‘รศ.ยุทธพร อิสรชัย’ วิเคราะห์ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ปิ๊กบ้านเชียงใหม่ ทำการเมืองแบบไม่เป็นทางการคู่ขนาน เร่งฟื้นคะแนนนิยมรัฐบาล หลังผ่าน 6 เดือน ความเชื่อมั่นลดลง พร้อมกู้ฐานเสียงเพื่อไทย ชิมลางเดินหน้าสู้ศึกเลือกตั้งท้องถิ่น
15 มี.ค. 2567 รศ.ยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เปิดเผยในรายการ Flash Talk ทางเพจ The Active ถึงกรณีการเดินทางลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ของ ทักษิณ ชินวัตร โดยมองว่า การกระทำนี้เป็นผลดีกับพรรคเพื่อไทย เพราะการเดินทางไปเชียงใหม่ถือเป็นการทำการเมืองแบบไม่เป็นทางการ เพราะด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันทำให้ทักษิณมีความลำบากในการเข้ามาทำการเมืองแบบเป็นทางการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการพักโทษ อีกทั้งการทำเมืองแบบเป็นทางการของทักษิณ จะกลายเป็นเป้าที่สังคมนำไปใช้โจมตีรัฐบาลและพรรคเพื่อไทยได้ เพราะฉะนั้นการเดินคู่ขนานในส่วนของการเมืองแบบไม่เป็นทางการนี้ เป็นบทบาทสำคัญของทักษิณที่จะช่วยฟื้นฟูความนิยม ความเชื่อมั่น และฐานเสียงที่สำคัญของพรรคเพื่อไทย
ส่วนสาเหตุที่ทักษิณเลือกเดินทางไปเชียงใหม่เป็นที่แรกนั้น รศ.ยุทธพร มองว่า เพราะอดีตเชียงใหม่ถือเป็นเมืองหลวงของพรรคเพื่อไทย และเป็นบ้านเกิดของทักษิณ ฉะนั้นการลงพื้นที่ในครั้งนี้จึงถือเป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองพื้นที่แรก ถ้าเสียงตอบรับการสนับสนุนออกมาดี ก็มีโอกาสที่เราจะได้เห็นการขยายออกไปในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น ในภาคอีสาน หรือพื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศไทย
“การลงพื้นที่ของคุณทักษิณในครั้งนี้ถือเป็นเรื่องที่ไม่ได้น่าแปลกใจอะไร เพราะว่ามีการคาดเดากันไว้อยู่แล้วว่าเราจะได้เห็นการเมืองแบบไม่เป็นทางการนี้ เช่นการปรากฏตัวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือการที่มีภาพปรากฏออกมาในสังคม ทั้งที่ต้องการจะสื่อสารโดยตรง หรือทั้งที่เป็นภาพหลุดก็ตาม เราจะได้เห็นอะไรพวกนี้กันอย่างแน่นอนอยู่แล้ว แต่สิ่งที่แปลกใจอย่างเดียวคือ เรื่องนี้กลับเกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราคิดไว้มาก ตอนแรกคาดเดากันว่าจะได้เห็นบทบาทของคุณทักษิณอย่างน้อยก็ตอนพ้นโทษ ประมาณเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป ที่มันเกิดขึ้นเร็วคงจะมาจากหลายเหตุผล อย่างเช่นคะแนนนิยมที่ลดลงของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาลในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา หรือเรื่องที่จะต้องรีบเร่งฟื้นฟูคะแนนความนิยมในพื้นที่ และอาจจะเกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งท้องถิ่นอีกด้วย เหล่านี้คือโจทย์ใหญ่ที่ทำให้คุณทักษิณออกมาเคลื่อนไหวเร็วกว่าที่เราคิด”
รศ.ยุทธพร อิสรชัย
เมื่อถามถึงการลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ครั้งนี้ไม่ได้มีเพียงแค่ ทักษิณ แต่ยังมี เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ จากพรคก้าวไกล ลงพื้นที่ไปในเวลาเดียวกันด้วยนั้น สิ่งนี้สามารถทำให้วัดความนิยมจากมวลชนได้หรือไม่ รศ.ยุทธพร บอกว่า อาจจะวัดความนิยมจากมวลชนได้ในระดับหนึ่ง แต่ต้องเอกซเรย์ให้ดีว่ามวลชนที่มานั้น เป็นมวลชนที่มาอย่างแท้จริงไหม หรือว่าเป็นคนที่แต่ละฝ่ายจัดตั้งมา เพราะฉะนั้นทั้ง 3 คน ลงไปในครั้งนี้ ล้วนแต่มีนัยด้วยกันทั้งสิ้น อย่างนายกฯ เศรษฐา ก็มีบทบาทที่จะต้องลงไปจัดการบริหารราชการแผ่นดิน เรื่องของโครงการต่าง ๆ หลากหลายโครงการที่จะเกิดขึ้นในเชียงใหม่ เช่น โครงการที่ได้ไปคุยกับทางฝรั่งเศสเรื่องของการจะจัดให้มีการแข่งขันรถฟอร์มูล่าวันแบบไฟฟ้าให้เกิดขึ้นในเชียงใหม่
ส่วนทางด้านพิธาที่วันนี้อาจจะไม่ได้เป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แต่ภาพจำในฐานะผู้นำของพรรคก็ยังคงอยู่ และอย่าลืมว่าจากการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา พรรคก้าวไกลเจาะพื้นที่เชียงใหม่ไปได้ทั้งหมด 7 เขตจากทั้งหมด 10 เขต แล้วเป็นผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ทั้งสิ้น เพราะฉะนั้นตรงนี้ก็เป็นบทบาทหนึ่งที่พิธาและพรรคก้าวไกลต้องลงไปยึดพื้นที่ตรงนี้ไว้ให้ได้เช่นเดียวกัน
ในส่วนฉากทัศน์ทางการเมืองที่กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้ เช่น การเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีนั้น รศ.ยุทธพร เชื่อว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเกิดขึ้น ถ้าวันนี้มีการเปลี่ยนตัวนายกฯ ขึ้นจริง สิ่งที่ต้องพิจารณาต่อ คือ
- จะต้องไปเลือกจากรายชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคร่วมรัฐบาลที่ตอนนี้มีชื่อให้เลือกน้อยมาก และกระบวนการที่จะเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ ก็จะยิ่งทำให้เราได้เห็นการเคลื่อนไหวของบรรดาพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งตอนนี้มีจำนวน 314 เสียง คำถามคือถ้ามีการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรีจะทำให้จำนวนเสียงกลับมาเท่าเดิมไหม แล้วจะมีเรื่องของการต่อรองของพรรคร่วมรัฐบาลเดิมมากน้อยแค่ไหน
- หากจะเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ก็ต้องให้นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันลาออกก่อน เพราะฉะนั้นเมื่อนายกรัฐมนตรีลาออก ก็จะเป็นผลให้คณะรัฐมนตรีทั้งหมดต้องออกด้วย สิ่งนี้ก็จะเปรียบเสมือนการปรับ ครม.ไปในตัว ก็หมายความว่าในแต่ละพรรคร่วมรัฐบาลก็จะเกิดการเคลื่อนไหวในพรรค สิ่งนี้จะยิ่งทำให้ศักยภาพทางการเมืองก็จะเป็นปัญหา
- เมื่อทักษิณสามารถกลับมามีบทบาททางการเมืองแบบไม่เป็นทางการได้ ยิ่งทำให้ไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี เพราะยังไงก็ตามตอนนี้ทำให้สามารถเดินหน้าไปได้ ทั้งในส่วนแบบที่เป็นการและไม่เป็นทางการพร้อมกัน
เลือกตั้งท้องถิ่น พรรคใหญ่ชิงปักธง
ส่วนอีกฉากทัศน์ที่กำลังจะเกิดขึ้นคือการเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดใหญ่ ๆ อย่างใน จ.เชียงใหม่ ก็เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำให้บรรดาพรรคการเมืองอยากที่จะเข้าไปปักธงให้สำเร็จ อย่างเช่น ในกรณีของพรรคก้าวไกล ที่เดินหน้าคู่ขนานในนามคณะก้าวหน้า ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการกระจายอำนาจ และเรื่องของการทำงานท้องถิ่นมาโดยตลอด พวกเขาต้องการที่จะปักธงนายก อบจ.ครั้งนี้ให้ได้ในหลาย ๆ พื้นที่ทั่วประเทศ ในขณะเดียวกันพรรคเพื่อไทยก็ยิ่งยอมไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอย่างใน จ.เชียงใหม่ เพราะส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ
เมื่อถามว่าในแง่ของการต่อสู้ในสนามการเลือกตั้งท้องถิ่น จะมีปัจจัยจากการเมืองระดับชาติมาเกี่ยวข้องด้วยมากน้อยแค่ไหน รศ.ยุทธพร บอกว่า อาจจะเกี่ยวข้องแค่บางส่วนเท่านั้น ไม่สามารถตอบได้ทั้งหมด ว่ามันมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างชัดเจน เพราะว่าในการเลือกตั้งท้องถิ่นมีปัจจัยอื่นด้วยที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย อย่างเช่นปัจจัยเรื่องของตัวบุคคล ปัจจัยจากเครือข่ายคะแนนเสียง ปัจจัยจากผลงานในพื้นที่ ทั้งเรื่องของการช่วยเหลือประชาชน การบริการสาธารณะต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้คือปัจจัยที่เกี่ยวข้องด้วย นอกจากกระแสการเมืองระดับชาติในการเลือกตั้งท้องถิ่น เพราะฉะนั้นคงจะต้องมีการต่อสู้กันอย่างเข้มข้นในสนามเชียงใหม่ โดยเฉพาะใน 2 พรรคใหญ่อย่างก้าวไกล และเพื่อไทย ที่จะเห็นผู้นำของทั้ง 2 ฝ่ายลงไปเคลื่อนไหวในพื้นที่แล้ว
เชื่อประเด็น ‘ชาติพันธุ์-เพศสภาพ’ มิติใหม่การเมือง ‘เพื่อไทย’ หวังทำคะแนนเทียบ ‘ก้าวไกล’
รศ.ยุทธพร ยังวิเคราะห์อีกว่า ยังมีเรื่องของกลุ่มชาติพันธ์ุ และการขับเคลื่อนนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ต่าง ๆ ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ การลงพื้นไปพบกลุ่มชาติพันธ์ุก็เป็นเรื่องในเชิงศิลปวัฒนธรรม เพื่อเอามาขับเคลื่อนเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ได้เช่นเดียวกัน
“ต้องอย่าลืมว่าในวันนี้การเมืองเรื่องชาติพันธ์ุ ถือการเมืองในมิติใหม่ ๆ ในอดีตพอเราพูดถึงการเมืองเราก็จะนึกถึงแต่ในสภาผู้แทนราษฎร นึกถึงแต่เรื่องของการออกกฏหมาย หรือนึกถึงเพียงแค่การทำงานของรัฐบาล แต่ในวันนี้เรื่องของการเมืองในมิติใหม่ ๆ อย่างเช่น เรื่องของเพศสภาพ LGBTQ+ เรื่องกลุ่มชาติพันธ์ุ เรื่องของคนด้อยสิทธิ์ด้อยโอกาส นั้นกลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองที่ผู้คนให้ความสนใจ ทำให้พรรคการเมืองหลายพรรคเริ่มหันมาให้ความสนใจมากขึ้น หลังจากที่พรรคก้าวไกลซึ่งเป็นพรรคแรก ๆ ที่มีการหยิบจับเรื่องเหล่านี้ขึ้นมาอย่างชัดเจน ทำให้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ดังนั้นการเมืองเรื่องชาติพันธ์ุ การเมืองเรื่องนโยบาย การเมืองท้องถิ่น สามเรื่องนี้เป็นสิ่งที่สื่อออกมาให้เห็นถึงความร้อนแรงของบรรยากาศทางการเมืองที่ใน จ.เชียงใหม่”
รศ.ยุทธพร อิสรชัย
สุดท้ายเมื่อถามว่า คะแนนความนิยมทางการเมืองใน จ.เชียงใหม่ ระหว่าง ทักษิณ ที่เป็นพื้นที่บ้านเกิด กับ พิธา ที่ลงไปแก้ปัญหาในพื้นที่ ทั้งที่ไม่ใช่คนที่นั่น ใครจะสามารถเข้าไปอยู่ในใจคนเชียงใหม่ได้มากกว่ากัน รศ.ยุทธพร มองว่า ในวันนี้คนเชียงใหม่ไม่ได้คิดหรอกว่าจะเป็นคนในพื้นที่ หรือไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่สิ่งที่คนเชียงใหม่อยากได้คือการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัญหาเรื่องของสิ่งแวดล้อม PM2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดอย่างเรื้อรังในทุก ๆ ปี และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง จนทำให้คนในพื้นที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก เกิดการเจ็บป่วยของประชาชน เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ แต่สุดท้ายเรื่องก็เงียบไป นอกจากนี้ก็อาจจะเป็นปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเมือง ปัญหาการจราจรติดขัดปัญหาการวางผังเมือง สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่คนเชียงใหม่อยากได้รับการแก้ปัญหา ไม่ว่าจะเป็นใครก็ได้ที่สามารถเข้ามาแก้ปัญหาให้พวกเขาได้อย่างยั่งยืน คน ๆ นั้นก็จะเข้าไปอยู่ในใจของคนเชียงใหม่