม
ทั้งนี้เมื่อคำนวณมูลค่าตลาดของปลาทู ที่ราคาเฉลี่ย 80-100 บาทต่อกิโลกรัม ความเสียหายทางเศรษฐกิจที่คนไทยต้องแบกรับตกอยู่ที่ 30,000-40,000 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นเพียงความสูญเสียจากสัตว์น้ำเศรษฐกิจหลักชนิดเดียว จากทั้งหมดกว่า 700 ชนิด ในทะเลไทย
ขณะที่ สัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นที่มีมูลค่าสูงกว่า เช่น ปลาอินทรี (200 บาท/กิโลกรัม), ปูม้า (300 บาท/กิโลกรัม), และ กุ้งแชบ๊วย (400 บาท/กิโลกรัม) ก็ล้วนตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่จะถูกทำลายโดยเครื่องมือชนิดใหม่นี้
วิโชคศักดิ์ ยังประเมินว่า การบริหารจัดการทรัพยากรที่ขาดความรับผิดชอบเช่นนี้ อาจทำให้ประเทศไทยสูญเสียเม็ดเงินไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี ซ้ำแล้วซ้ำเล่า
การพิจารณาแก้ไข ม.69
ก่อนหน้านี้สภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณาแก้ไขมาตรา 69 ของพระราชกำหนดการประมง ซึ่งปัจจุบันระบุว่า “ห้ามใช้อวนล้อมจับด้วยตาข่ายที่มีขนาด 2.5 เซนติเมตร ในเวลากลางคืน” แต่การแก้ไขครั้งนี้กลับเปิดทางให้ใช้อวนดังกล่าวได้ในเวลากลางคืน ตั้งแต่ระยะ 12 ไมล์ทะเลออกไป ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพของฝูงปลาวัยอ่อนโดยตรง
“ที่น่ากังวลคือ ในขั้นตอนของกรรมาธิการวิสามัญฯ มีการอ้างว่า เครื่องมือชนิดนี้ถูก ‘เผด็จการ’ บังคับให้เลิกใช้เมื่อปี 2558 ทั้งที่ความจริงคือ เครื่องมือนี้ถูกห้ามมาตั้งแต่ยุคเริ่มต้นอุตสาหกรรมประมงในประเทศไทยเมื่อกว่า 50 ปีที่แล้ว”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ข้อมูลผลกระทบที่ชัดเจน คำถามถึงรัฐบาลและฝ่ายค้าน
แม้แต่ในปัจจุบัน การใช้อวนขนาด 3 มิลลิเมตร เช่น อวนช้อน อวนครอบ และอวนยก ก็สามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็กอย่าง ปลากะตัก (3-5 ซม.) ได้ในปริมาณมหาศาล ส่งผลให้ปลาทูและสัตว์น้ำเศรษฐกิจอื่นลดลงอย่างรวดเร็ว คนไทยต้องแบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากราคาสัตว์น้ำที่พุ่งสูง
เมื่อสภาผู้แทนฯ เตรียมเปิดทางให้เครื่องมือที่เป็นภัยต่อทรัพยากรทะเลไทย วิโชคศักดิ์ จึงตั้งคำถามต่อทั้งพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง พรรคเพื่อไทย และ ฝ่ายค้าน อย่าง พรรคประชาชน ว่า
- ได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อชาวประมงพื้นบ้านหรือไม่ ?
- ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ของคนไทยทั้งประเทศหรือเพียงตอบสนองกลุ่มทุนที่สนับสนุนพรรค ?
ขณะที่ พรรคประชาชน – People’s Party โพสต์ ระบุข้อกังวลประมงพื้นบ้าน โดยมีเนื้อหาว่า ในทางปฏิบัติ ผลลัพธ์ของการบังคับใช้กฎหมายนี้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ทำให้การจับปลากะตักน้อยกว่าโควตาจับปลา (MSY) ที่กรมประมงกำหนด มีการนำเข้าปลาจากต่างประเทศ ส่งผลต่อเนื่องให้โรงงานน้ำปลาในภาคตะวันออกต้องปิดตัว
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวชาวประมงพาณิชย์ และกรมประมง เสนอปลดล็อกให้ทำการประมงในเวลากลางคืนได้ แต่ต้องนอกเขต 12 ไมล์ทะเลเท่านั้น เพื่อไม่ให้กระทบเขตประมงชายฝั่ง จึงแก้ไขมาตรานี้โดยเพิ่มไปว่า
- ผ่อนปรนให้ทำประมงนอกเขตพื้นที่ 12 ไมล์ทะเล
- แต่ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่รัฐมนตรีกำหนด มีกฎหมายลูกมาควบคุม ไม่ว่าจะเป็น การใช้แสงไฟล่อปลา, ตาอวน, จำนวนเรือ และการควบคุมการจับสัตว์น้ำวัยอ่อย เพื่อไม่ให้กระทบความยั่งยืนของการทำประมง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ตาอวนที่ทำการประมงปลากะตักในเวลากลางวัน ปัจจุบันคือ 6 มิลลิเมตร อวนที่ขนาดเล็กกว่านั้นผิดกฎหมายทั้งสิ้น
ส่วนข้อกังวลว่าการใช้อวนล้อมจับปลากะตักในเวลากลางคืน จะทำให้เกิดการจับลูกปลามากขึ้นหรือไม่ ในร่างฉบับกรรมาธิการฯ มีการแก้ไขให้จำกัดหรือห้ามเครื่องมือประมงที่จับสัตว์น้ำวัยอ่อนเกินเกณฑ์ที่กำหนด คุ้มครองไว้ด้วย
พรรคประชาชน ระบุว่า เข้าใจในข้อกังวลของกลุ่มประมงพื้นบ้าน ที่ไม่มั่นใจว่ากฎหมายลูกของฝ่ายบริหารจะวางหลักเกณฑ์ออกมาเป็นอย่างไร จะบังคับใช้ตามเจตนารมณ์ของกฎหมายแม่หรือไม่ เพื่อสะท้อนความกังวลนี้ จึงเป็นที่มาที่พรรคประชาชนงดออกเสียงโดย เราจะติดตามตรวจสอบการทำงานของฝ่ายรัฐบาลและกรมประมงอย่างเข้มข้น รวมถึงเสนอหลักเกณฑ์เพื่อทำให้กฎหมายลำดับรองที่จะออกมา สามารถรักษาความยั่งยืนของการประมงไทยต่อไป
จี้รัฐทบทวนร่างกฎหมายประมงฉบับใหม่
นัท สุมนเตมีย์ ช่างภาพใต้น้ำ ระบุว่า ในฐานะที่เป็นพลเมืองที่ใช้ชีวิตอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด มีโอกาสได้ออกทะเล ตกปลากับพ่อมาตั้งแต่เด็ก ๆ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของท้องทะเลไทย มาตลอดระยะเวลา 40 กว่าปีที่ผ่านมา เห็นว่า
“สำหรับการหาค่า MSY หรือค่าผลผลิตที่สูงสุดที่ยั่งยืนของปลากะตักนั้น ผมไม่แน่ใจว่า ในการสำรวจและวิจัยของกรมประมงนั้นได้เอาค่าของความสูญเสียโอกาสที่จะเติบโตของสัตว์ทะเลที่ถูกจับโดยไม่ได้ตั้งใจ หรือว่า By Catch ของทรัพยากรสัตว์น้ำเหล่านี้ บวกรวมเข้าไปด้วยหรือเปล่า ? เพราะในท้องทะเลเปิดนั้น ไม่ได้มีแค่เพียงปลากะตัก ที่เป็นเป้าหมายในการจับของอวนตาถี่ ที่เรียกว่าอวนมุ้ง เพียงเท่านั้น”
เช่นเดียวกับ มูลนิธิความยุติธรรมเชิงสิ่งแวดล้อม (EJF) ได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลไทยกลับมาทบทวนร่างกฎหมายฉบับนี้ใหม่เพื่อแสดงถึงความมุ่งมั่นในการส่งเสริมความโปร่งใส ความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมง และการปกป้องสิทธิแรงงาน รวมถึงการสนับสนุนชุมชนประมงชายฝั่งอย่างแท้จริง
Policywatch.thaipbs.or.th เคยนำเสนอ เนื้อหาการเปลี่ยนแปลงในร่างกฎหมายนี้ ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชาวประมงและชุมชนชายฝั่ง แต่ยังสร้างแรงสั่นสะเทือนกระทบการค้าโลก แต่ยังหมายถึงชีวิตและสิทธิของแรงงานประมงไปจนถึงเศรษฐกิจ ห่วงโซ่อุปทาน และบทบาทของประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำด้านการส่งออกอาหารทะเลด้วย
ต้องยอมรับว่า ภาพลักษณ์ของประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ รวมทั้งพันธมิตรทางการค้าและตลาดสากลก็ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิทธิมนุษยชน
หลังจากนี้กฎหมายฉบับบดังกล่าวนี้ จะเข้าสู่พิจารณา สว. ต่อไป