‘นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย’ ย้ำ ข้อสังเกต ปมเอกชนได้เอกสารสิทธิ์ชายหาดสาธารณะ ระบุ ร้องหน่วยงานตรวจสอบมาแล้ว 3 ปี แต่ไม่มีใครขยับ จนตัวเองถูกเอกชนฟ้องร้อง ขณะที่ ภาคประชาชน หวังยกระดับทวงคืนหาดสาธารณะให้กับคนสตูล
จากกรณีที่ วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี นายกสมาคมรักษ์ทะเลไทย และ อัสรุต กองบก ผู้ใหญ่บ้านบ้านท่ามาลัย หมู่ที่ 6 ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล ถูกเอกชนรายหนึ่งฟ้อง หลังออกมาเรียกร้องให้ภาครัฐตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิ์ (น.ส.3ก.) ให้แก่เอกชน ในพื้นที่ชายหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล เนื่องจากว่าพื้นที่ที่มีการออกเอกสารสิทธิ์ เป็นพื้นที่ชายหาดสาธารณะที่อยู่ติดกับถนน และเป็นพื้นที่ ๆ ใช้สอยสาธารณะ ที่ชาวบ้านในพื้นที่ดูแลร่วมกันมา แต่กลับมีบุคคลอ้างว่าเป็นเจ้าของที่ดิน พร้อมทั้งหลักฐานเอกสารสิทธิ์ รวมทั้งได้เริ่มมีสิ่งก่อสร้างขึ้นในพื้นที่

ทั้งนี้หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณปี 2558 พบการอนุมัติก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ณ ขณะนั้น วิโชคศักดิ์ ถือเป็นหนึ่งในผู้คัดค้านร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนในพื้นที่ เนื่องจากมอว่า พื้นที่โครงการมีทั้งในทะเล และพื้นที่ชายหาดปากบารา หลังจากนั้นโครงการได้ชะลอ และหยุดไป พื้นที่ตรงนั้นกลายเป็นที่สาธารณะชุมชนเหมือนเดิม
เมื่อปี 2564 – 2565 ก็มีข่าวว่าพื้นที่ดังกล่าวได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน (เอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก.) และมีคนมาสร้างสิ่งปลูกสร้างลงบนหาด เลยมีการตั้งข้อสังเกตจากชุมชนถึงการได้เอกสารสิทธิ์ดังกล่าว และได้ร้องเรียนไปยังหน่วยงานภาครัฐให้ตรวจสอบ ซึ่งในระหว่างการร้องเรียน ช่วงปี 2565 วิโชคศักดิ์ ได้โพสต์ข้อความเพื่อให้ข้อมูลต่อสาธารณะ ถึงข้อสังเกตว่า กรมที่ดินกับกรมเจ้าท่าอนุญาตให้ออกเอกสารสิทธิ์นี้ได้อย่างไร
ล่าสุด วิโชคศักดิ์ เปิดเผยกับ The Active ว่า ขณะนั้นได้โพสต์ข้อมูลบางส่วนในเอกสารสิทธิ์ น.ส.3ก. ฉบับดังกล่าว พร้อมทั้งได้ปิดบังชื่อบุคคล ที่ระบุว่าเป็นเจ้าของ จากนั้นก็ได้ยื่นเอกสารร้องเรียนกับหน่วยงานต่าง ๆ ให้ตรวจสอบว่าการออกเอกสารสิทธิ์ดังกล่าวทำตามกระบวนการหรือไม่

“จนถึงตอนนี้กระบวนการร้องเรียนยังไม่เสร็จ เพราะทางจังหวัดก็ให้คำตอบว่าอยู่ในกระบวนการตรวจสอบเรื่องเอกสารสิทธิ์ที่ดิน และอยู่ในกระบวนการตรวจสอบสอบของกรรมาธิการการที่ดิน ของสภาผู้แทนราษฎร”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
กระทั่งเมื่อต้นปี 2568 ตนเองได้รับหมายศาล และจำเลยที่ 2 คือผู้ใหญ่บ้าน ร่วมกันกระทำความผิดใน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ ข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) โดยกล่าวหาว่า ได้เอาข้อมูลส่วนบุคคลไปโพสต์โดยที่โจทก์ไม่ยินยอม
โดยการไต่สวนมูลฟ้องเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ที่ผ่านมา ที่ศาลอาญากรุงเทพฯ ผลคือศาลรับฟ้อง ในช่วงเวลาเดียวกันก็มีการฟ้องอีกคดีหนึ่งที่ศาลจังหวัดสตูล เป็นคดีบุกรุก โดยอ้างว่า ตนเองไปเดินอยู่บนพื้นที่หาดของโจทก์ และอีกหนึ่งคนที่ถูกฟ้องคือผู้ใหญ่บ้านคนเดียวกับที่ฟ้องที่ศาลกรุงเทพฯ
รวมแล้ว วิโชคศักดิ์ และ อัสรุต ถูกฟ้องรวมกัน 3 คดี และศาลรับคำฟ้องไปแล้ว 2 คดี คือ พ.ร.บ.ที่ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์, พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ส่วนคดีบุกรุกจะไต่สวนเพิ่มอีกครั้ง ในวันที่ 29 ก.ค. นี้ ที่ศาลจังหวัดสตูล
เชื่อถูกฟ้องปิดปาก พร้อมเดินหน้าสู้คดี
วิโชคศักดิ์ มั่นใจว่า เหตุการฟ้องที่เกิดขึ้นชัดเจนว่าเป็นการฟ้องเพื่อปิดปาก (SLAPP) เพื่อไม่ให้ชาวบ้านตรวจสอบและเคลื่อนไหว
“ที่น่ากังวลคือ มีการใช้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) ซึ่งเจตนารมณ์เดิมคือป้องกันไม่ให้ธนาคาร บริษัท ห้างร้าน เอาข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปขายให้กับมิจฉาชีพ แต่ในกรณีนี้กฎหมายถูกนำมาใช้ในลักษณะการฟ้องปิดปาก”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
ทั้งนี้หลังจากที่ศาลกรุงเทพฯ รับฟ้อง วิโชคศักดิ์ ยืนยันว่า คดีที่ถูกกล่าวหาก็ต้องสู้คดีต่อไป จากนี้คือต้องเตรียมพยานหลักฐาน ตามกระบวนการ แต่อีกทางคือการต่อสู้เรื่องการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่เอกชนได้รับอนุญาตไปด้วย

เนื่องจากว่าก่อนเกิดเหตุ ชาวบ้านได้ยื่นร้องเรียนให้หน่วยงานเป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและใช้อำนาจหน้าที่ อาทิ กรมที่ดิน ผู้ว่าราชการจังหวัด อำเภอ ซึ่งยื่นเรื่องร้องเรียนไปแล้ว 3 ปี แต่กลับไม่พบการดำเนินการของฝ่ายภาครัฐ และยังไม่ได้ข้อยุติ จนมาเกิดกรณีฟ้องร้องขึ้น
ดังนั้นหากนำเรื่องกรณีการออกเอกสารสิทธิ์ที่ยังเกิดคำถามว่าออกโดยชอบธรรมหรือไม่ ขึ้นสู่ศาลตั้งแต่มีการร้องเรียนไปตอนแรกก็อาจจะสามารถป้องกันเรื่องทั้งหมดได้ตั้งแต่ต้น
“พื้นที่วัดตามหน้าหาด เขาแบ่งเป็นล็อกตามเอกสารเพื่อขาย ขายเป็นแปลง ๆ ซึ่งเขาก็เป็นคนโพสต์ขายเอง แล้วที่ฟ้องเขาอ้างว่าเขาเสียหายที่ผมไปโพสต์และเขาอ้างว่าเขาขายไม่ได้ ทำให้เขาเสียหาย และเขาก็เรียกค่าเสียหาย ประมาณ 7 ล้านบาท”
วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี
กป.อพช.ตั้งเป้ายกระดับคนสตูล ร่วมทวงคืนหาดสาธารณะ
ขณะที่ สมบูรณ์ คำแหง ประธานคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ให้สัมภาษณ์ The Active ต่อกรณีที่เกิดขึ้น โดยย้ำว่า จะปรึกษาหารือกันอีกครั้งว่าจะทำอย่างไรให้ประเด็นนี้ไม่ใช่ประเด็นเพียงแค่คน 2 คน แต่ควรเป็นประเด็นที่คนสตูลทั้งหมดต้องรับรู้และรับทราบ
โดยให้เหตุผลว่า การที่ 2 คนนี้ออกมาพูดเรื่องการบุกรุกพื้นที่สาธารณะหาดปากบาราเป็นเรื่องส่วนรวม และพื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่ที่คนจังหวัดสตูลเองก็ใช้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวหรือพักผ่อนหย่อนใจ

“คิดว่าต้องยกระดับให้เรื่องนี้เป็นวาระของจังหวัดสตูล อาจจะต้องไล่ไปคุยกับระดับผู้ว่าฯ ให้ชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น และในทางกฎหมายตอนนี้เป็นอย่างไรและหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทำไมถึงเพิกเฉยกันหมดเลย ที่จริงเรื่องนี้ควรเป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐตั้งแต่กรมเจ้าท่าท้องถิ่น อบต. เพราะตอนนี้กลายเป็นว่าท้องถิ่นปล่อยให้พื้นที่เหล่านี้ถูกก่อสร้าง”
สมบูรณ์ คำแหง
สมบูรณ์ ยอมรับด้วยว่า ความท้าทายของกรณีที่เกิดขึ้น คือ เหตุการณ์นี้จะนำไปสู่การการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ได้อย่างไร เพราะว่าข้อเท็จจริงคือก่อนหน้านี้มีความพยายามที่จะเอาที่ดินดังกล่าวไปออกโฉนด
“โดยสรุปคือมันเป็นสถานที่ ที่ไม่ควรมีเอกสารสิทธิ์อยู่แล้ว เพราะที่ดินมันถูกน้ำทะเลกัดเซาะมาเยอะ พื้นที่ตรงนั้นมันติดกับถนนแล้วซึ่งมันควรจะเป็นพื้นที่สาธารณะหมดแล้ว แต่เราก็สงสัยว่าเอาหลักฐานส่วนไหนมาอ้างว่าเขาครอบครองกันมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งอันนี้มันจะเป็นความยากว่าเราจะนำไปสู่การเพิกถอนเอกสารสิทธิ์นี้ได้อย่างไร ซึ่งนั่นคือเป้าหมายในการขับเคลื่อน”
สมบูรณ์ คำแหง
ทั้งนี้ ประธาน กป.อพช. ระบุด้วยว่า ขณะนี้พยายามประสานกับทุกกลุ่มเครือข่ายในจังหวัดสตูล และจะนัดหมายคุยกันในวันที่ 25 ก.ค.นี้ เพื่อที่จะชี้แจงรายละเอียดของคดี และสถานการณ์ว่าเกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมย้ำว่าเป้าหมายคือเครือข่ายที่ต่อสู้ ต้องไม่ถูกดำเนินคดี รวมถึงที่ดินต้องกลับมาเป็นพื้นที่สาธารณะของคนจังหวัดสตูล