พร้อมเสนอตั้งคณะกรรมการร่วม รัฐ – BRN – ภาคประชาชน เดินหน้าปรึกษาหารือสาธารณะทุกรูปแบบ เปิดพื้นที่แสดงออกอัตลักษณ์ โดยไม่ถูกคุกคาม หวังเกิดการกระจายอำนาจ ภายใต้กฎหมายไทย ยืนยันทุกฝ่าย หนุนการพูดคุยสันติภาพ แต่รัฐกลับไร้ความชัดเจน
Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานผล การสำรวจความคิดเห็นประชาชนต่อกระบวนการสันติภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ Peace Survey ครั้งที่ 1-7 ตั้งแต่ปี 2559 – 2566 จากเครือข่ายภาควิชาการ ซึ่งได้สำรวจความคิดเห็นประชาชนจำนวน 10,582 คน
โดยประเด็นหลักที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการ คือ ให้ลดความรุนแรงกับพลเรือน, เสริมศักยภาพของชุมชนปกป้องตัวเองโดยปราศจากอาวุธ, การหลีกเลี่ยงการวิสามัญฆาตกรรมผู้มีความเห็นต่าง, การพูดคุยถึงรูปแบบการเมืองการปกครองที่เหมาะสมในการจัดการท้องถิ่น และการตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างฝ่ายรัฐบาล BRN และภาคประชาสังคม เพื่อจัดการปรึกษาหารือสาธารณะรูปแบบต่าง ๆ

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุถึง สิ่งที่น่าสนใจจากผลการสำรวจ คือ ประชาชนทั้งไทยพุทธ และมุสลิม ต้องการให้ลดความรุนแรงลง รวมถึงการพูดคุยสันติภาพที่ประชาชนมีเจตจำนงที่ชัดเจนอยากเห็นการเดินหน้า แต่รัฐกลับไม่มีความชัดเจน
ข้อเสนอเชิงนโยบายจากผลการสำรวจความคิดเห็น ยังได้เสนอการสร้างพื้นที่ปลอดภัย สําหรับประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยต่อการอยู่ในพื้นที่สาธารณะ การพัฒนาเศรษฐกิจบนฐานทุนทางสังคม และวัฒนธรรมของพื้นที่ พร้อมทั้ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน การส่งเสริมสิทธิทางวัฒนธรรม และอัตลักษณ์ท้องถิ่นยอมรับในความหลากหลาย เปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถแสดงออกทางอัตลักษณ์และวัฒนธรรม ของตนเองโดยไม่ถูกคุกคาม
นอกจากนั้นยังรวมถึง การกระจายอํานาจมากขึ้นภายใต้กฎหมายไทย เช่น การเลือกตั้งผู้ว่าฯ หรือ เขตปกครองพิเศษ รวมถึงการสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ และมีกลไกรับรองให้มีเสถียรภาพ แม้ประชาชนมองว่ายังไม่มีความก้าวหน้า
ขณะที่ ผศ.กุสุมา กูใหญ่ ผู้อำนวยการสถาบันสันติศึกษา ม.สงขลานครินทร์ ระบุว่า จากผลการสำรวจของประชาชนที่ต้องการสันติภาพ ทำให้เกิดความท้าทายสำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องที่จะดำเนินการตอบสนองตรงนี้ โดยเฉพาะการพูดคุยสันติสุขที่ประชาชนพร้อมจะสนับสนุน และต้องการทำให้เห็นว่า เสียงของประชาชนนั้นมีความหมาย
นอกจากนี้ ยังพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังเสนอให้เพิ่มบทบาทของประชาชนเพื่อสร้างการมีส่วนรวมทางการเมือง การเสนอกลไกทางการเมืองและกฎหมาย เช่น การใช้รัฐสภาเป็นพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยปัญหาความขัดแย้ง และออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.สันติภาพชายแดนใต้, การตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณากระบวนการสันติภาพชายแดนใต้, การยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก
ทั้งนี้ยังเสนอให้ปฏิรูประบบราชการที่มีความโปร่งใส และเป็นธรรม รวมถึงการพัฒนาและปรับปรุงกลไกการสื่อสาร เพื่อสร้างการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ประสานความเข้าใจระหว่างผู้คนต่างวัฒนธรรม หลังพบว่า ประชาชนที่สำรวจ มากกว่าร้อยละ 33.6 ไม่เคยได้ยินข่าวการพูดคุยสันติสุขเลย และร้อยละ 55.4 ประชาชนอยากฟังข้อมูลจากรัฐบาลมากที่สุด