ชงปิดช่องว่าง สังคายนาหลักเกณฑ์ใหม่ เล็งรวบรวมรายชื่อคนตกหล่น สู่แนวทางช่วยเหลือ ขณะเดียวกัน เสนอเปิดพื้นที่แสดงความเห็นอย่างปลอดภัย เดินหน้าสู่ทางออกสันติภาพ
เมื่อวันที่ (8 มี.ค. 67) ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา จาตุรนต์ ฉายแสง ประธานกรรมาธิการคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษา และเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร (กมธ.สันติภาพชายแดนใต้) พร้อมคณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ จ.ยะลา เพื่อรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วน เป็นครั้งที่ 2
โดยกรรมาธิการฯ ได้แลกเปลี่ยนกับ ศูนย์อำนวยการบริหารงานจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ซึ่งกรรมาธิการฯ ได้เสนอแนะความเห็นเพื่อเป็นประโยชน์ต่อการร่างยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ของ ศอ.บต. พ.ศ. 2568-2570 โดยมีข้อเสนอที่ต้องเร่งให้ความสำคัญ ดังนี้
1. การเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ พบว่า มีกฎระเบียบจำนวนมากที่ต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 แต่ไม่ได้สังคายนาและกลไกการดูแลขาดช่วงไป ซึ่ง จาตุรนต์ ระบุว่า เมื่อก่อนมีกองทุนเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ แต่พอมีรัฐประหาร กลับไม่มีองค์กรดูแลที่ชัดเจน หรือไม่เป็นระบบเท่าที่ควร ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อยไม่ได้รับการเยียวยา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง และผู้ที่ไม่ได้รับความเห็นชอบจาก 3 ฝ่าย เช่น ผู้ที่อยู่ในครอบครัวของผู้ถูกวิสามัญฆาตกรรม ที่ในปี 2 ปีมานี้ มีจำนวนถึง 90 กว่าคน ทำให้บุคคลในครอบครัว ญาติพี่น้องคนเหล่านี้ ไม่ได้รับการเยียวยา ทั้ง ๆ ที่เขายังไม่ได้รับการพิสูจน์ตามกฎหมายว่ากระทำผิดกฎหมายหรือไม่
“การเยียวยาเมื่อก่อนมีหลักอยู่ว่าต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทุกฝ่าย เพื่อลดเงื่อนไขความขัดแย้งและทำให้เกิดการปรองดอง แต่ตอนนี้กลับมีช่องว่างอยู่หลายอย่าง กรรมาธิการฯ จึงเสนอ ศอ.บต.ให้ปรับเรื่องกฎระเบียบ ส่วนทางกรรมาธิการฯ จะไปรวบรวมรายชื่อผู้ตกหล่นไม่ได้รับการเยียวยาว่ามีมากน้อยแค่ไหน และควรจะมีการดูแลอย่างไร”
2. บทบาทการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม หรือผู้ที่ต้องการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความยุติธรรม รวมทั้งเรื่องการเยียวยา พวกเขาต้องการพื้นที่แสดงความคิดเห็นและแสดงออกได้อย่างปลอดภัย มีหลักประกันว่าการแสดงออกต่าง ๆ จะไม่ถูกดำเนินคดี ในลักษณะไปปิดปาก ซึ่งการส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมได้อย่างกว้างขวาง จะเป็นประโยชน์ต่อการพูดคุยสันติภาพ รวมถึงเป็นประโยชน์ต่อการทำให้ทุกฝ่ายมามีส่วนร่วมในการสร้างความเจริญก้าวหน้าและสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. การเสนอลดการใช้กฎหมายพิเศษทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งจากการชี้แจงของ ศอ.บต. พบว่า ได้เตรียมการอยู่บ้างแล้ว เช่น หน่วยงานดูแลเรื่องความปลอดภัยในพื้นที่จะขยับขยายโอนถ่ายไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกระทรวงมหาดไทย แทนที่จะเป็น กอ.รมน. หรือกองทัพ
4. การส่งเสริมบทบาทของ ศอ.บต. ที่นอกจากให้ความสำคัญ ด้านการพัฒนายังต้องเพิ่มบทบาทส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพด้วย
ประธาน กมธ.สันติภาพชายแดนใต้ บอกด้วยว่า ในเวทียังมีผู้มีประสบการณ์ด้านความมั่นคง ให้ความเห็นกับกรรมาธิการฯ ว่า ถ้าให้การสร้างสันติภาพเป็นเรื่องของฝ่ายความมั่นคงเพียงฝ่ายเดียว การแก้ไขปัญหาจะยากมาก ตรงกันข้าม ถ้าให้ ศอ.บต.ซึ่งทำงานด้านการพัฒนา มาช่วยงานด้านความมั่นคง จะนุ่มนวลกว่า และมีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นในการสร้างสันติภาพ
สำหรับการลงพื้นที่ของกรรมาธิการฯ ครั้งนี้ กำหนดขึ้นในวันที่ 8-10 มี.ค.นี้ โดยจะได้รับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำ จ.ยะลา และนราธิวาส, กลุ่มผู้แทน ผู้นำศาสนาอิสลาม, หน่วยงานด้านการศึกษาในพื้นที่, กลุ่มนักการศึกษา, ตัวแทนกลุ่มการปกครองส่วนท้องถิ่น และจะเปิดเวทีให้ประชาชนทุกภาคส่วน มาร่วมกันเสนอแนวทางเพื่อให้สันติภาพจังหวัดชายแดนใต้สัมฤทธิ์ผลได้จริง