เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร ยื่นหนังสือถึงประธานสภาฯ เดินหน้าเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ยุติดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา รวมคดีอาญามาตรา 112 ย้ำ เพื่อลดความขัดแย้งและความไม่เป็นธรรมที่เกิดกับประชาชน
วันนี้ (1 ก.พ. 2567) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร นำโดย ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) และ พูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นหนังสือถึงประธานสภาผู้แทนราษฏร ผ่านเลขารองประธานสภาฯ คนที่ 1 เพื่อแจ้งเดินหน้า เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน เพื่อยุติการดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตลอด 20 ปีที่ผ่านมา
พูนสุข กล่าวว่า เนื้อหาและสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับประชาชน จะเป็นการนิรโทษกรรมประชาชนในคดีการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมือง ครอบคลุมตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549 ถึงปัจจุบัน โดยผู้ที่ได้รับประโยชน์ทุกคนไม่แบ่งสีแบ่งฝ่าย
ส่วนความผิดที่จะได้รับการนิรโทษกรรมในทันที เช่น คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 37/2557 และ 38/2557, คดีตามฐานความผิดในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, คดีตามฐานความผิดในพระราชบัญญัติออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 และ คดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับข้อดังกล่าวด้านบน
ทั้งนี้ จะยกเว้น ไม่นิรโทษกรรมให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการใดที่เกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 หรือความผิดฐานเป็นกบฏ ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ยังกำหนดให้ตั้ง “คณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชน” เพื่อเป็นกลไกในการนิรโทษกรรม โดยมีสมาชิกในคณะกรรมการดังกล่าว 19 คน ประกอบไปด้วย ประธานสภาผู้แทนราษฎร (ประธานคณะกรรมการ), ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร, ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และ สส. 10 คน ตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร รวมไปถึง ตัวแทนประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ทางการเมือง และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน
โดยคณะกรรมการชุดดังกล่าวยังมีหน้าที่สำคัญในการพิจารณาว่า นอกจากคดีที่ได้รับการนิรโทษกรรมตามมาตรา 5 หากคณะกรรมการเห็นว่าเป็นคดีที่เข้าข่ายเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง ก็สามารถวินิจฉัยให้นิรโทษกรรมได้ รวมไปถึงการหาแนวทางในการเยียวยา และการลบประวัติอาชญากรรม พร้อมยืนยันว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมาย หรือการยกเลิกกฎหมายอื่น แต่จะเป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง
จากนั้น เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน 23 องค์กร ได้เดินทางต่อไปยังพรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล เพื่อให้สนับสนุนร่างกฎหมายดังกล่าว พร้อมทั้งเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมลงชื่อสนับสนุนกฎหมาย ผ่านเว็บไซต์ https://amnestypeople.com/ ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 14 ก.พ. 2567 เพื่อเป้าหมาย 10,000 รายชื่อ ในการเสนอกฎหมายต่อสภาฯ ต่อไป