ม.รังสิต เปิดตัว ‘Leadership Poll’ พบเกินครึ่ง ค้าน ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’

โพลสำรวจความเห็นผู้นำหลากหลายกลุ่มในสังคม กับ นโยบาย ‘รัฐบาลเศรษฐา’ ย้ำขอให้ทบทวน ‘แลนด์บริดจ์’ ชี้ยังขาดความมุ่งมั่นสร้างความปรองดอง เห็นควรแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตรา พร้อมขอให้เร่งขับเคลื่อน ‘ซอฟต์พาวเวอร์’

วันนี้ (3 ก.พ. 67) วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต แถลงเปิดตัวโครงการ ‘Leadership Poll’ และเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็น ครั้งที่ 1 ประจำปี 2567 โดยเป็นการสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายรัฐบาล 5 ด้าน ด้วย 5 ชุดคำถาม ได้แก่ 1. ความคิดเห็นต่อนโยบาย เงินหมื่นดิจิทัล 2. ความคิดเห็นต่อโครงการแลนด์บริดจ์ 3. ความคิดเห็นต่อยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ 4. ความคิดเห็นต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ 5. ความคิดเห็นต่อความมุ่งมั่นตั้งใจในการขับเคลื่อนนโยบายเพื่อสร้างความปรองดอง ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย

ผศ.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต กล่าววว่า Leadership Poll เป็นโพลน้องใหม่ ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล โดยมุ่งเน้นการสำรวจความเห็นในกลุ่มผู้นำหรือผู้ที่มีอิทธิพลทางความคิดในสังคม โดยทีมคณะอาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคมเป็นผู้ดำเนินการ มีความตั้งใจว่าจะทำทุกเดือน หรือ ตามวาระประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ

ผศ.สุริยะใส กตะศิลา คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต

“โพลทำหน้าที่สะท้อนความเห็นผู้นำในด้านต่าง ๆ เหตุผลที่เราเจาะจงผู้นำ และใช้ชื่อว่า ลีดเดอร์ชิพโพล เพราะโพลส่วนใหญ่เน้นการสำรวจความห็นของประชาชนอยู่แล้ว รวม ๆ มากกว่า 5 โพล”

ผศ.สุริยะใส กตะศิลา

ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคมฯ ม.รังสิต หัวหน้าทีมลีดเดอร์ชิพโพลระบุว่า โพลผู้นำทางสังคมธุรกิจและการเมืองนี้ มาจากการสำรวจความเห็นต่อนโยบายของรัฐบาล เก็บข้อมูลจากประชากร 543 ตัวอย่าง ในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นกลุ่มผู้นำทางสังคม 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 

  1. ภาคประชาสังคม ที่มีตัวแทนภาคประชาสังคม NGO และมูลนิธิต่าง ๆ ในประเทศไทย

  2. ภาคการเมือง ทั้งนักการเมืองระดับชาติและระดับท้องถิ่น นายกเทศมนตรี รองนายกเทศมนตรี นายก และรอง นายก อบจ. นายกและรองนายก อบต. ในทุกภูมิภาค ของประเทศ

  3. ภาคการศึกษา มีนักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย คณบดี รองคณบดี ในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน

  4. ผู้นำภาคธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยใช้วิธีคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 
ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาผู้นำทางสังคมฯ ม.รังสิต หัวหน้าทีมลีดเดอร์ชิพโพล

“ผู้นำที่ไม่ได้หมายถึงผู้นำทางการเมือง แต่จะเป็นกลุ่มผู้นำในภาคส่วนต่าง ๆ ด้วยชุดคำถาม 5 เรื่อง ที่กำลังอยู่ในความสนใจของประชาชน”

ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ

ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช เปิดเผยผลสำรวจทั้ง 5 ด้านนโยบาย พบว่า มีทั้งคนที่เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับนโยบายรัฐบาล ขณะที่ส่วนหนึ่งมองว่า ต้องการข้อมูลรายละเอียดจากภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น โดยสรุปผลสำรวจได้ ดังนี้

  • ความคิดเห็นต่อโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ ด้วยชุดคำถามที่ว่า ท่านมีความคิดเห็นอย่างไรต่อนโยบายแลนด์บริดจ์ของรัฐบาล พบว่า ร้อยละ 36.7 เห็นด้วย แต่ควรให้ชะลอการดำเนินการ หรือมีการทบทวนการดำเนินการอย่างละเอียดรอบคอบอีกครั้ง และ ร้อยละ 29.6 ไม่เห็นด้วยกับนโยบายดังกล่าว เห็นควรให้ระงับการดำเนินการ ร้อยละ 28 เห็นด้วยตามที่รับบาลเสนอ และควรให้เร่งดำเนินการตามกรอบเวลา ขณะที่ ร้อยละ 5.7 มีความเห็นอื่น ๆ เช่น ไม่ทราบรายละเอียด ต้องการข้อมูลที่ศึกษา ไม่แน่ใจ
  • ความเห็นต่อนโยบายการแก้ไขรัฐธรรมนูญ’ พบว่า ร้อยละ 52.4 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญในบางมาตรา ร้อยละ 28.8 เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ร้อยละ 14.5 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 4.30 ความคิดเห็นอื่น ๆ เช่น ไม่เห็นด้วยกับการแก้มาตรา 112 แก้ไขบางมาตราที่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนจริง ๆ และนำรัฐธรรมนูญ 2540 มาใช้และพิจารณาปรับปรุงหลักการในบางมาตรา
  • ความเห็นต่อนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท’ พบว่า ร้อยละ 62.2 ไม่เห็นด้วยและควรให้ระงับการดำเนินการ ร้อยละ 21.3 เห็นด้วย แต่ ให้ชะลอและมีการทบทวนอย่างรอบคอบ ร้อยละ 13 เห็นด้วยตามที่รัฐนำเสนอ และควรเร่งดำเนินการตามกรอบเวลา และ ร้อยละ 3.6 เป็นความเห็นอื่น ๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น ไม่แน่ใจ ไม่ค่อยสนใจ
  • ความเห็นต่อนโยบาย ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ พบว่า ร้อยละ 40.1 เห็นด้วยตามที่รัฐเสนอ และควรเร่งดำเนินการ ร้อยละ 37.3 เห็นด้วย แต่ควรชะลอ หรือมีการทบทวนการจัดสรรงบประมาณให้ละเอียดรอบคอบ ร้อยละ 14.5 ไม่เห็นด้วย และควรให้ระงับการดำเนินการ และร้อยละ 1.4 เป็นความเห็นอื่น ๆ เช่น ไม่ทราบรายละเอียด เห็นด้วยเป็นบางอย่าง ยังเข้าใจไม่ชัดเจน
  • ความคิดเห็นต่อนโยบาย ‘ขับเคลื่อนการปรองดอง’ พบว่า ร้อยละ 51.2 มองว่ารัฐยังขาดความมุ่งมั่นในการดำเนินการ ร้อยละ 34.9 เห็นว่ารัฐมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการ แต่ยังไร้รูปธรรม ร้อยละ 9.4 เห็นว่ารัฐมีความมุ่งมั่น และร้อยละ 4.5 ความคิดเห็นอื่น ๆ เช่น ยังไม่ได้ศึกษามากพอที่จะออกความคิดเห็น ไม่ทราบแน่ชัด ไม่แน่ใจ ระยะเวลาการดำรงตำแหน่งยังน้อยเกินกว่าที่จะประเมิน

“สำหรับผลโพลที่ออกมา รู้สึกใจชื้นที่ผลออกมาไม่ได้ทำให้เห็นว่า เราค้านรัฐบาลทุกเรื่อง ที่สำคัญโพลนี้มีน้ำหนักและรัฐบาลควรฟัง และนำเสียงสะท้อนไปทบทวน หรือ สามารถนำคำถามชุดเดียวกันไปสอบถามประชาชนทั่วประเทศ และเตรียมนำผลการสำรวจเผยแพร่ผ่าน เว็บไซต์ https://csirsu.com ต่อไป”

ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช ตรีเมฆ

ผศ.ร.ต.อ.จอมเดช บอกด้วยว่า นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะ จากกลุ่มผู้นำในกลุ่มตัวอย่างที่ได้จากการสำรวจเพิ่มเติม สรุปได้ดังนี้

  1. เท่าที่ผ่านมายังไม่เห็นอะไรเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร อย่างน้อยนโยบายที่ใช้หาเสียงก็ควรมีการดำเนินการตามที่เคยพูดไว้ยังมองไม่ออกว่าอะไรที่ทำไปแล้ว และอะไรที่ยังไม่ได้ทำก็ควรชี้แจง

  2. รัฐบาลต้องเคารพกฎหมาย เป็นตัวอย่างของการรักษาความยุติธรรม ไม่ให้อภิสิทธิ์ใครให้อยู่เหนือกฎหมาย

  3. การพัฒนาประเทศควรใช้สิ่งที่ไทยได้เปรียบเป็นสารตั้งต้นสำคัญ นโยบายสาธารณะที่ดีบางครั้งเกิดจากนวัตกรรมทางกระบวนการ แค่ปรับเปลี่ยนวิธีการก็อาจมีผลดีอย่างมีนัยสำคัญ ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณมหาศาล

  4. รัฐบาลควรเร่งแก้ปัญหา ในเรื่องของยาเสพติด ควบคู่กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยเร่งด่วน

  5. รัฐบาลควรลำดับความสำคัญ ความเร่งด่วนในการแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะการทุจริต การศึกษาและการทำงานของข้าราชการที่ล่าช้าและไม่สอดคล้องกับสภาวะการปัจจุบัน

  6. รัฐบาลยังคงกังวลเรื่องคะแนนเสียงมากกว่าการปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังและจริงใจ

  7. โครงการแลนด์บริดจ์ ที่ดูไม่ได้รับความสนใจ เพราะต้องขนของจากเรือที่ฝั่งอ่าวไทย ขนขึ้นรถไฟ แล้วขนลงเรืออีกครั้งที่ฝั่งอันดามัน ไม่สมเหตุสมผลในทางปฏิบัติจริง ควรเปลี่ยนเป็นรูปแบบอื่น ที่ไม่ต้องขนของขึ้นๆลงๆ จากเรือ คือให้เรือทั้งลำแล่นผ่านไปได้เลย

  8. ควรให้ความสนใจปัญหาโครงสร้างทางสังคมและการศึกษาในระดับแรก ๆ เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อนาคตของประเทศไทยดูแล้วมีแต่ถอยหลังเพราะเยาวชนของชาติไม่มีคุณภาพ คนไทยไม่ชอบใช้เหตุผล ใช่อารมณ์และความชอบส่วนตัวในการตัดสินใจปัญหา สนใจไสยศาสตร์มากกว่าวิทยาศาสตร์

  9. เข้าใจว่าผู้นำหลายท่านกังวลกับวิกฤติเศรษฐกิจ แต่วิกฤติความขัดแย้งที่เป็นผลเรื้อรังมานับสิบปีก็ยังคงมีอยู่ ซึ่งหากไม่มีแผนการดำเนินงานดังกล่าว ประชาชนโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่จะตกอยู่ในภาวะ Burnout และเลือกที่จะชะลอการสร้างผลผลิต (Productivity) หรือเลือกที่จะไม่พัฒนาศักยภาพ (Capacity) ซึ่งจะเกิดปัญหาเรื้อรังต่อไปในอนาคต โดยอยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศของการเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ หรือสร้างความภูมิใจร่วมที่คนรุ่นใหม่สามารถเข้าถึงได้

  10. เรื่องการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐบาลต้องตอบคำถามสังคมให้ได้ว่า ประเทศเกิดภาวะที่จะเรียกว่าวิกฤตหรือไม่ อย่างไร ถ้าจะแจก ควรกำหนดกลุ่มผู้เดือดร้อนให้ชัดเจน และเมื่อเป็นเงินกู้ เหตุใดจึงต้องจ่ายเป็นเงินดิจิทัล ทำไมไม่จ่ายเป็นเงินบาท ใครเป็นผู้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับอัตราการแลกเปลี่ยน และมีค่าใช้จ่ายในการแปลงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active