‘ผู้เชี่ยวชาญภาษามลายู’ แปลเอกสาร BRN ระบุ การเจรจายุคใหม่กับไทย ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตย จำเป็นต้อง ‘ถอยคนละก้าว’ ทบทวนแนวทางที่ผ่านมา หวั่นหน่วยงานความมั่นคง ดำเนินคดีนักกิจกรรม ทำลายบรรยากาศพูดคุย ขณะที่โต๊ะเจรจาสันติสุข เห็นชอบ 3 หลักการตามแผน JCPP
วันนี้ (8 ก.พ. 67) ฮาร่า ชินทาโร่ นักวิชาการอิสระ และผู้เชี่ยวชาญด้านภาษามลายู โพสต์ข้อความผ่านเพจส่วนตัว ระบุว่า ฝ่ายคณะพูดคุยของ BRN ติดต่อและส่งคำกล่าวเปิดการพูดคุยครั้งที่ 7 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ เป็นภาษามลายูมาให้ จึงได้ทำการแปลเอกสารดังกล่าว เชื่อว่า เป็นข้อมูลชิ้นสำคัญที่แสดงถึงจุดยืนของคณะพูดคุยฝ่าย BRN ต่อกระบวนการสันติภาพ สภาพปัญหา และแนวทางแก้ไข
เอกสารดังกล่าวระบุว่า กระผม อนัส อับดุลเราะห์มาน หัวหน้าคณะพูดคุยเจรจาสันติภาพของแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (BRN) ก่อนริเริ่มการเจรจาในยุคใหม่ภายใต้การบริหารของรัฐบาลไทยชุดใหม่ที่เกิดจากการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตย พวกเราจำเป็นต้องถอยหลังคนละก้าวเพื่อพิจารณา และทบทวนการเจรจาสันติภาพที่ดำเนินมาก่อนหน้านี้
พวกเราได้เห็นพ้องต้องกันว่า การเจรจาสันติภาพเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และถูกต้องเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขเพื่อนำไปสู่สันติภาพอันแท้จริงและยั่งยืน ความพยายามเพื่อสร้างสันติภาพที่ปาตานีได้ดำเนินมาเป็นเวลากว่าหนึ่งทศวรรษ โดยเฉพาะระห่าง BRN กับ คณะพูดคุยของรัฐบาลไทย อย่างไรก็ตามกระบวนการสันติภาพมักจะพบกับทางตันที่เกิดจากปัจจัยบางอย่างที่เป็นอุปสรรคสำหรับความคืบหน้าในกระบวนการเจรจา เช่น
- ยังไม่มีจุดร่วมที่มีนัยสำคัญระหว่าง BRN กับคณะพูดคุยของรัฐบาลไทย
- รัฐบาลทหารไทยก่อนหน้านี้พยายามจะหลีกเลี่ยงการพูดคุยในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่แท้จริง ทั้ง ๆ ที่ BRN ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงจังมาหลาย ๆ ครั้งในรูปแบบการหยุดยิงหลาย ๆ ครั้งก็ตาม เช่น การหยุดยิงฝ่ายเดียวในเดือนเมษายน 2560 เพื่อแสดงถึงความจริงจังในการสร้างสันติภาพให้แก่ประชาชนปาตานีและสังคมนานาชาติ และการหยุดยิ่งฝ่ายเดียวในช่วงโรคระบาด Covid-19 ถึงแม้ว่าฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาลทหารในขณะนั้นฉวยโอกาสหลายครั้งเพื่อโจมตีนักต่อสู้ปาตานี
- ข้อเสนอแนะสำหรับแนวทางแก้ไขความขัดแย้งจากฝ่ายนักต่อสู้ปาตานีถูกมองข้ามตลอด และไม่เคยได้รับความสนใจอย่างจริงจัง
- จุดอ่อนหลายอย่างที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้ในการเจรจาควรได้รับการแก้ไข เช่น วิธีการดำเนินการเจรจา กลไกการนำปฏิบัติข้อตกลงและความสอดคล้องกับมาตรฐานการเจรจาสากลที่ถูกนำมาใช้อยู่ในสังคมนานาชาติ
ประเด็นเหล่านี้ควรเป็นบทเรียนสำหรับทั้ง 2 ฝ่ายเพื่อขับเคลื่อนการเจรจาให้มีความคืบหน้าต่อไป และการจัดตั้งรัฐบาลผ่านวิธีการประชาธิปไตย หลังการเลือกตั้งเมื่อปีที่ แล้วถือว่าเป็นพลวัตสำคัญในการสร้างสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ประชาคมปาตานีรอคอยและคาดหวังมานาน และ สังคมนานาชาติก็อยากเห็นว่า สันติภาพอันแท้จริง หรือสันติภาพเชิงบวก (positive peace) เกิดขึ้นที่ปาตานี
ชินทาโร่ ยังระบุคำแปลจากเอกสาร BRN อีกว่า ยังมีอุปสรรคจากบางฝ่าย โดยเฉพาะยังมีหน่วยงานของรัฐบาลไทยเองที่สร้างบรรยากาศคุกคาม และขีดกั้นกระบวนการสันติภาพ และอาจจะทำลายความน่าเชื่อถือของโต๊ะเจรจาที่กำลังเกิดขึ้นได้ด้วย เช่น การกดขี่ คุกคาม และการข่มขู่นักกิจกรรมภาคประชาสังคมที่ปาตานีโดยใช้ วิธีการที่เรียกว่า การดำเนินคดีเชิงยุทธศาสตร์เพื่อระงับการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจการสาธารณะ (Strategic Lawsuit Against Public Participation, SLAPP) ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ขัดกับหลักประชาธิปไตยที่กดดันและยังขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกิจกรรมการปรึกษาหารือกับประชาชน ซึ่งเป็นหนึ่งในประเด็นสารัตถะที่ได้รับการบันทึกไว้ในหลักการทั่วไปก่อนหน้านี้
การมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการเจรจาสันติภาพ เป็นปัจจัยสำคัญ และยังเป็นตัวกำหนด ความสำเร็จของกระบวนการสันติภาพ จึงต้องได้รับความเคารพและการพิจารณา เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐบาลไทย ควรสร้างความมั่นใจในหมู่ประชาชนปาตานี ประชาชนไทย และสังคมนานาชาติ ว่า การแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีด้วยแนวทางแก้ไขทางการเมืองเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อยุติความขัดแย้งอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ เพื่อแสดงความจริงจัง BRN ขอเรียกร้องให้รัฐบาลไทยดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ทุกฝ่าย ได้แก่
- รัฐบาลไทยต้องบัญญัติกฎหมายฉบับหนึ่ง เพื่อรองรับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการสันติภาพปาตานีทุกประเด็น
- รัฐสภาไทยจำเป็นต้องจัดตั้งคณะกรรมาธิการถาวรชุดหนึ่ง ตามกลไกรัฐสภาที่รับผิดชอบโดยตรงต่อกระบวนการสันติภาพปาตานี
- เพื่อแก้ไขความขัดแย้งที่ปาตานีอย่างยั่งยืนและมีศักดิ์ศรี รัฐบาลไทยต้องพร้อมที่จะพูดคุยในประเด็นรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งที่ยืดเยื้อนี้ และแสวงหาแนวทางแก้ไขที่ตรงจุด และสอดคล้องกับความใฝ่ฝันและความต้องการของประชาชนปาตานีในประชาคมปาตานี
ดังนั้นพวกเราคาดหวังว่า ในการประชุมครั้งนี้ ทั้ง 2 ฝ่ายจะสามารถพูดคุยประเด็นเกี่ยวกับทิศทางของกระบวนการเจรจาสันติภาพได้ ซึ่งเป็นการต่อยอดจากการพูดคุยรอบก่อนหน้านี้ เป็นก้าวไปข้างหน้า และประสิทธิภาพ กับประสิทธิผลในการแลกเปลี่ยนประเด็นสำคัญเกี่ยวกับวิธีการดำเนินการพูดคุย กลไกในการนำมาปฏิบัติข้อตกลง และรายละเอียดของหลักการทั่วไปและแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม
โต๊ะเจรจาสันติสุข เห็นชอบ 3 หลักการตามเเผน JCPP
ขณะที่เมื่อวานนี้ (7 ก.พ. 67) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ศูนย์ข่าวภาคใต้ รายงานว่า ภายหลังการพูดคุยสันติสุข 2 วันของหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย และ BRN ในที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายก็เห็นชอบใน 3 หลักการตามแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม หรือ JCPP คือ การลดความรุนแรง, การปรึกษาหารือกับประชาชน และ การแสวงหาทางออกทางการเมือง โดย 2 ฝ่ายตกลงกันว่า จะหารือในรายละเอียดระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับเทคนิคร่วมกันอีก 2 ครั้ง ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ และต้นเดือนมีนาคมนี้ ก่อนที่จะรับรองอย่างเป็นทางการในโอกาสต่อไป ซึ่งจะนำไปสู่การบรรลุข้อตกลงสันติสุขเพื่อประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 เปิดเผยว่า ทั้ง 2 ฝ่ายยังเห็นด้วยกับการสร้างบรรยากาศให้เอื้อต่อการพูดคุยสันติสุขให้มากขึ้น โดยทางฝ่ายไทยได้เสนอแนวทาง เช่น การลดระดับการปิดล้อมตรวจค้นที่จะทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น การปรับลดปริมาณด่านตรวจลงโดยเฉพาะบริเวณหน้าฐานปฎิบัติการ แต่ในพื้นที่อื่น ๆ ก็ขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชนในแต่ละพื้นที่ด้วย และพิจารณายกเลิกป้ายหมายจับแกนนำกลุ่มก่อความไม่สงบตามสี่แยกต่าง ๆ รวมถึง การพิจารณายกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ที่ BRN สามารถลดความรุนแรงได้เช่นกัน โดยเฉพาะในช่วงเดือนรอมฎอน ถึงช่วงสงกรานต์
“ได้มีการเสนอว่าถ้าใสนช่วงหลักงจากนี้ไปทาง BRN สามารถสื่อสารไปยังกองกำลังในพื้นที่ว่าเขาจะไม่ก่อเหตุความรุนแรงตามห้วงระยะเวลาที่คุยกันไว้ เราก็พร้อมที่จะประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ในพื้นที่ดังกล่าว”
พล.ท.ปราโมทย์ พรหมอินทร์
ขณะที่ ฉัตรชัย บางชวด หัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขฝ่ายไทย พอใจกับความก้าวหน้าการพูดคุยครั้งนี้ โดยทั้ง 2 ฝ่ายจะกลับมาหารือในรายละเอียดปลีกย่อยอีกครั้ง นอกจากนี้ ในที่ประชุมยังได้หยิบยกเรื่องของการกระจายอำนาจภายใต้รัฐธรรมนูญไทยขึ้นมาพูดคุยด้วย
“ต้องทำภายใต้รัฐธรรมนูญไทย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง โดยเฉพาะการเมืองการปกครองเป็นเรื่องที่พูดกันเยอะ การกระจายอำนาจต่าง ๆ ซึ่งหลักการคืออยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ซึ่งหากไปดูรัฐธรรมนูญดี ๆ ก็ได้เปิดช่องไว้ให้กับการพิจารณาเรื่องกระจายอำนาจ และเป็นเรื่องในระบบอยู่แล้วที่สามารถพิจารณาได้ตามความเหมาะสม ”
ฉัตรชัย บางชวด
ด้าน พล.อ.ซุลกีฟลี ไซนัล อะบิดิน ผู้อำนวยความสะดวกฝ่ายมาเลเซีย ระบุว่า มีความเป็นไปได้ที่จะดึงกลุ่มอื่น ๆ เข้ามาร่วมการเจรจาด้วย ซึ่งต้องหารือร่วมกับทาง BRN ที่เป็นกลุ่มหลักอีกครั้ง ขณะที่ฝ่ายไทย ก็ไม่ขัดข้องในเรื่องนี้ โดยที่ประชุมยังเน้นย้ำที่ควรเปิดโอกาสให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการสันติภาพ เนื่องจากเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติสุข