หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ‘พิธา – ก้าวไกล’ เสนอแก้ ม.112 เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง หวั่นบทเรียนประชาชนลงถนน ไม่ต่างกรณียุบ ‘อนาคตใหม่’
วันนี้ (1 ก.พ. 67) สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ให้สัมภาษณ์รายการตรงประเด็น Thai PBS กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ว่า พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ สส.พรรคก้าวไกล และ พรรคก้าวไกล มีนโยบายเสนอแก้มาตรา 112 เป็นการกระทำที่เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง พร้อมสั่งให้เลิกการกระทำ การแสดงความคิดเห็น การเขียนเพื่อให้มีการยกเลิกกฎหมาย มาตรา 112 และไม่ให้แก้ มาตรา 112
โดยระบุว่า คำวินิจฉัยชัดเจน “ไม่ได้ห้าม” ให้แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 112 แต่การแก้โดยกระบวนการที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการนิติบัญญัตินั้นทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นต้องอาศัยกระบวนการนิติบัญญัติที่ชอบด้วย ส่วนจะชอบหรือไม่ชอบ มองว่า คำอธิบายการวินิจฉัยบอกไว้ค่อนข้างชัดเจน เพราะเรื่องนี้เมื่อเข้าสู่กระบวนการศาลรัฐธรรมนูญ ศาลจะตีความโดยมองภาพกว้าง ที่นอกเหนือไปจากการเสนอโดยสภาผู้แทนราษฎร คือ ดูพฤติการณ์แวดล้อมนอกสภาด้วย ว่ามีกระบวนการหรือกระบวนการนอกสภา เกี่ยวข้องด้วยหรือไม่ ถ้าก้าวไกลจะเดินหน้าต่อ ต้องทำด้วยความระมัดระวัง
ทั้งนี้หากคำวินิจฉัยดังกล่าว นำไปสู่การร้องให้ยุบพรรคก้าวไกล และ หากพรรคถูกยุบจริง สติธร มองว่า สถานการณ์น่าจะตึงเครียดมากขึ้น เพราะต้องยอมรับว่าสัดส่วนคนสนับสนุนพรรคก้าวไกลมีจำนวนมาก โดยยกบทเรียนกรณียุบพรรคอนาคตใหม่ ที่มีประชาชนออกมาเคลื่อนไหวจำนวนมาก หากเกิดขึ้นอีกก็อาจนำไปสู่การออกมาเคลื่อนไหวที่อาจจะขยายวงกว้างกว่าเดิม
ยุบพรรค ? แต่ภูมิทัศน์การเมืองไม่เปลี่ยน
และถึงแม้พรรคก้าวไกลจะถูกยุบ สติธร ก็ยังเชื่อว่า อาจไม่ได้ส่งผลให้ภูมิทัศน์ทางการเมืองเปลี่ยน หรืออาจจะเปลี่ยนแค่ระยะสั้น คือ สัดส่วนสมาชิกฝ่ายค้าน ฝ่ายรัฐบาล ในสมัยปัจจุบันเท่านั้น แต่หากเลือกตั้งในอนาคต หากก้าวไกลตั้งพรรคใหม่ ที่ยึดอุดมการณ์เดิม ผลการเลือกตั้งไม่น่าจะเปลี่ยนไปจากเวลานี้
ส่วนท่าทีของพรรคเพื่อไทยต่อการแก้ มาตรา 112 ที่เคยเปิดเผยว่าจะแก้ แต่ล่าสุด อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด สส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย ออกมาระบุว่า การเสนอกฎหมายหลังจากนี้ อย่าดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ เข้ามาเกี่ยวข้องการเมืองอีกนั้น สติธร ระบุว่า เข้าใจพรรคเพื่อไทย เพราะก่อนนี้แม้เพื่อไทยจะหาเสียงประเด็นแก้มาตรา 112 เป็นช่วงก่อนจะมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ตอนนี้ทุกพรรคระวังเรื่องนี้มากที่สุด แม้จะเป็นการเสนอทางนิบัญญัติก็ต้องทำโดยชอบ แต่การจะปฏิเสธหรือตีตกไปเลย ก็ดูจะขัดกับที่หาเสียงไว้ แต่จะตอบรับหรือตอบสนองอย่างไร อาจต้องดูว่าไม่ให้ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
“ส่วนพรรคก้าวไกล ก็ดำเนินการไปในสิ่งที่ได้ดำเนินการมา ที่ยืนหยัดเจตนารมณ์ของตัวเอง ว่าไม่ได้มีเจตนาถึงขึ้นจะไปเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองหรือล้มล้างการปกครอง แล้วมีมีเจตนาบริสุทธิ์ที่จะทำให้เรื่องนี้เป็นไปตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ โดยเฉพาะด้านนิติบัญญัติ ที่พรรคก้าวไกล มี สส. อยู่ ก็คงต้องขับเคลื่อนไปบนเส้นทางนี้”
สติธร ธนานิธิโชติ
แนะ ‘เพื่อไทย’ หนุนเดินหน้า “กฎหมายนิรโทษกรรม”
ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า ยังให้ความเห็น กรณีที่ประชาชนได้ออกมาเคลื่อนไหว เรื่อง การนิรโทษกรรม ที่เน้นในการช่วยประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง รวมถึงการถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ด้วย แต่ย้ำว่าเป็นการเสนอที่ไม่เกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 โดยมองว่า เป็นช่องทางหลักที่รัฐธรรมนูญเปิดช่องไว้ ให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอกฎหมายได้ ซึ่งวัตถุประสงค์ของกฎหมายนี้ ก็เพื่อแก้ปัญหาการถูกลงโทษจากการเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งอาจไม่มีเจตนาทำผิดกฎหมายต่าง ๆ
“ผ่านมาการนิรโทษกรรมนี้รัฐบาลหลายยุคหลายสมัยก็พยายาม เปิดกระบวนการสร้างความปรองดอง ก็พบว่าประเด็นของหลายคนค่อนข้างตรงกัน คือ การนิรโทษกรรมความผิดของผู้ชุมนุม ที่ไปโดยเจตนาบริสุทธิ์ อย่างการออกมาเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าควรดำเนินการ”
สติธร ธนานิธิโชติ
สติธร บอกอีกว่า พรรคเพื่อไทย “ควรวางตัวสนับสนุน” เพราะคนที่ถูกดำเนินคดี ก็มีคนที่ออกมาสนับสนุนพรรค ไม่ว่าจะเป็น เพื่อไทย ไทยรักไทย หรือ อาจะมีประเด็นที่อ่อนไหว อย่างโทษ มาตรา 112 ที่ยังเห็นแตกต่างกันในหลายคน แต่ถ้าประชาชนจะเสนอกฎหมายที่รวมถึงโทษมาตรา 112 ด้วย อาจจะต้องใช้กระบวนการทางรัฐสภา ที่มีความชอบธรรมมากที่สุดตามรัฐธรรมนูญ
เช่นเดียวกับ รศ.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะนิติศาสตร์ วิทยาลัยบัณฑิตเอเชีย เปิดเผยกับ Thai PBS ถึงคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ระบุ ไม่ได้แปลว่ามาตรา 112 แก้ไขไม่ได้ แต่ศาลระบุไว้ว่า การกระทำในลักษณะที่พรรคก้าวไกลทำ ทั้งการชุมนุม การขึ้นเวทีปราศัย และการรณรงค์ให้แก้ไข และยกเลิกมาตรา 112 ต่างหากที่ทำไม่ได้ เพราะเป็นการ เซาะกร่อน บ่อนทำลาย เข้าข่ายการล้มล้างการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ส่วนกรณีจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นสารตั้งต้นให้ไปถึงการพิจารณายุบพรรคก้าวไกลในอนาคตหรือไม่ รศ.เจษฎ์ บอกว่า การยุบพรรคในขั้นตอนต่อไป มีโอกาสเป็นไปได้สูง เพราะพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 92 ในวรรค (1) ว่าด้วย การเข้าข่ายการกระทำการล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข วรรค (2) ว่าด้วย การกระทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ถ้าท้ายที่สุดแล้วศาลรัฐธรรมนูญ เห็นว่า สิ่งที่พรรคก้าวไกลได้ดำเนินการเป็นการล้มล้างหรือเป็นการกระทำการที่เป็นปฏิปักษ์ ศาลก็จะมีคำสั่งให้ยุบพรรค และตัดสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้งของกรรมการบริหารพรรค ซึ่งเวลานี้ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ได้ไปร้องต่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยในขั้นตอนต่อไป
สรุปแล้วเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ยังสามารถกระทำได้ แต่ต้องผ่านวิธีการโดยชอบด้วย กระบวนการทางนิติบัญญัติเท่านั้น และการกระทำนั้นต้องไม่ขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ว่า เป็นการกระทำที่มีเจตนาเซาะกร่อน บ่อนทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นเหตุให้ชำรุด ทรุดโทรม เสื่อมทราม หรืออ่อนแอลง นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
The Active ใช้เครื่องมือ Zocial Eye รวบรวมสิ่งที่ผู้คนพูดคุยกันในโลกออนไลน์ อย่าง Facebook ,X ,Youtube และ Instagram หลังคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น พบว่า ส่วนใหญ่ให้น้ำหนักไปที่ ทิศทางอนาคตของ พรรคก้าวไกลหลังจากนี้ รวมไปถึงคำตัดสินว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานะและอนาคตของประชาธิปไตยไทยจากนี้อย่างไร โดยเฉพาะเมื่อ ‘การเสนอแก้กฎหมาย’ เท่ากับ ‘ล้มล้างการปกครอง’
นี่คือ ข้อความหลัก ๆ ที่รวบรวมมาจาก 2# คือ #ศาลรัฐธรรมนูญ #ก้าวไกล มากที่สุด 37% คือ พรรคก้าวไกล ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า มีทั้งผู้ที่เข้ามาให้กำลังใจ และผู้ที่เห็นด้วยกับคำตัดสินว่า พรรคก้าวไกลล้มล้างการปกครอง แต่สิ่งที่ผู้คนพูดถึงพรรคก้าวไกลกันมาก ก็คือ แนวทางและอนาคตของพรรคนับจากนี้
อันดับ 2 คือ ศาลรัฐธรรมนูญ 15% ซึ่งส่วนใหญ่มองว่า คำตัดสินครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อสถานะและอนาคตของประชาธิปไตยไทยอย่างไร
ซึ่งก็อาจจะสัมพันธ์กับอีก 10% ที่พูดถึง ล้มล้างการปกครอง พูดถึงการแก้ไขกฎหมาย = ล้มล้างการปกครอง บางคนตั้งข้อสังเกตว่า กรณีการแก้ไขเพิ่มโทษกฎหมาย ม.112 ของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน พ.ศ. 2519 ถือเป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
อีก 10% เป็นเรื่องการยุบพรรค โดยคาดการณ์และจับตาผลการวินิจฉัยที่อาจนำไปสู่การยุบพรรค ตัดสิทธิ์ทางการเมือง พูดถึงการที่ เรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไปยื่นหนังสือยุบพรรควันนี้ โดยคนในโลกออนไลน์ ก็ตั้งคำถามว่า “ทำไมการยุบพรรคการเมืองถึงเกิดขึ้นง่าย แล้วถ้าก้าวไกลยังเดินหน้าแก้มาตรา 112 ก็คงถูกยุบพรรค แต่ถ้าไม่ทำอะไรต่อ คนก็อาจจะหมดหวัง”
ขณะที่ 9% พูดถึงการแก้ มาตรา 112 ในหลายประเด็น เช่น ที่คำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ ว่า เข้าข่ายล้มล้างการปกครอง แต่ขณะเดียวกัน ก็บอกว่า ทำได้โดยเข้าสภาฯ ตามกระบวนการนิติบัญญัติ บางคนก็มองว่า กฎหมายอาญาต้องแก้ไขได้ ขณะที่บางคนตั้งข้อสังเกตว่า พรรคอื่น ๆ ก็หาเสียงโดยบอกว่า จะแก้ไขมาตรา 112 เหมือนกัน
ที่เหลือก็จะมีประเด็นที่พูดถึงสถาบันพระมหากษัตรย์ กับข้อเสนอให้ “ให้สำนักพระราชวังเป็นผู้ฟ้อง” บางคนมองว่า “ไม่ได้ เพราะเป็นการให้พระมหากษัตริย์มาปะทะกับประชาชน”
มีการพูดถึงเรื่องสิทธิเสรีภาพ การแก้ไขกฎหมาย พูดถึงนโยบายหาเสียงแก้ ม. 112 ไม่ได้มีแค่พรรคก้าวไกลพรรคเดียว
รวมถึงการพูดกันถึง ‘การเลือกตั้งครั้งหน้า’ ว่า จะเลือกพรรคก้าวไกลเหมือนเดิม และกระแสการเลือกตั้งครั้งหน้าอาจมีการเปลี่ยนแปลง
นอกนั้นก็ มีคำว่า คสช.หรือ รัฐประหาร โดยคนในโลกออนไลน์ พูดถึงที่มาของศาลรัฐธรรมนูญ พร้อมกับเปรียบเทียบว่า กรณีรัฐประหาร ไม่เป็นการล้มล้างการปกครอง แต่พรรคการเมืองเสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 กลายเป็นการล้มล้างการปกครอง