ว่าที่ผู้สมัคร สว. 16 คน จากกลุ่มอาชีพศิลปะฯ และสื่อมวลชน เปิดตัวต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก ‘ต๊ะ นารากร’ เผยอยากใช้ประสบการณ์สื่อมวลชนช่วยแก้ไขความขัดแย้งให้สังคม ด้าน “พนัส” ค้านระเบียบ กกต.ขัดหลักเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ เตรียมยื่นศาลปกครองวินิจฉัย ขณะที่วงเสวนาเห็นพ้องหากภาคประชาชนได้เก้าอี้ สว.จะช่วยให้รัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยเต็มใบมากขึ้น
วันนี้ ( 28 เม.ย. 2567 ) ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกวุฒิสภา (สว.) จำนวนหลายคนรวมกันเปิดตัวที่หอศิลป์บ้านจิมทอมป์สัน โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาชีพศิลปะฯ และสื่อมวลชน ประกอบด้วย จารุนันท์ พันธิ์ชาติ , ประทีป คงสิบ, ภาวิณี ฟอฟิ, ทะนงศักดิ์ หาญวงษ์, ซะการีย์ยา อมตยา, นารากร ติยายน, ธีระวัฒน์ รุจินธรรม, หทัยรัตน์ พหลทัพ, พิเชษฐ กลั่นชื่น, ประกิต กอบกิจวัฒนา, ธีรวัฒน์ มุลวิไล, ถนัด ธรรมแก้ว, จีรนุช เปรมชัยพร, ดุจดาว วัฒนปกรณ์, ชลณัฏฐ์ โกยกุล และศิรศักดิ์ อิทธิพลพาณิชย์
นารากร ติยายน หรือ ต๊ะ ผู้ประกาศข่าว เปิดเผยสาเหตุการลงสมัครคัดเลือก สว. ว่า ส่วนตัวสนใจสมัคร สว.ในกลุ่มสื่อสารมวลชนและนักเขียน เพราะทำงานในด้านนี้มาทั้งชีวิต โดยตั้งใจสมัครที่บ้านเกิด จ.เชียงใหม่ เนื่องจากอายุใกล้ 60 ปี และหลังเกษียณก็จะกลับไปอยู่ที่บ้านเกิด โดยการจะเป็น สว.ในกลุ่มสื่อสารมวลชน ก็คงต้องการคนที่มีความรู้ความชำนาญในวิชาชีพสื่อสารมวลชน และตนมั่นใจว่ามีประสบการณ์งานสื่อสารมวลชนทุกด้าน จึงอยากลงสมัครคัดเลือก สว. ที่ผ่านมาทำงานแต่ในด้านการพูด แต่หากเปลี่ยนจากการพูดอย่างเดียว มาเป็นการช่วยกันลงมือทำ จึงอยากไปเป็นส่วนหนึ่งในการทำ เพื่อที่จะทำให้เกิดสิ่งดี ๆ ขึ้น
“หนึ่งเรารู้ปัญหาทั้งหมดในสื่อสารมวลชน เราเคยแก้ปัญหาต่าง ๆ มาแล้ว เรามีความรู้ความเชี่ยวชาญ และสิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหาในสังคมไทยตอนนี้เวลามีการพูดคุย ถึงเรื่องอะไร มันก็จะมีความเห็นขัดแย้ง มีความเห็นหลายฝ่าย แบ่งฝักแบ่งฝ่าย การสื่อสารที่ชัดเจน ถูกต้องนี่แหละ คือการที่ทำให้สังคมอยู่ด้วยกันอย่างสันติ และพัฒนาไปข้างหน้า พร้อม ๆ กันได้ คิดว่าคนที่มีทักษะในการสื่อสารมวลชน อาจจะมีส่วนหนึ่งที่จะเข้ามาในงาน สว. ตรงนี้”
กรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกกฎระเบียบห้ามมีการเชิญชวนประชาชนสมัคร สว. นั้น พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ (มธ.) และสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) มองว่า ไม่เห็นด้วยกับกฎระเบียบนี้ คิดว่าระเบียบที่ออกมาเกิดจากกรอบความคิดที่เขาใช้ ตอนที่มีการเลือก สว. ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามบทเฉพาะกาล ซึ่งกรอบความคิดนี้ต้องการให้มีการคัดเลือก สว.ในกลุ่มเล็ก ๆ เท่านั้น
ส่วนตัวคิดว่ามันผิดหลักการและเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการให้ สส.และ สว. เป็นตัวแทนของคนไทยทุกคน แต่กระบวนการคัดเลือก สว.กลับไม่ได้เป็นการเลือกตั้ง นอกจากนี้ข้อห้ามที่ไม่ให้ผู้สมัคร สว.สัมภาษณ์สื่อมวลชน และห้ามไม่ให้แนะนำตัวผ่านโซเชียลมีเดียนั้น ก็ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและเจตนารมณ์กฎหมายเกี่ยวกับการได้มาของ สว. ดังนั้นเราต้องการคัดค้านในเรื่องนี้ โดยจะส่งเรื่องให้กับศาลปกครองวินิจฉัยข้อระเบียบของ กกต.
นอกจากนี้ภายในงานยังมีการเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็น “เปลี่ยน สว.ได้ ประเทศไทยเปลี่ยนได้” โดยมี จอห์น-วิญญู วงศ์สุรวัฒน์ พิธีกรชื่อดัง, แอน-ภาวิณี ชุมศรี ทนายความ และแพรว-แพรวไพลิน กสิวัฒนา Miss Trans Global Thailand โดยวงเสวนาเห็นพ้องว่า หากประชาชนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในตำแหน่ง สว. ก็จะทำให้รัฐธรรมนูญกลายเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้ โดยจะสามารถเข้าไปร่วมโหวตออกเสียงในการแก้รัฐธรรมนูญ และแต่งตั้งองค์กรอิสระให้ทำหน้าที่เป็นไปตามประชาธิปไตย
ขณะเดียวกันหลังจากช่วงรัฐประหารเมื่อปี 2557 สื่อมวลชนได้ถูกคุกคามอย่างหนักหากมีการนำเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับรัฐบาลในยุคนั้น แต่ปัจจุบันสื่อหลักเริ่มมีการนำเสนอข้อเท็จจริงต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์ สว.ชุดปัจจุบัน คาดว่ามาจากการผลักดันของประชาชนที่ช่วยกันแสดงความคิดเห็น จึงกระตุ้นสื่อให้มีความกล้าในการเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน ดังนั้นการคัดเลือก สว.ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสในการแสดงพลัง เป็นการแก้เกม และเป็นการยืนยันเสียงของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง