กมธ.พัฒนาการเมืองฯ พร้อมภาคีเครือข่าย ตั้งคณะทำงานรวบรวมข้อมูล แก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน เพิ่มความโปร่งใส ผ่านการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ ชวนประชาชนร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อพัฒนาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายอย่างยั่งยืนต่อไป
แนวทางการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่การแก้ไขปัญหาเชิงสถาบัน จากการออกหรือปรับปรุงกฎหมาย การจัดตั้งหน่วยงานป้องกันและปราบปรามการทุจริต แผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ทั้งนี้ ประชาชนยังคงมองสถานการณ์การทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทยไม่ดีขึ้น และอาจทวีคูณความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งสังเกตได้จากดัชนีวัดระดับการรับรู้การคอร์รัปชัน (Corruption Perception Index: CPI) ที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International: TI) ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันอย่างยั่งยืนผ่านแนวคิดรัฐบาลแบบเปิด (Open Government) ที่มุ่งเน้นให้เกิดความโปร่งใสในสังคม การมีส่วนร่วมของประขาขน และการรับผิดรับชอบของผู้มีอำนาจ ที่ส่งผลให้ประชาชนสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพผ่านการมีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการนโยบาย ติดตาม ตรวจสอบ และเปิดโปงปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินงานของภาครัฐ
โดยหนึ่งในวิธีการสำคัญ คือ การทำให้เกิดข้อมูลเปิดภาครัฐ (Open Government Data) ที่เปิดเผยในรูปแบบดิจิทัล เข้าถึงได้อย่างเสรี ไม่จำกัดช่องทาง ไม่มีค่าใช้จ่าย และเผยแพร่ ทำซ้ำ หรือใช้ประโยชน์ได้โดยไม่จำกัดวัตถุประสงค์ ประกอบกับงานวิจัยหลาย ๆ ฉบับที่พบว่า ประเทศที่ได้รับคะแนน CPI สูงจะมีคะแนนด้านการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐสูงด้วยเช่นกัน
นำมาสู่ความร่วมมือระหว่าง TI และ Open Data Charter จัดทำการศึกษาในประเด็นข้อมูลเปิดเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน (Open Data for Anti-corruption: OD4AC) โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนาหลักเกณฑ์ในการลำดับความสำคัญของชุดข้อมูล มาตรฐานและการใช้ประโยชน์จากชุดข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชันของทุกภาคส่วน ซึ่งแบ่งชุดข้อมูลออกเป็น 4 หมวดหมู่ ได้แก่ 1. บุคคลและองค์กร 2. ทรัพยากรสาธารณะ 3. กฎหมายและนโยบาย 4. ทรัพย์สินและผลประโยชน์
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2567 ได้มีการประชุมคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง
การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร เรื่องที่พิจารณาเพื่อหารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาทุจริตคอร์รัปชันและการเพิ่มความโปร่งใส โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูลรัฐ (Open Data) โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผู้แทนอธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้แทนผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้แทนอำนวยการสำนักพัฒนางานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) และผู้แทน HAND Social Enterprise ร่วมประชุมและหารือ และเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อรวบรวมข้อมูลในการแก้ไขปัญหาการทุจริต
คอร์รัปชัน การเพิ่มความโปร่งใส การเปิดเผยข้อมูลภาครัฐ
ดังนั้น เพื่อบรรลุจุดประสงค์ของคณะทำงานภายในคณะกรรมาธิการ ฯ จึงได้จัดทำ “แบบสำรวจการใช้งานชุดข้อมูลเพื่อการต่อต้านคอร์รัปชัน” เพื่อรวบรวมข้อมูลการใช้งานชุดข้อมูล ฯ ของทุกภาคส่วน เป็นองค์ประกอบในการวิเคราะห์ประเมินการลำดับความสำคัญของชุดข้อมูล ฯ และพัฒนาเป็นรายงานชุดข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันผ่านการเปิดเผยข้อมูลภาครัฐอย่างยั่งยืนต่อไป
ทางคณะทำงานจึงเขอเชิญชวนทุกคนร่วมส่งเสียงและแสดงความคิดเห็นได้ผ่านทาง แบบสำรวจ ปิดรับวันที่ 31 พฤษภาคม 2567