ทนาย ยอมรับ ศาลเปิดโอกาสให้สุดทางแล้ว ชี้ หากจำเลยจะเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ต่อเมื่อศาลยกฟ้อง แต่เมื่อหนีศาล ก็ไม่ใช่ผู้บริสุทธิ์ ขณะที่ ญาติผู้สูญเสีย ขอ สังคมตีตรา ถ้าหวังบริสุทธิ์จริง ต้องไม่หนีคดี
วันนี้ (28 ต.ค. 67) ศาลจังหวัดนราธิวาส นัดพิจารณาคดีตากใบ ที่ญาติผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม หน้า สภ.ตากใบ จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2547 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง อดีตข้าราชการระดับสูง 7 คน ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุม โดยภายหลังศาลได้ออกหมายจับ จนในที่สุดคดีหมดอายุความ ไปแล้วเมื่อวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา
รัษฎา มนูรัษฎา ทนายความ จากสภาทนายความฯ ในฐานะทนายฝ่ายโจทก์ แถลงภายหลังว่า วันนี้ศาลนัดประชุมติดตามผลการออกหมายจับจำเลย 7 คน ซึ่งก็เป็นไปตามความคาดหมายคือไม่มีใครมาศาล และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ก็ไม่มีผลออกมาว่าจับใครได้ ขณะเดียวกันจำเลยอีก 7 คนที่ศาลจังหวัดปัตตานี ออกหมายจับตามคำสั่งอัยการสูงสุดให้ฟ้องคดี ดังนั้นศาลจึงปฏิบัติตามกฎหมาย เมื่ออายุความมีกำหนด 20 ปี ครบแล้ว คดีจึงขาดอายุความ ศาลจึงมีคำสั่งจำหน่ายคดี
ทนายความ บอกด้วยว่า ไม่ใช่ว่าคดีขาดอายุความแล้วทุกอย่างจะจบลง เหมือนอย่างที่รัฐบาลพูด แต่คดีนี้สะท้อนชัดเจนว่า มีผู้ต้องหา 8 คน ต้องขาดราชการ เพื่อหนีหมายจับ ดังนั้นหน่วยงานต้นสังกัดต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อพิจารณาทางวินัย ส่วนข้าราชการระดับสูบงที่เกษียณไปแล้ว รับบำเหน็จ บำนาญอยู่ทุกเดือน แต่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎหมาย หลบหนีหมายจับ ดังนั้นรัฐบาล และหน่วยงานต้นสังกัดต้องพิจารณาให้คืนเงินบำเหน็จ บำนาญ ตกอยู่กับแผ่นดิน
ทนายความ ระบุด้วยว่า คำพูดของท่านผู้พิพากษา และองค์คณะที่ระบุในวันนี้ย้ำเป็นอย่างดี บอกเลยคดีนี้เห็นว่า มีกระบวนการไต่สวนมูลฟ้อง จนศาลเชื่อว่ามีมูล อาจจะมีส่วนของการกระทำความผิด ทำให้ศาลรับฟ้อง ดังนั้นศาลจึงใช้คำสั่ง จำหน่ายคดี ไม่ได้ยกฟ้องคดี ซึ่งการที่ศาลไม่ได้ยกฟ้อง มีนัยะสำคัญ คือ ย้ำชัดเจนว่า คดีนี้ผ่านกระบวนการไต่สวนมูลฟ้องเบื้องต้นมาก่อนแล้ว มีหลักฐานบางอย่างทำให้เชื่อได้ว่าจำเลยกระทำผิด แต่ไม่ได้กลับไม่ได้ตัวจำเลยมาขึ้นศาล จึงมองจำเลยคดีนี้บริสุทธิ์เสียทีเดียวไม่ได้ หากจะเป็นผู้บริสุทธิ์ก็ต่อเมื่อศาลยกฟ้อง ศาลจึงเสียดายที่จำเลยไม่มาพิสูจน์ตัวเอง
“ถ้าจำเลยเข้ามาต่อสู้คดีแล้วศาลพิพากษายกฟ้อง จำเลยจะสามารถพูดกับคนทั่วไปได้ว่า ได้ผ่านการพิสูจน์ความจริงแล้ว ไม่ได้กระทำความผิด แต่การที่ไม่มา การหนีคดี จึงสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ไม่ได้ มลทินยังมี ศาลไต่สวนแล้วว่ายังมีมูล”
รัษฎา มนูรัษฎา
ทนายความ ย้ำด้วยว่า ในส่วนของความรู้สึกฝ่ายโจทก์ ศาลพยายามเข้าใจความรู้สึกของผู้ที่มาฟ้องคดี ว่า โจทก์หวังพึ่งกระบวนการยุติธรรมจริง ๆ ศาลทำสุดทางตามแนวทางกฎหมายแล้ว จึงขอให้โจทก์ใช้แนวทางอื่น เพื่อเยียวยาความรู้สึก โดยแต่ศาลได้ทำเต็มที่แล้ว พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ชาวบ้านระบายต่อศาลด้วย
“ศาลพยายามให้โจทก์ ซึ่งเป็นชาวบ้านมีความหวังกับกระบวนการยุติธรรม ศาลอำนวยความสะดวกอย่างเต็มที่ แต่ในเมื่อติดปัญหาก็ไปสุดทางไม่ได้ อาจใช้กลไกสภาฯ เปิดเผยการไต่สวนข้อเท็จจริงหลังจากนี้ หรือใช้ช่องทาง อื่น ๆ เพื่อเยียวยาความรู้สึก ในเรื่องกระบวนยุติธรรมยากแล้วเมื่อมาถึงตรงนี้ แต่เรื่องการไต่สวนข้อเท็จจริงสาธารณะ ใครมีข้อเท็จจริงศาลแนะนำให้ใช้กลไกนั้น ศาลใช้คำว่า คณะกรรมการอิสระที่จะมาตรวจสอบรายละเอียดทั้งหมดเป็นช่องทางที่ถูกทาง ดังนั้นคิดว่าความรู้สึกของชาวบ้าน พอใจกับการพิจารณาคดี การทำหน้าที่ของศาลจังหวัดนราธิวาส”
รัษฎา มนูรัษฎา
ส่วนกรณีจะใช้กลกการฟ้องศาลโลกหรือไม่นั้น ทนายรัษฎา มองว่า เมื่อเป็นเรื่องร้ายแรง เป็นเหมือนอาชญากรรม มีคนตาย 85 คน ดังนั้นการจะไปใช้ศาลพิเศษ เป็นเรื่องที่ต้องคิดกันต่อไป รวมถึงการพิจาณราให้แก้ไขกฎหมายเรื่องอายุความ ก็ต้องไปพิจารณาดู ฝ่ายนิติบัญญัติต้องมาพิจารณา
ขณะที่ มูฮัมหมัด ซอฮารี อูเซ็ง ตัวแทนญาติผู้สูญเสียจากเหตุการณ์ตากใบ ยอมรับว่า นี่คงเป็นโอกาสมาศาลเป็นครั้งสุดท้ายแล้ว ความรู้สึกก็ผิดหวังเล็ก ๆ แต่การออกมาสู้วันนี้ก็ถือว่าชนะแล้ว แม้ว่าจำเลยที่ศาลออกหมายจับไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งพวกเขาก็จะเป็นคนผิดไปตลอดชีวิต สังคมจะตีตราว่าเป็นคนผิด แม้รัฐบาลมาชี้แจ้งว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่ถ้าบริสุทธิ์จริงต้องไม่หนีคดี
ส่วนที่มีรายงานข่าวว่าจำเลยในคดีบางคนที่ยังรับราชการอยู่ เมื่อคดีหมดอายุความก็ได้กลับมาทำงานตามปกติแล้วนั้น ตัวแทนครอบครัวผู้สูญเสีย บอกว่า ขอแสดงความยินดีด้วยที่ท่านได้หนีคดีจนจบอายุความ 20 ปี แต่ท่านต้องรับใช้กรรม ที่ได้มีส่วนทำให้คนจำนวนมากเสียชีวิต ชาวบ้านสู้ในกระบวนการของกฎหมายถึงที่สุดแล้ว แต่คุณไม่เข้าสู่กระบวนการ คน 3 จังหวัดชายแดนใต้ จะตีตราว่าคุณคือฆาตรกร ทำผิดฆ่าคนแล้วหลบหนีไป หมดอายุความก็กลับมา ก็แสดงความยินดีด้วย