โพล ชี้ ปชช.ห่วงอนาคต ‘ส้ม vs เหลือง,แดง,กปปส.’ ขัดแย้งหนัก ยากสลายขั้ว

นักรัฐศาสตร์ ชวนมอง สลายขั้ว แค่วาทกรรมนักการเมือง เชื่อความแตกแยกแก้ไม่หาย ถ้ายังอยู่ในระบบโครงสร้างที่เต็มไปด้วยคำถาม   

วันนี้ (27 ส.ค.66) นิด้าโพล สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจประชาชน เรื่อง “ความขัดแย้งทางการเมือง สลายหรือยัง?” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 23-25 ส.ค.66 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกภูมิภาค ทุกระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ ทั่วประเทศ รวม 1,310 หน่วยตัวอย่าง

เมื่อถามถึงการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองกับกลุ่มต่าง ๆ ของประชาชนกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 87.63 “ไม่เคย”, ร้อยละ 4.35  “เคย” ร่วมชุมนุมกับกลุ่ม นปช.-เสื้อแดง, ร้อยละ 3.13 “เคย” ร่วมชุมนุมกับกลุ่มพันธมิตรฯ พธม. –เสื้อเหลือง,  ร้อยละ 3.05 “เคย” ร่วมชุมนุมกับ กปปส. และร้อยละ 2.82 “เคย” ร่วมชุมนุมกับกลุ่มสามนิ้ว (กลุ่มเสื้อส้ม)    

กลุ่มทางการเมืองที่ประชาชนมองว่าตนเองอยู่ในปัจจุบัน ร้อยละ 69.47 ระบุว่า “ไม่อยู่” ในกลุ่มการเมืองใด ๆ รองลงมา ร้อยละ 19.85 ระบุว่า กลุ่มสามนิ้ว, ร้อยละ 6.64 กลุ่ม นปช. –เสื้อแดง, ร้อยละ 2.59 กลุ่มพันธมิตรฯ – เสื้อเหลือง และ ร้อยละ 1.45 กลุ่ม กปปส.

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการจัดตั้งรัฐบาลพิเศษ “สลายขั้ว” ของพรรคเพื่อไทย โดยมี เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี จะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมืองของกลุ่มสีเสื้อต่าง ๆ พบว่า ร้อยละ 36.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, ร้อยละ 20.61 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 20.53 ไม่ค่อยเห็นด้วย, ร้อยละ 19.85 ค่อนข้างเห็นด้วย และ ร้อยละ 2.29 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ส่วนความคิดเห็นของประชาชนต่อการกลับประเทศไทยของ ทักษิณ ชินวัตร เพื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจะทำให้มีการสลายความขัดแย้งทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 30.76 ระบุว่า ไม่เห็นด้วยเลย, รองลงมา ร้อยละ 27.02 เห็นด้วยมาก, ร้อยละ 22.29 ค่อนข้างเห็นด้วย, ร้อยละ 18.25 ไม่ค่อยเห็นด้วย และร้อยละ 1.68 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ขณะเดียวกันเมื่อถามความคิดเห็นกลุ่มตัวอย่าง ต่อความขัดแย้งระหว่างกลุ่มทางการเมืองในอนาคต พบ ร้อยละ 39.39 ระบุว่า กลุ่มเสื้อส้ม กับ ทุกกลุ่ม (เสื้อเหลือง-เสื้อแดง-กปปส.), รองลงมา ร้อยละ 24.89 ระบุว่า ไม่มีความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างกลุ่มอีกต่อไป, ร้อยละ 16.56 ระบุว่า กลุ่มเสื้อแดง กับ กลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 6.72 กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่มเสื้อแดง, ร้อยละ 2.44 กลุ่มเสื้อแดง กับ กลุ่ม กปปส., ร้อยละ 2.29 กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 1.45 กลุ่ม กปปส. กับ กลุ่มเสื้อส้ม, ร้อยละ 0.53 กลุ่มเสื้อเหลือง กับ กลุ่ม กปปส. และ ร้อยละ 10.53 ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ

นักรัฐศาสตร์ เชื่อแค่ “สลายขั้ว” ไม่พอลดความขัดแย้ง

ในมุมมองของนักรัฐศาสตร์ อย่าง รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า การพูดคำว่าสลายขั้ว เป็นเพียงวาทกรรม ของกลุ่มที่ได้ประโยชน์กับการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้น แต่ถ้ามองความจริงจะพบว่า ตั้งแต่เลือกตั้ง 2562 จนถึงเลือกตั้งครั้งล่าสุด ความสัมพันธ์ของพรรค กับประชาชน เปลี่ยนไปอย่างมีนัยยะสำคัญ เพราะไม่ว่าพรรคการเมืองจะทำอะไร จับขั้วกับใคร จะถูกจับตาจากคนโหวตมากขึ้น ดังนั้นการใช้คำพูดแค่ว่า สลายขั้วแล้วช่วยลดความแตกแยกให้กับสังคม ถือว่าง่ายไป เพราะตอนนี้การเมืองอาจไม่ได้อยู่ในมือของพรรคการเมืองอีกต่อไป แต่การเมืองอยู่กับประชาชน

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

แม้ว่าฝ่ายจัดตั้งรัฐบาลจะพยายามใช้คำว่า สลายขั้ว แต่ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองยังไม่ได้เป็นไปตามสิ่งที่ประชาชนต้องการจริง ๆ ด้วยระบบโครงสร้างต่าง ๆ ที่ไม่เป็นธรรม แม้จะมีรัฐบาลใหม่ มีนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่อาจจะต่างจากคนก่อน แต่สิ่งที่ประชาชนไม่เหนือความคาดหมาย และไม่ได้ทำให้รู้สึกว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงจริง ๆ คือหน้าตาของคณะรัฐมนตรี เพราะถ้าดูจากโผล่าสุด ก็ยังมีเสียงสะท้อนจากประชาชนว่าไม่ต่างจาก ครม.ชุดเดิม จึงไม่ได้มองว่า ว่าที่ ครม.ชุดใหม่ จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงให้กับประชาชน และสังคมได้จริง นี่คือนัยยะสำคัญ ที่แค่พูดว่าสลายขั้วอาจไม่เพียงพอ

“สำคัญกว่านั้นคิดว่า ในปัจจุบันความแตกแยกไม่ใช่ความแตกแยกเพราะพรรคไหน รวมกับพรรคไหน แต่ประชาชน ยังมองเรื่องระบบ โครงสร้างการเมืองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งเป็นหัวข้อที่น่าจะก่อให้เกิดข้อถกเถียงกันต่อไป เพราะสังคมไม่สามารถยอมรับ กฎ กติกาจากรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ ดังนั้นเชื่อว่าถึงสีเสื้อ จะไม่ถูกอธิบายแค่เหลือง แดง ส้ม แต่เป็นระบบโครงสร้างที่สังคมต่างก็ตั้งคำถาม เช่น กรณีการกลับบ้านของคุณทักษิณ เต็มไปด้วยคำถามเรื่อง VVIP จึงไม่ใช่แค่คนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามคุณทักษิณเท่านั้นที่รู้สึก เพราะคนทั้งสังคม เองก็รับรู้ได้ถึงความไม่ถูกต้องกับมาตรฐานในกระบวนการยุติธรรมที่ถูกนำมาใช้เพื่อคน ๆ เดียว รวมไปถึงคำถามต่อการทำรัฐประหาร ว่า ทำไปเพื่อแก้ปัญหาประเทศจริง ๆ หรือ รัฐประหารเพื่อกลุ่มก้อนของตัวเอง ที่ผ่านมาการเมืองอาจถูกอธิบายด้วยชนชั้นนำ แต่ปัจจุบันประชาชนมีความรู้มากกว่าที่คิดไว้เยอะ”

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ


Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active