แฉงบฯ 67 รัฐบาลตีเช็คเปล่า 200 ล. ทำ “ผังพื้นที่เฉพาะ”

สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล เชื่อทำแล้วไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมาย พบโครงการย้อนหลัง 10 ปี สูญงบฯ กว่า 1,200 ล้านบาท แนะปรับงบฯ รับฟังท้องถิ่นมากขึ้น พัฒนาเมือง ตอบโจทย์ผู้คน คุ้มค่าเม็ดเงินที่จ่าย

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล อภิปรายในวาระ 1 ของการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยลุกขึ้นอภิปรายประเด็น การจัดทำผังเมืองและการจัดสรรงบประมาณเพื่อการพัฒนาเมือง โดยยกคำแถลงนโยบายของ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่สัญญาว่าจะ “พัฒนาต่อยอดเขตเศรษฐกิจพิเศษและระเบียงเศรษฐกิจทั้ง 4 ภาค ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนการพัฒนาพื้นที่และเมืองให้เป็นไปตามผังเมืองที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน เพื่อให้เกิดการกระจายความเจริญและกิจกรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ภูมิภาคเพื่อส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ในประเทศ”

ในส่วนของงบประมาณ ณัฐพงศ์ ระบุว่า รัฐบาลได้จัดสรรงบฯ พัฒนาเมืองอยู่ใน “แผนยุทธศาสตร์และการพัฒนาพื้นที่และเมืองน่าอยู่อัจฉริยะ” จำนวน 9,434 ล้านบาท คิดเป็นงบฯ ที่อยู่ในการดูแลของกรมโยธาธิการฯ ไปแล้ว 95% ซึ่งเงินเหล่านั้นออกมาเป็นโครงการใหญ่ ๆ อย่าง การพัฒนาพื้นที่ตามผังเมือง 7,243 ล้านบาท การวางแผนและสนับสนุนด้านการผังเมือง 927 ล้านบาท เป็นต้น

โดยชี้ว่า ผังเมืองที่รัฐใช้อยู่เป็นหลักคือ “ผังเมืองรวม” ซึ่งมีไว้เพื่อวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน วางแผนโครงสร้างพื้นฐาน โดยมีส่วนกลางเป็นผู้กำหนดเป็นส่วนใหญ่ ยกตัวอย่าง ผังเมือง กทม. ที่เป็นผังเมืองรวม ซึ่งจะรับฟังความเห็น และผังเดียวใช้ทั้งเมือง ซึ่งปัญหาที่ตามมาคือ การพัฒนาเมืองมักไม่เป็นตามไปผังเมือง เพราะคนวางแผนก็ไม่ได้รู้จักทุกตารางนิ้วในพื้นที่ ซึ่งเครื่องมือที่จะช่วยแก้ไขปัญหานี้ได้คือ “ผังเมืองเฉพาะ” ตามพ.ร.บ.การผังเมืองฯ 2562 ที่มีลักษณะคล้ายกับ “ผังเมืองรวม” แต่จะมีขนาด และความจำเพาะพื้นที่มากกว่า เช่น อาจทำในระดับเขต หรือระดับแขวงได้

ณัฐพงศ์ ยังมองว่า การจัดทำผังเมืองเฉพาะจะทำให้ท้องถิ่นสามารถเป็นแม่งาน ออกแบบพื้นที่ให้ตอบโจทย์ความต้องการของตัวเองได้ตรงจุด ทำให้ยิ่งเมืองใหญ่จึงควรมีผังเมืองเฉพาะเพื่อตอบความซับซ้อนของพื้นที่ ซึ่งในงบฯ ปี 2567 มีการจัดสรรงบฯ ผังเมืองเฉพาะอยู่ราว 200 ล้านบาท กระจายอยู่ทุกภูมิภาค ซึ่งถ้าทำได้จริงตามนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาผังเมืองได้

แต่สิ่งที่ปรากฎในงบฯ 67 กลับเป็นงบฯ ของ “ผังพื้นที่เฉพาะ” ซึ่งเป็นคนละชื่อกับ ผังเมืองเฉพาะ หากดูใน พ.ร.บ.การผังเมืองฯ จะพบว่า เป็นผังที่ไม่มีอยู่จริงตามกฎหมาย ตนได้ลองสืบค้นจากเว็บไซต์กรมโยธาธิการฯ พบคำจำกัดความคร่าว ๆ ว่า ผังพื้นที่เฉพาะ อาจเรียกได้ว่า ผังเมืองเฉพาะเบื้องต้น แต่ไม่ได้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย นั่นหมายความว่าการจัดงบฯ ผังเมืองนี้ อาจเป็นการเลี่ยงบาลีเพื่อตั้งงบฯ เอาไปใช้กับสิ่งที่ไม่ได้เกิดประโยชน์ขึ้นจริง

Image

“นั่นหมายความว่า เกือบ 200 ล้านบาท ถูกตั้งงบประมาณ ในสิ่งที่เราไม่รู้ว่าทำไปทำไม ในขณะเดียวกัน ผังเมืองเฉพาะ ที่มีกฎหมายรับรอง ปรากฏว่างบประมาณที่ได้คือ “ศูนย์บาท” กลายเป็นว่าผังเมืองเฉพาะในประเทศนี้มี “ศูนย์ผัง” เพราะเราเอาแต่งบฯ ไปทำผังพื้นที่เฉพาะ”

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์

ณัฐพงศ์ ยังชวนย้อนดูข้อมูลเมื่อปี 2557 พบว่า ประเทศไทยเสียเงินไปกับการจัดทำผังพื้นที่เฉพาะไปแล้ว 1,200 ล้านบาท และทุกผังที่ทำ ไม่ได้ใช้จริงเลยแม้แต่ผังเดียว โดยเฉพาะตั้งแต่ปี 2563 ไทยสูญเงินปีละราว ๆ 200 ล้านบาท ตนจึงหวังที่จะเห็นเงินก้อนนี้นำไปใช้กับการจัดทำผังเมืองเฉพาะที่รองรับตามกฎหมาย และลงทุนไปกับการรับฟังความคิดเห็น ทำความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ เพื่อสร้างแผนพัฒนาเมืองที่ทุกคนมีส่วนร่วม

สส.กรุงเทพฯ พรรคก้าวไกล บอกอีกว่า ในงบประมาณพัฒนาเมืองวงเงินราว 7,000 ล้านบาทนั้น กว่า 6,000 ล้านบาท เป็นงบฯ ไว้ “สร้าง” เพื่อแย่งงานของท้องถิ่น มีสิ่งปลูกสร้างที่กำหนดแผนโครงการจากส่วนกลางจำนวนหนึ่งถูกทิ้งร้าง เนื่องจากไม่ได้ผ่านการสำรวจความต้องการของคนในชุมชน ทำให้หลายโครงการไม่อาจสร้างประโยชน์ต่อเมืองได้ และถึงแม้งบฯ ข้างต้นจะถูกจัดสรรไว้เมื่อปีก่อน แต่ในปีนี้มีวงเงินอีก 1,400 ล้านบาทที่ตั้งงบฯ ไว้ในยุครัฐบาลเศรษฐา กว่าร้อยละ 60 ของงบฯ ก็ไม่ระบุว่าจะสร้างหรือพัฒนาพื้นที่เป็นอะไรแน่

“หยุดทำในสิ่งที่ไม่ได้ใช้ แล้วประเทศจะประหยัดงบประมาณปีละ 200 ล้าน หรืออย่างน้อยเอางบส่วนนี้ไปทำเป็นผังเมืองเฉพาะ ให้มันเกิดขึ้นจริง มันจะมีประโยชน์มาก อย่างที่สอง โครงการที่ส่วนกลางคิด แล้วก็ให้ท้องถิ่นเป็นคนรับกรรม แล้วก็ไม่มีใครรับผิดชอบเนื่องจากว่าโครงการถูกทิ้ง ต้องขอให้ท่านเปลี่ยนแปลงนะครับ ให้เป็นส่วนกลางไม่ต้องคิดแล้ว ให้ท้องถิ่นคิด ท้องถิ่นได้ประโยชน์”

ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active