“เศรษฐา” ผ่านด่าน สว. ฉลุย นั่งนายกฯ คนที่ 30

รัฐสภา มีมติ 482 เสียง เห็นชอบ เศรษฐา นั่งนายกฯ สว. 152 เสียง ร่วมเห็นชอบ ปชป. แหกมติพรรคร่วมหนุนด้วย ประธานสภาฯ เตรียมทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอน ก้าวไกล ประกาศเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก

วันนี้ (22 ส.ค. 2566) ที่ประชุมรัฐสภามีมติ ให้ความเห็นชอบให้ เศรษฐา ทวีสิน บุคคลที่พรรคเพื่อไทยเสนอชื่อให้ที่ประชุมรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ด้วยมติ 482 เสียง ต่อ 165 เสียง งดออกเสียง 81 เสียง ในจำนวนนี้มีเสียง สว. เห็นชอบ ถึง 152 คน โดยขั้นตอนหลังจากนี้ ประธานสภาผู้แทนราษฎร จะได้นำชื่อของ เศรษฐา ขึ้นทูลเกล้าฯ ตามขั้นตอนต่อไป

ทั้งนี้ สำหรับการลงมติให้ความเห็นชอบ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น พบว่า สส. 11 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล 314 เสียง ลงมติให้ความเห็นชอบ เศรษฐาเป็นไปในทิศทางเดียวกัน เว้นเพียง ร้อยตำรวจเอกเฉลิม อยู่บำรุง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ที่ไม่ได้ร่วมลงมติ

โดย สส.พรรคก้าวไกล และพรรคเป็นธรรม ที่ได้ลงมติไม่เห็นชอบ, สส.พรรคไทยสร้างไทย ลงมติงดออกเสียง ขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ ที่แม้พรรค จะมีมติงดออกเสียง แต่ สส.ส่วนใหญ่ของพรรคได้ลงมติให้ความเห็นชอบ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็น สส.กลุ่มเพื่อนต่อ -เฉลิมชัย ศรีอ่อน รักษาการเลขาธิการพรรค 16 คน งดออกเสียง 6 คน ขณะที่ ชวน หลีกภัย, บัญญัติ บรรทัดฐาน ลงมติไม่เห็นชอบ

สำหรับการลงมติของสมาชิกวุฒิสภานั้น ส่วนใหญ่ให้ความเห็นชอบ ให้ เศรษฐา เป็นนายกรัฐมนตรี อาทิ พลเอกธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะอดีตรองหัวหน้า คสช., พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะอดีตรองหัวหน้า คสช., พลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะอดีตรองหัวหน้า คสช. พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ อดีตรอง ผบ.ทบ. ในฐานะรองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช., พลเอกพิสิทธิ์ สิทธิสาร อดีตรอง ผบ.ทบ. ในฐานะรองเลขาธิการ คสช., พลเอกสสิน ทองภักดี อดีตเสนาธิการทหารบก ในฐานะอดีตสมาชิก คสช., พลเอกสมหมาย เกาฏีระ อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะอดีตสมาชิก คสช., พลเอกธวัชชัย สมุทรสาคร เพื่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี, พลเอกอกนิษฏ์ หมื่นสวัสดิ์ เพื่อนพลเอกประยุทธ์ฯ, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา น้องชายพลอกประยุทธ์ฯ, พลเอกนพดล อินทปัญญา เพื่อนพลเอกประวิตรฯ, พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช, พลเอกพิศณุ พุทธวงศ์ แต่ส่วนหนึ่งมีมติงดออกเสียง ซึ่งรวมไปถึงปลัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการเหล่าทัพที่ดำรงตำแหน่งในปัจจุบัน ที่ลงมติงดออกเสียงในครั้งนี้ด้วย

ด้าน ชัยธวัช ตุลาธน สส.บัญชีรายชื่อ ในฐานะเลขาธิการพรรคก้าวไกลพร้อมด้วยสส.ก้าวไกล แถลงถึงทิศทางของพรรคก้าวไกลหลัง ว่า วันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันนี้ และการจัดตั้งรัฐบาลหลังจากนี้ มิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนส่วนใหญ่ ที่ได้แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง 

พรรคก้าวไกลขอย้ำว่า การจัดตั้งรัฐบาลในครั้งนี้มิใช่การสลายขั้วความขัดแย้ง โดยเอาวาระของประชาชน และวาระของประเทศเป็นตัวตั้ง แต่นี่เป็นการสยบยอม และต่อลมหายใจให้กับระบบการเมืองที่คณะรัฐประหารเมื่อปี 2557 พยายามที่จะสถาปนาขึ้น เป็นการทำลายความหวัง ความฝัน  และอำนาจของประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย

ต่อจากนี้ไปพรรคก้าวไกลจะทำงานในฐานะพรรคฝ่ายค้าน โดยเราจะเป็นฝ่ายค้านเชิงรุก ทุกเสียงของพี่น้องประชาชนที่มอบให้กับพรรคก้าวไกลต้องมีความหมาย ผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลทุกคนจะทำงานอย่างสุดความสามารถทั้งในด้านการตรวจสอบฝ่ายบริหาร ทั้งในด้านการผลักดันกฎหมายที่ก้าวหน้า ทั้งในด้านการผลักดันวาระของประชาชน ผ่านกลไกต่างๆ ของสภา รวมทั้งการทำงานกับประชาชนนอกสภา เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมร่วมกันอย่างไม่ท้อถอย 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active