“มูฟดิ” ผุดคู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติฯ หลังพบหลายกรณีผิดจริยธรรม ขัดหลักสิทธิมนุษยชน

ส่งมอบสภาการสื่อฯ กำกับดูแลสื่อทุกประเภท ระมัดระวังการใช้ภาพที่ไม่เหมารวม ไม่ตีตรา และเลือกปฏิบัติ

วันนี้ (18 ต.ค.66) ที่ทำการชั่วคราวสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เครือข่ายประชาชนขจัดการเลือกปฏิบัติ (MovED) เดินทางเข้ามอบคู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติ เป็นคู่มือเสนอต่อสื่อมวลชนนำไปใช้ประโยชน์ให้การสื่อสารสาธารณะกับสังคมให้เข้าใจ เคารพบุคคลที่แตกต่างหลากหลาย เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนากลไกด้านสิทธิมนุษยชน ขจัดการตีตราและเลือกปฏิบัติในสังคมไทย

ตัวแทนระบุว่า เนื่องจากการนำเสนอเนื้อหาข่าว ภาพข่าว การแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนในช่วงที่ผ่านมา มีลักษณะการนำเสนอที่ไม่เป็นไปตามข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน และไม่อยู่บนพื้นฐานหลักการสิทธิมนุษยชน ส่งผลให้เกิดการตีตราและเลือกปฏิบัติ อันเนื่องมาจากความแตกต่างหลากหลายของกลุ่มคน อาทิ กลุ่มผู้ใช้ยาเสพติด กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ แรงงานข้ามชาติ กลุ่มชาติพันธุ์ คนพิการ เป็นต้น

ตัวอย่างการนำเสนอข่าวที่ผ่านมา เช่น

“พม่าโหด” นั่งก๊งเหล้า เกิดปากเสียงคว้ามีดปาดคอเพื่อนดับสยอง

ศาลไม่ให้ประกัน “ตำรวจ ตม.สาวทอม” ยิงแม่ค้าออนไลน์เสียชีวิตในวัด

สาวแต่งหวิวไม่ใส่แมสก์ ยืนดักขายบริการให้หนุ่มอารมณ์เปลี่ยว เย้ยคำสั่ง ศบค. ไม่หวั่นโควิด

“การพาดหัวข่าวดังตัวอย่าง ทำให้ผู้คนในสังคมเกิดความคิดเห็นเชิงลบ และทัศนคติที่ลบต่อกลุ่มคนขายบริการ ซึ่งสามารถเห็นได้ชัดผ่านการแสดงความเห็นที่รุนแรง”

ตัวแทนมูฟดิ

นอกจากข่าวแล้ว MovED ยังพบการผลิตซ้ำอคติ ที่มาจากสื่อรูปแบบอื่นๆ ได้ด้วย เช่น ภาพยนตร์ ที่เหมารวมเกี่ยวกับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTQIAN+) ว่าเป็นคนตลก ซึ่งเป็นการนำเสนอที่ไม่สะท้อนความเป็นจริง และ เพลง ที่มีเนื้อหาเหยียดเพศ หรือผลิตซ้ำความเข้าใจผิดที่ว่าการคุกคามทางเพศเป็นสิ่งที่ทำได้ หรือเหยียดชนชั้น รูปลักษณ์ภายนอก เป็นต้น

สุนทร สุขชา ผู้แทนจากสมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย กล่าวถึงปัญหาเรื่องสื่อทีเกิดขึ้นกับคนพิการว่า ปัญหาที่เกิดกับคนพิการในเรื่องสื่อมีหลายมิติ ทั้งอุปสรรคการเข้าถึง และการที่ถูกทำให้เป็นตัวตลก เป็นคนน่าสงสาร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้พิการทางสติปัญญา ถ้ามีการดูแลเรื่องนี้ในทางจริยธรรมจะช่วยเป็นการพัฒนาวงการสื่อมวลชนในประเทศได้มาก

กรียงไกร ชีช่วง ประธานสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์ต่อเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุในทางไม่ดี ข่าวมักลงแบบเหมารวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ เช่น ม้งค้ายา แม้วเผาป่า หรือชาติพันธุ์นั้นชาติพันธุ์นี้ ทั้งที่พฤติกรรมที่เกิดนั้นเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล แต่ก็ไม่สนใจจะลงว่าเป็นนายคนนั้นคนนี้ จนเกิดผลกระทบต่อกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ อย่างมาก รวมทั้งการสื่อสารทางนโยบายที่มุ่งเน้นนโยบายของรัฐที่ทำให้คนชนเผ่าพื้นเมืองเป็นกลุ่มที่ขัดแย้งกับนโยบายของรัฐโดยเฉพาะเรื่องที่ดิน และคนซึ่งอาศัยในป่า

ศิริศักดิ์ ไชยเทศ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเด็นผู้ที่มีความหลากลายทางเพศ และพนักงานบริการ กล่าวว่า ประเด็นผู้ใช้ยาเสพติด แม้ปัจจุบันจะมีงานศึกษาแจ่มชัดว่า มีผู้ใช้ยาเสพติดจำนวนมากที่อยู่ในภาวะซึ่งสามารถพึ่งพาตัวเองได้ โดยใช้ยาเพื่อการสันทนาการหรือความรื่นรมย์ทางเพศ แต่ทุกครั้งคราวที่มีปัญหาในสังคมไม่ว่าเรื่องใดก็ตาม มักถูกเชื่อมโยงว่าผู้กระทำ หรือผู้ก่อเหตุเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งที่เมื่อมีการพิสูจน์แล้วก็พบว่า ยาเสพติดไม่ได้เกี่ยวข้องกับข้อเท็จจริงที่นำเสนอเลย เช่นกันกับที่ภาพลักษณ์ของคนใช้ยา ก็ยังเป็นภาพหดหู่ ทรุดโทรม ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นการเหมารวมไม่ว่าปัญหาอะไร ๆ ก็โยนให้ต้นตอมาจากยาเสพติด

สุไลพร ชลวิไล จากกลุ่มทำทาง ซึ่งทำงานเพื่อสื่อสารถึงสิทธิในการทำแท้งปลอดภัย กล่าวว่า เรื่องการทำแท้งทั้งในสื่อบันเทิง หนัง ละคร ซีรีส์ แม้กระทั่งกระแสข่าวเอง ยัดเยียดให้ประเด็นนี้ซึ่งเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนกลายเป็นเรื่องเลวร้าย ทั้งที่สถานการณ์ปัจจุบันนั้นถูกกฎหมาย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานรัฐด้วย ซึ่งสื่อที่ออกมาทั้งบรรยากาศสถานบริการที่ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นมิตร มีเรื่องของเวรกรรมและผีเด็กไปเกี่ยวข้องนั้น ไม่เคยมีการสื่อสารในมิติอื่นเลย ซึ่งไม่ต่างอะไรกับประเด็นที่ผู้ใช้ยาเสพติดเจอ

ทั้งนี้ MovED ได้ตระหนักถึงปัญหา ความท้าทาย ในการนำเสนอข่าวต่อสาธารณะในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นอิทธิพลของโซเชียลมีเดีย การแพร่กระจายข่าวลวง และการนำเสนอข้อมูลเท็จบิดเบือน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้สื่อมวลชนทำหน้าที่อย่างถูกต้อง ตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ และมุ่งหวังให้สื่อมวลชนมีส่วนร่วมในการสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยการยุติการตีตราผ่านสื่อ จึงจัดทำแนวปฏิบัติเรื่อง การนำเสนอข่าวและภาพที่ไม่เหมารวม ไม่ตีตรา และเลือกปฏิบัติ ขึ้น โดยหวังว่าจะเป็นแนวทางที่จะให้สื่อมวลชนนำไปใช้ในการกำหนดทิศทางการนำเสนอข่าวที่มีความตระหนักรู้มากขึ้นหลังจากนี้

ด้าน ชาย ปถะคามินทร์ ผู้อำนวยการบริหารสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ทำหน้าที่รับมอบคู่มือพร้อมให้ความเห็นว่า สภาฯ ยินดีให้ความร่วมมือ กับเครือข่ายฯ แต่เหนือสิ่งอื่นใดเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่สื่อทำหน้าที่ผิดเพี้ยน มีแนวโน้มไปตีตราใครผู้ได้รับความเสียหาย รวมทั้งคนที่ทำงานเกี่ยวข้อง ควรเป็นกลุ่มแรกที่เดินเข้าไปร้องเรียน หรือพูดคุยกับสื่อนั้น เนื่องจากที่ผ่านมาหากไม่เกิดเหตุการณ์หรือกรณีตัวอย่างขึ้น สื่อเองก็จะเข้าใจว่าสิ่งที่ตนทำดีอยู่แล้วทั้งในทางการนำเสนอและการได้กระแส อย่างไรก็ตามยินดีที่จะให้ความร่วมมือในส่วนที่ทำได้

รมิดา ลีลาพตะ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมการแข่งขันและกำกับดูแลกันเอง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะผู้แทนรับมอบคู่มือสื่อไม่เลือกปฏิบัติได้ร่วมกล่าวถึงสถานการณ์สื่อกับการตีตราและเลือกปฏิบัติว่า กสทช.มีหน่วยรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ และการนำเสนอข้อมูลของสื่อโดยตรง รวมทั้งตอนนี้เรามีฐานข้อมูลในการรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับสื่อ เนื่องจากเรื่องเหล่านี้ หากมีความรุนแรงในการออกอากาศและมีกฎหมายควบคุม กสทช.จะช่วยดู เพราะเป็นหน้าที่ที่จะต้องดูแลการปฏิบัติงานของสื่อให้เป็นไปตามกฎหมาย ซึ่งจะเกี่ยวข้องยึดโยงกับการพิจารณาต่อใบอนุญาต แต่ทีวีดิจิทัลกว่าจะต่ออายุคือ 15 ปี/ครั้ง ตามกฎหมายแม้มีโทษแต่การปรับก็เป็นจำนวนน้อย ส่วนอีกระดับเป็นเรื่องของจรรยาบรรณวิชาชีพ กสทช.จะทำหน้าที่ช่วยกำกับ และส่งเสริมความรู้เข้าใจ ดังนั้น โดยส่วนตัวหากมีกรณีตีตรา หรือเลือกปฏิบัติเกิดขึ้น ก็อยากให้ใช้ช่องทางร้องเรียนทั้ง 3 ส่วน คือ ตัวช่องทางที่กระทำ หน่วยงานที่ดูแลเรื่องจรรยาบรรณวิชาชีพ และ กสทช.เอง

อนุชา บุญยวรรธนะ นายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย กล่าวว่า สื่อภาพยนตร์เราเองก็มีการเรียนรู้ ปรับตัว และร่วมสะท้อนภาพสังคมมาโดยตลอด และยินดีที่จะนำเสนอเรื่องนี้ต่อสมาชอกผู้ผลิตภาพยนตร์ แต่ในสื่อโทรทัศน์ของวงการบันเทิงเองก็มีกองเซ็นเซอร์ที่คอยทำงาน บางประเด็นสามารถสอดแทรกหรือป้องปรามกันได้ ในเชิงข้อเท็จจริง แต่หลายครั้งประเด็นทางสังคมบางประเด็นที่เป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนก็อาจไม่ผ่านการอนุญาต ถึงแม้จะพูดแบบนี้แต่ก็ต้องให้ความหวังว่า มันเริ่มเกิดขึ้นแล้วในกลุ่มผู้กำกับหรือคนเขียนบทที่เป็นอิสระ แต่เรื่องราวเหล่านี้หากอยากให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน และนำไปสู่การผลิตสื่อด้วยความรู้ ความเข้าใจ ไม่ตีตราหรือเลือกปฏิบัติ อาจต้องทำให้ต่อเนื่องหลากหลาย และครอบคลุมทั้งสื่อกระแสหลักและหระแสรอง ที่การนำเสนอมันสอดคล้องและสามารถสะท้อนนโยบายที่อาจสร้างผลกระทบของรัฐได้ด้วยเช่นกันและสิ่งสำคัญในการที่จะทำให้ผู้ผลิตภาพยนตร์หรือคนทำงานสื่อนั้น ๆ ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติคือการแสดงความคิดเห็น (comment) ในช่องทางต่าง ๆ ที่เขามี หรือเขาเปิดให้แสดงความเห็น นั่นจะเป็นการสะท้อนเสียงโดยตรงของผู้ได้รับผลกระทบ

ด้าน จารุณี ศิริพันธุ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์คุ้มครองสิทธิด้านเอดส์ ในฐานะหน่วยงานเลขาของเครือข่ายฯ กล่าวถึงการเดินทางเข้าพบสื่อในวันนี้ว่า การทำงานของเครือข่ายเพื่อลดการตีตราและเลือกปฏิบัตินั้น ทำผ่าน 3 ยุทธิวิธีหลัก คือ เสนอให้ประเทศไทยมี ‘กฎหมายขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล’ พร้อมดำเนินกิจกรรมร่วมกับกลุ่มประชากรที่มีความแตกต่างหลากหลาย เพื่อลดการตีตราตนเองรวมทั้งสร้างการเรียนรู้ข้ามเครือข่าย และสิ่งสำคัญที่ทำให้เรามาหาหน่วยงานต่าง ๆ ในวันนี้ คือ การสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรี ลดอคติการตีตราโดยกการทำงานสื่อสารสาธารณะ และร่วมมือกับสื่อมวลชน สถาบันสื่อ และหน่วยงานกำกับดูแลสื่อ

(ดาวน์โหลดได้ที่ www.endofdiscrimination.org)

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active