ตัดปัญหาข้อถกเถียงคำถามประชามติ – เห็นด้วยร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เลือกตั้ง สสร. 100% แบบกลุ่มจังหวัด
วันนี้( 9 ธ.ค. 2566) ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา วงเสวนา “Con for All ปักธง ส่งต่อสสร.เลือกตั้ง” จัดโดย โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ชวนคุยถึงเหตุผลความจำเป็นที่จะต้องตั้งคำถามประชามติภายใต้เงื่อนไขว่า ต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด
กรกช แสงเย็นพันธ์ กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 มีการแก้ไข 3 ครั้งโดยศาลรัฐธรรมนูญ และมาตรา 44 ของ คสช. ตามข้อสังเกตพระราชทาน เกี่ยวกับการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และการมีผู้สนองพระบรมราชโองการ ซึ่งสะท้อนว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชน จึงจำเป็นต้องมีการเขียนใหม่ทั้งฉบับ และ สสร.ต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อยืนยันอำนาจการสถาปนาธรรมนูญว่าเป็นของประชาชน ขณะที่รัฐบาลปัจจุบันต้องการที่จะแก้ไขบางส่วน โดยไม่แก้หมวด 1 หมวด 2
ด้าน แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวว่าเหตุที่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะรัฐธรรมนูญปี 2560 มาจากบรรยากาศอำนาจกดขี่ประชาชน โดยรัฐธรรมนูญที่ดีต้องแสดงเจตจำนงในการดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน และมองว่าจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 3 สิ่งที่ชัดเจน คือ 1.ต้องให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน 2.จัดวัสดิการดูแลประชาชน และ 3.กลไกการบริหารงานที่เป็นธรรมกับประชาชนทั้งสามสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องมาจากการที่ประชาชนร่วมกันเขียนรัฐธรรมนูญ
แสงศิริ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมายังไม่เคยมีรัฐธรรมนูญฉบับไหนที่กำหนดเรื่องให้สวัสดิการที่เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีหลักประกันในการพัฒนาคุณภาพชีวิตโดยไม่แบ่งแยก ถ้าเราจะเขียนใหม่ต้องให้มีการเลือกตั้ง สสร. ร้อยเปอร์เซ็นต์จะยุติธรรมมากที่สุด ส่วนข้อกังวลว่าการเลือกตั้ง สสร. จะทำให้ขาดความหลากหลายไม่ครอบคลุมคนทุกกลุ่ม เป็นแนวคิดที่เริ่มต้นก็แบ่งแยกแล้ว แต่เชื่อว่าการเลือกตั้งจะทำให้เกิดโอกาสการแข่งขันของผู้คนที่จะเข้ามาเขียนรัฐธรรมนูญได้ โดยมองว่าปัญหาของรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาคือการเขียนส่วนใหญ่มาจากมุมของนักปกครอง แทบไม่มีการมีส่วนร่วมจากภาคประชาชน ในการร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ
ด้าน รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า คำถามในการทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญมีความสำคัญมาก ยกตัวอย่างเช่นหากถามว่า “ท่านเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้รัฐธรรมนูญโดยห้ามแก้หมวด 1 และหมวด 2” ลักษณะคำถามแบบนี้อาจจะทำให้ตกม้าตายได้ ซึ่งเข้าใจว่ารัฐบาลยุคปัจจุบันกังวลในเรื่องของการแก้หมวด 1 หมวด 2 ว่าสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จะไม่โหวตให้แก้รัฐธรรมนูญ และเป็นห่วงว่าการเลือกตั้ง สสร. ร้อยเปอร์เซ็นต์ จะนำคนที่เคยร่างรัฐธรรมนูญไปอยู่ที่ไหน ซึ่งก็ต้องตอบข้อกังวลของรัฐบาลว่า ต้องยืนยันอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญควรเป็นของประชาชน ยึดโยงกับประชาชนผ่านการเลือกตั้ง สสร. ส่วนการแก้รัฐธรรมนูญจะต้อง ผ่าน 2 ด่าน ด่านแรกคือ รัฐสภา สส.- สว. โหวตแก้รัฐธรรมนูญ และด่านที่ 2 ที่การทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ โดยการทำประชามติ มีความสำคัญกว่า สส. สว. เพราะเป็นเสียงของประชาชนอย่างแท้จริงที่ต้องการจะแก้รัฐธรรมนูญ
ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา ตัวแทนคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญปี 2560 ก็ผ่านการประชามติแต่ก็อยู่ท่ามกลางบรรยากาศห้ามรณรงค์โหวตโน จึงเป็นการทำประชามติจอมปลอมส่วนความกังวลของรัฐบาลในเรื่องของหมวด 1 หมวด 2 คือห้ามแก้ในข้อความที่ระบุว่า “ประเทศไทยเป็นอันหนึ่งอันเดียวจะแบ่งแยกไม่ได้” และ “การปกครองโดยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” หมวด 2 จะเป็นเรื่องของการแต่งตั้งองคมนตรี องค์กรอิสระ มีคนกังวลมากเกินไปว่าถ้าแก้หมวด1 หมวด 2 จะไปกระทบกับพระราชอำนาจ ซึ่งก็ดูจะพูดเกินเลยไป
ในฐานะคณะกรรมการศึกษาการทำประชามติแนวทางการทำประชามติซึ่งก็ได้ไปศึกษาคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่า หากจะแก้รัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกก็คือประชามติว่าจะแก้กับครั้งที่สองคือประชามติว่ารับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งถ้าให้ทำสองครั้ง ก็อาจไม่ต้องทำครั้งแรกก็ได้จะได้ตัดปัญหา
พงศ์เทพ เสนอว่าไม่ต้องทำประชามติแก้รัฐธรรมนูญ แต่ให้เข้าสู่กระบวนการเลือก สสร.โดยรัฐบาลเสนอแก้รัฐธรรมมูญ เข้าสภาไปเลยก็ได้แล้วมาทำประชามติครั้งเดียวคือ ทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะช่วยประหยัดงบประมาณ 3000 ล้านบาทที่ไม่ต้องทำประชามติในครั้งแรก
ส่วนการเลือกตั้ง สสร. เพื่อให้เกิดความหลากหลายของกลุ่มคนที่จะเข้ามาร่างรัฐธรรมนูญไม่ควรเลือกตั้งตามเขตจังหวัดละหนึ่งคน ควรจะเลือกโดยใช้ระบบเขตประเทศ หรือกลุ่มจังหวัดจะเกิดความหลากหลายของกลุ่มคนมากกว่า