มองเหตุ ‘คาร์บอม’ ปฏิกิริยาผู้เห็นต่าง หลัง รัฐบาลเกียร์ว่าง ‘คดีตากใบ’

ปธ.คณะสันติภาพภาคประชาชน มองความรุนแรงพุ่งเป้าหน่วยงานรัฐ ราชการ สะท้อนความไม่พอใจ รัฐบาลไม่จริงจัง กระบวนการพูดคุย – คดีตากใบ วอน นายกฯ ใส่ใจปัญหา ขณะที่ นักรัฐศาสตร์ ชี้ หากปล่อยคดีหมดอายุความ โดยไม่ทำอะไรเลย จะสร้างตราบาป ‘ตระกูลชินวัตร’ ไปอีกนาน

เหตุการณ์คาร์บอม บริเวณบ้านพักนายอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส (30 ก.ย. 67 ภาพ : Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้)

จากกรณีเหตุคาร์บอม บริเวณบ้านพักนายอำเภอตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อคืนวันที่ 29 ก.ย.ที่ผ่านมา ซึ่ง ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาแสดงความเห็น โดยยอมรับว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจเชื่อมกับคดีตากใบ ที่กำลังจะหมดอายุความในวันที่ 25 ต.ค.นี้ และย้ำว่า ได้พยายามติดต่อกับ พล.อ. พิศาล วัฒนวงษ์คีรี สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย และอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 จำเลยในคดีตากใบ ให้ไปขึ้นศาลเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง ก่อนคดีจะหมดอายุความนั้น

The Active สอบถามความเห็นประเด็นนี้กับ รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ระบุว่า กรณีคาร์บอมที่ตากใบ เชื่อมโยงกับคดีตากใบ ที่เหลือระยะเวลาเหลืออีกแค่ 20 กว่า ก่อนคดีหมดอายุความโดยตรง ซึ่งรองนายกฯ ภูมิธรรม ก็ออกมายอมรับว่าน่าจะเกี่ยวข้องกัน แน่นอนว่านี่คือปฏิกิริยาของกลุ่มผู้เห็นต่างที่สะท้อนชัดเจนถึงความไม่พอใจต่อกระบวนการยุติธรรมที่เกิดขึ้น ในยุคที่รัฐบาลมีอำนาจเต็มแต่กลับไม่สามารถใช้วิธีทางการเมืองเข้ามาแก้ปัญหา และดำเนินความยุติธรรมให้เกิดขึ้นได้

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ คณะรัฐศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เราทราบกันดีว่าหลังมีรัฐบาลใหม่ ความจริงจังของรัฐบาลนี้ต่อปัญหาภาคใต้ไม่มีอะไรที่ชัดเจนเลย ไม่มีนโยบายที่หนักแน่น ไม่มีวาระที่จะเห็นการแก้ไขปัญหา สะท้อนถึงกรอบการดำเนินนโยบายชายแดนใต้ ที่ไม่มีความจริงจัง เหมือนรัฐบาลไม่ใส่ใจปัญหาภาคใต้ที่เข้าสู่ 2 ทศวรรษ เพราะถึงที่สุดความสืบเนื่อง ของปัญหาความรุนแรง ก็เกิดขึ้นจากรัฐบาล ทักษิณ ในปี 2547 จนมาสู่ รัฐบาลแพทองธาร ในปี 2567 ถ้าพรรคเพื่อไทยไม่คิดอ่านเรื่องนี้ดีพอ ไม่แก้ปัญหาภาคใต้ เรื่องนี้จะเป็นปมปัญหาต่อตระกูลชินวัตรไปอีกนาน แม้ว่าสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะเห็นความพยายามแก้ปัญหาผ่านกระบวยการพูดคุยก็ตาม แต่รัฐบาลแพทองธาร กลับไม่มีความจริงจัง”

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

ส่วนคดีตากใบนั้น รศ.เอกรินทร์ มองว่า ผู้ต้องหาคนสำคัญอยู่ในพรรคเพื่อไทย เป็นสิ่งท้าทายที่เป็นคำถามต่อรัฐบาลโดยตรง เรื่องเหล่านี้ในฐานะพรรคแกนนำรัฐบาล สามารถทำให้กระบวนการยุติธรรมทำงานได้ ต้องพยายามทำให้ สส.เพื่อไทยที่ตกเป็นจำเลย เข้าสู่กระบวนการทางคดี ในเวลานี้ยังไม่ตัดสินว่าใครถูกใครผิด ในเมื่อเป็นคนของรัฐบาล แต่สิ่งที้เห็นคือรัฐบาลไม่กระตือรือร้นเรื่องนี้เลย ไม่ดูแลความรู้สึกผู้คนเลย เรื่องเหล่านี้จะทำให้ รัฐบาลมีปัญหาแน่ ๆ หลังวันที่ 25 ต.ค.นี้ ถือว่าเป็นศึกหนักของรัฐบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“รัฐบาลต้องแสดงความมุ่งมั่นให้กระบวนการยุติธรรมได้ทำงานของมัน การที่รัฐบาลให้ความร่วมมือส่ง สส. ที่เป็นจำเลยคดีตากใบเข้ามาสู่คดี แค่นี้ก็ทำได้ และเป็นเรื่องที่ไม่ควรปฏิเสธความรับผิดชอบ”

รศ.เอกรินทร์ ต่วนศิริ

ขณะที่ แวรอมลี แวบูละ ประธานคณะสันติภาพภาคประชาชน (คสป.) ให้ความเห็นว่า ถ้าดูตามประสบการณ์ กระบวนการพูดคุยเป็นทางออกของประชาชน และทางออกของผู้เห็นต่างด้วย แต่ในสถานการณ์ที่ผ่านมาเห็นอาการชัดเจน ว่า ฝ่ายผู้เห็นต่าง ทางฝั่งมาเลเซีย ได้แสดงความจริงจังในกระบวนการพูดคุย และระมัดระวังท่าทีจากฝ่ายไทย เพื่อทำให้กระบวนการพูดคุยเดินหน้าต่อได้ แต่ปัญหาคือฝ่ายไทยในเวลานี้ ไม่มีความชัดเจน ว่า จะพาไปถึงไหน ยังวนไปวนมา พอสถานการณ์ปัจจุบันเปลี่ยน คนในพื้นที่ก็คาดหวังกับรัฐบาลพลเรือน แต่ นายกฯ ยังไม่พูดสักคำ ทำเหมือนปล่อยปละละเลย ให้ทหารดำเนินการซึ่งก็วนไปวนมาเหมือนเดิม เช่นเดียวกับคดีตากใบ ที่จนถึงตอนนี้รัฐบาลก็ยังไม่มีท่าทีว่ารัฐบาลจะทำอะไร ไม่ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปจนถึงการสิ้นสุดอายุความในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ แม้ไม่ปฏิเสธว่ามีปัญหาอื่น ๆ ที่สำคัญเช่นกัน แต่กระบวนการพูดคุย การแก้ปัญหาชายแดนใต้ และเรื่องความยุติธรรมของคนในพื้นที่ ก็ถูกคาดหวังให้เห็นความชัดเจนมากกว่านี้ด้วย

แวรอมลี แวบูละ ปธ.คณะสันติภาพภาคประชาชน (คสป.)
(ภาพ : ประชาไท )

“ถ้าไม่มองอะไรที่ซับซ้อน คิดว่า ฝ่ายผู้เห็นต่าง ก็คงคิดเหมือนกัน แต่ถ้าจะมองในเชิงซับซ้อนมากกว่านั้นตรงนี้ก็ไม่ทราบ ว่าเพราะอะไรถึงยังใช้ความรุนแรง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ได้มุ่งหวังชีวิตประชาชน กลับพุ่งเป้าไปที่รัฐ หน่วยงานราชการมากกว่า สิ่งนี้ก็น่าจะพอเดาได้ไม่ยากว่า กลุ่มผู้เห็นต่าง ต้องการสะท้อนอะไร ถึงใคร ถึงอย่างไรภาคประชาชน ภาคประชาสังคมในพื้นที่ทั้งพุทธ มุสลิม ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงอยู่แล้ว และเชื่อว่าไม่ใช่ทางออกของปัญหา จึงพยายามเปิดพื้นที่พูดคุยกับฝ่ายผู้เห็นต่างในทุกระดับ แต่ข้อจำกัดเดียวตอนนี้คือฝ่ายไทยเองไม่มีความชัดเจน”

แวรอมลี แวบูละ

ประธานคณะสันติภาพภาคประชาชน ยอมรับว่า คาดหวังให้ นายกฯ มาดูแลเรื่องภาคชายแดนใต้จริงจัง ถ้าเอาให้ดีหัวหน้าคณะพูดคุยสันติสุขต้องขึ้นต่อ นายกฯ โดยตรง เพื่อให้ดูแล และตัดสินใจเรื่องนี้ได้ด้วยตัวเอง เห็นความเอาใจใส่เรื่องชายแดนใต้อย่างจริงจังสักที

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active