50 ปี 14 ตุลา บนเส้นทาง รัฐธรรมนูญใหม่ ที่เป็นประชาธิปไตย และเห็นหัวประชาชน

‘รศ.ยุกติ’ กล่าวปาฐกถาในพื้นที่ชุมนุมสมัชชาคนจน ระบุ ตลอด 50 ปี ของการเมืองไทยหลัง 14 ตุลาฯ 2516 การเมืองไทยผ่านการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ‘นักการเมือง-ภาค ปชช.’ ชี้ แม้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ แต่รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อให้ประชาชนมีอำนาจอย่างแท้จริง

14 ต.ค. 2566 รศ.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาพิเศษ “จาก 14 ตุลา 16 ถึงอึ่งไข่-ด้อมส้ม : 50 ปี การร่าง-ฉีกรัฐธรรมนูญ” ในกิจกรรม “50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่” บริเวณพื้นที่การชุมนุมของกลุ่มสมัชชาคนจน ถนนลูกหลวง โดยกล่าวว่า ตลอด 50 ปีของการเมืองไทย หลัง 14 ตุลาฯ การเมืองไทย ผ่านการเปลี่ยนสำคัญมากมาย คำถามคือตั้งแต่ 14 ตุลาฯ ผ่านมา 50 ปี เรามีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอย่างไรบ้าง อะไรที่ทำให้ไทยต้องร่างแล้วฉีกรัฐธรรมนูญ ร่างใหม่แล้วก็ฉีกอีกกันต่อเนื่อง จนทำให้ 50 ปีที่ผ่านมา เรามีรัฐธรรมนูญ ถึง 10 ฉบับด้วยกัน แล้วพลังประชาชนแบบไหนที่จะผลักดันให้เรามีรัฐธรรมนูญใหม่ที่เปลี่ยนประเทศไทยได้อีกครั้ง

หลัง 14 ตุลาคม 2516

ประชาธิปไตยที่แลดูเริ่มผลิดอกออกผลจากการต่อสู้ของประชาชนท่ามกลางการถือครองของเผด็จการอย่างยาวนานถึง 15 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2501-2516 เป็นอันสิ้นสุดลง ทำให้มีรัฐธรรมนูญ 2517 ที่กล่าวขานว่าเป็นประชาธิปไตย แต่ไม่อาจกล่าวว่าชีพจรประเทศนี้สงบลง กลับเป็นการเปิดศักราช โฉมหน้าใหม่ของเผด็จการที่สืบทอดอำนาจอย่างน้อย 10 ปี จนถึง 2522 เป็นอย่างน้อย ยังมียุคประชาธิปไตยครึ่งใบอีก 8 ปี ตั้งแต่ 2523 – 2531 ปี 2531 จึงมีนายกฯ ที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ก็ถูกรัฐประหาร ประชาชนต่อสู้จนได้รัฐธรรมนูญ ในปี 2540 แล้วถูกรัฐประหารอีกในปี 2549 มีรัฐธรรมนูญ 2550 ถูกรัฐประหารปี 2557 แล้วก็เกิดรัฐธรรมนูญใหม่ในปี 2560

รศ.ยุกติ กล่าวต่อว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างรัฐธรรมนูญ 2517 และ 2540 กับรัฐธรรมนูญรวมทั้งธรรมนูญการปกครองของคณะรัฐประหารและรัฐธรรมนูญ 2550 และ 2560 คือ การที่รัฐธรรมนูญ 2517 และ 2540 ที่มาจากการเรียกร้องการต่อสู้ด้วยเลือดเนื้อและการเสียสระของประชาชนอย่างชัดเจนที่สุด ที่มาจากพลังการเคลื่อนไหวของประชาชนอย่างแท้จริง

“การเมืองไทยยังไม่ได้หลุดจากวัฏจักรอุบาทว์นี้ยังวนเวียนอยู่ รัฐธรรมนูญร่างแล้วฉีก ฉีกแล้วร่าง อย่าง 50 ปีที่ผ่านมา แม้ประชาชนจะค่อย ๆ กัดกินอำนาจเผด็จการ แต่ผู้มีอำนาจก็สร้างเล่ห์ กลและชุดคำอธิบายใหม่ ๆ เพื่อต่อรองกับประชาชนเสมอ แม้กระทั้งล่าสุดก็ยังมีการขยายขอบเขตอำนาจออกมาเกินดุลอำนาจเดิม”

รศ.ยุกติ กล่าวต่อว่า ประชาธิปไตย หลัง 14 ตุลาฯ 2516 แบ่งได้เป็น 3 ยุค คือ 1. ยุคของประชาธิปไตยครึ่งใบ ตั้งแต่ 2519 – 2520 2. ยุคประชาธิปไตยกินได้ ตั้งแต่ช่วงหลัง พ.ค. 2535 จนถึงยุครัฐธรรมนูญ 2540 และรัฐประหาร 2549 3. ยุคเผด็จการครึ่งท่อน 2550 – 2560

สำหรับพลังของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ ตั้งแต่ 2560 ได้มีการก่อตัวที่แข็งแกร่งกว้างขวางในหลายมิติ

ด้านที่ 1 คนรุ่นใหม่ใน พ.ศ. นี้ คือมรดกทางอุดมการณ์ของคนรุ่นใหม่ในอดีต

ด้านที่ 2 การแพร่กระจายของขบวนการประชาชนที่ครอบคลุมไปหลายพื้นที่ไม่ใช้แค่กรุงเทพมหานคร

ด้านที่ 3 ประชาชนได้สรุปบทเรียนและเลือกแล้วว่า วิถีทางต่อสู้ทางการเมืองของประชาชนในปัจจุบัน ต้องวางอยู่บนการเมืองของการเลือกตั้ง หรืออาศัยการเดินขบวนเป็นหลัก ดังนั้น การเมืองในทศวรรษ 2560 คือการเมืองที่เรียกร้องโดยสันติ และไร้ความรุนแรง

ด้านที่ 4 การเคลื่อนไหวในปัจจุบัน สัมพันธ์กับเงื่อนไขร่วมสมัยใหม่ ๆ ทำให้การเมืองไม่ใช่แค่เรื่องปากท้อง กระจายอำนาจผ่านการกำหนดนโยบายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรม อัตลักษณ์ทางเพศ

สรุปคือ หลัง 14 ตุลาฯ เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากมาย

ความพลิกผันทางการเมืองและวัฏจักรของการร่าง-ฉีกรัฐธรรมนูญนั้น แสดงให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญไทยมิได้เป็นบทบัญญัติสูงสุดที่ใครจะแตกต้องมิได้ แต่หากรัฐธรรมนูญคือผลของการต่อรองอำนาจในแต่ละช่วงเวลาของสังคมไทย รัฐธรรมนูญคือข้อตกลงหรือฉันทานุมัติที่เป็นลายลักษณ์อักษรที่สังคมไทยยอมรับหรือจำเป็นต้องหักหาญให้ประชาชนยอมรับ แน่นอนว่าโครงสร้างและสังคมวัฒนธรรมของประชาชนเปลี่ยนแปลงไป การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญก็คือการหาฉันทานุมัติใหม่ที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนนั้นเอง

เส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและเห็นหัวประชาชน

ขณะที่เวทีเสวนา 50 ปี 14 ตุลาฯ ยังตามหารัฐธรรมนูญใหม่ ในหัวข้อเส้นทางสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยและเห็นหัวประชาชนนั้น ยังมองเส้นทางสู่ทางออกกับอนาคตที่ดีของประชาธิปไตยไทย ที่ยังไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2

ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาการขับเคลื่อนรัฐธรรมนูญที่กินได้ ได้เรียนรู้และดูเหมือนมีการขับเคลื่อนแข่งขันเชิงนโยบาย แต่สุดท้ายก็ถูกรัฐประหารอีก ซึ่งเราก็มีความตั้งใจอย่างอยากจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จุดยืนที่เป็นหลักการสูงสูดก็คือว่าถ้าเรายอมรับว่าประเทศนี้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนจริง ๆ นั่นหมายความว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ มันก็ต้องเป็นของประชาชน ถ้ามันทำได้ใหม่มันก็ต้องทำใหม่ทั้งฉบับก็ประชาชนมีอำนาจสูงสูด และในในวาระ 50 ปี 14 ตุลาฯ เรื่องรัฐธรรมนูญ การออกแบบระบบการเมือง ซึ่งการรณรงค์ให้ทำประชามติว่าเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการตั้ง สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง เพื่อทำให้รัฐธรรมนูญมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ที่ผ่านมารัฐธรรมนูญมีการรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่ในทางปฏิบัติไม่เกิดขึ้นจริง จึงทำให้รัฐธรรมนูญไม่มีชีวิต แม้จะมีตัวอักษร

นิกร จำนง กรรมการและโฆษกคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ กล่าวว่า ในแง่นโยบายคือว่า รัฐธรรมนูญต้องเป็นของประชาชน วิธีแก้ก็คือ การให้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นฉบับซึ่งประชาชนรู้สึกเป็นเจ้าของ จะดีที่สุด คือ อย่าแตะหมวดหนึ่ง หมวดสอง และทำประชามติต่างหาก ยึดรูปแบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active