โพล ระบุ ประชาชนอยากเห็นรัฐบาล ‘ทำงาน’ มากกว่า ‘รักษาอำนาจ’

Leadership Poll ม.รังสิต เปิดผลสำรวจ ชู ‘เศรษฐา’ มีภาวะผู้นำ มีผลสัมฤทธิ์ของงานมากสุด แนะ 5 ข้อ ชี้รัฐบาลยังขาดผลงานที่เป็นรูปธรรม จี้ทำนโยบายให้สำเร็จ

ผ่านมาแล้ว 7 เดือน การดำเนินงานของรัฐบาล ภายใต้นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน อดีตนักธุรกิจยักษ์ใหญ่ด้านอสังหาริมทรัพย์ ที่เข้ามาเล่นการเมืองสังกัดพรรคเพื่อไทยตั้งแต่ในช่วงที่มีการเลือกตั้งล่าสุดเมื่อกลางปี 2566 จนกระทั่งได้จัดตั้งรัฐบาลหลังประกาศจับมืออีก 11 พรรคการเมือง รวมเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 314 เสียง และมีการแต่งตั้งรัฐมนตรี 35 ตำแหน่ง ตามโควตาของแต่ละพรรคร่วมรัฐบาล

ล่าสุด วันนี้ (6 เม.ย. 67) วิทยาลัยผู้นำและนวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผย Leadership Poll โพลผู้นำทางสังคม ธุรกิจและการเมือง เพื่อสำรวจความคิดเห็นของกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ธุรกิจและการเมือง ต่อนโยบายภาครัฐที่อยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการในปัจจุบัน

โดยจากการเก็บข้อมูลทั้งสิ้น 667 ตัวอย่าง ในช่วงเดือนมี.ค. 2567 จากกลุ่มผู้นำภาคสังคม, ภาคธุรกิจ, ภาคการศึกษา และภาคการเมือง ซึ่งผลการสำรวจพบว่า

รัฐมนตรีที่มี “ภาวะผู้นำด้านบุคลิกภาพ” มากที่สุด คือ เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับผลโหวต 16% รองลงมา พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ผลโหวต 13.1%, ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้ผลโหวต 5.6%, วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ผลโหวต 5.6%, อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ผลโหวต 5.6% และไม่มีผู้ใดมีคุณสมบัติ 11.6%

รัฐมนตรีที่มี “ภาวะผู้นำด้านการสื่อสารต่อสาธารณะ” มากที่สุด คือ เศรษฐา ทวีสิน ได้ผลโหวต 18% รองลงมา วราวุธ ศิลปอาชา ได้ผลโหวต 9.8%, อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ผลโหวต 8.7%, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลโหวต 6.1%, สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลโหวต 3.7% และไม่มีผู้ใดมีคุณสมบัติ 11.9%

รัฐมนตรีที่มี “ภาวะผู้นำด้านผลสัมฤทธิ์ของงาน” มากที่สุด คือ เศรษฐา ทวีสิน ได้ผลโหวต 12.4%, พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้ผลโหวต 8.1%, วราวุธ ศิลปอาชา ได้ผลโหวต 5.4%, อนุทิน ชาญวีรกูล ได้ผลโหวต 4.3%, สุทิน คลังแสง ได้ผลโหวต 2.7% และไม่มีผู้ใดมีคุณสมบัติ 18.5%

นอกจากนี้กลุ่มผู้ตอบแบบสำรวจ มองว่า สิ่งที่ภาวะผู้นำของผู้ดำรงตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี คณะที่ 63 ในภาพรวมที่ควรปรับปรุง ซึ่งสัดส่วน 80% คือ ภาวะผู้นำด้านผลสัมฤทธิ์ของงาน รองลงมาภาวะผู้นำด้านการสื่อสารต่อสาธารณะ สัดส่วน 15% และ ภาวะผู้นำด้านบุคลิกภาพ สัดส่วน 4.9%

สำหรับข้อเสนอแนะอื่น ๆ ของผู้ทำแบบสำรวจ อยากให้

  1. รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการบริหารงานเพื่อประชาชนมากกว่าการขับเคลื่อนทางการเมืองและการรักษาอำนาจ

  2. ภาพการสื่อสารสาธารณะของคณะรัฐมนตรีคณะนี้ยังมีน้อยมาก อาจเป็นเพราะยังไม่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์

  3. ภาวะผู้นำควรคำนึงถึงความสำเร็จของงาน อุทิศตนต่อส่วนรวม เล็งเห็นความก้าวหน้า ไม่ใช่ถอยหลังหรือคงที่

  4. รัฐควรแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีจากความสามารถมากกว่าการใช้ระบบสัดส่วน (Quota) พรรครัฐบาลยังขาดผลงานที่เป็นรูปธรรม ควรเร่งดำเนินการตามนโยบายให้สำเร็จ และควรสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น

  5. รัฐบาลยังขาดผลงานที่เป็นรูปธรรม ควรเร่งดำเนินการตามนโยบายให้สำเร็จ และควรสื่อสารกับประชาชนให้มากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active