‘สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า’ หวั่นกระทบที่ทำกิน ที่อยู่อาศัยชาวบ้านในพื้นที่อนุรักษ์ เกือบ 5 แสน ครัวเรือน 1.8 ล้านคน หวั่นความขัดแย้งจัดการทรัพยากร รัฐ กับ ชุมชน บานปลาย เตรียมยื่นข้อเสนอถึงมือ นายกฯ 29 พ.ย. นี้
วันนี้ (26 พ.ย. 67) ที่ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จ.เชียงใหม่ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) แถลงเตรียมยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ที่มีกำหนดประชุม ครม. สัญจร จ.เชียงใหม่ – เชียงราย ระหว่างวันที่ 29 พ.ย. – 1 ธ.ค.นี้ โดย ขอให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562
ทั้งนี้ตามที่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้นำเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และร่าง พ.ร.ฎ.โครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 รวม 2 ฉบับ เข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งในที่ประชุม ครม.ได้มีมติเห็นชอบพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับแล้ว และได้ประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา
“พ.ร.ฎ. ทั้ง 2 ฉบับนี้ จะส่งผลกระทบกับประชาชนที่ทำกินและอยู่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ จำนวน 462,444 ครัวเรือน หรือ 1,849,792 คน และจะส่งผลให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระหว่างรัฐกับชุมชนคนอยู่ในป่ามากยิ่งขึ้น ที่ผ่านมาร่าง พ.ร.ฎ. นี้ถูกคัดค้านจากภาคประชาชนมาโดยตลอด แต่ทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ผลักดันและเร่งรัดให้ออกมาเป็นกฎหมาย ดังนั้นการมี พ.ร.ฎ.นี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สิทธิชุมชนท้องถิ่น และทำลายศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ“
สชป. จึงขอประกาศให้นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ต้องมารับข้อเรียกร้องของประชาชน ใน 3 ประเด็น ดังนี้
- ขอให้ยุติการนำพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในอุทยานแห่งชาติ ตามมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชกฤษฎีกาโครงการอนุรักษ์และดูแลทรัพยากรธรรมชาติภายในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า ตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ไปประกาศใช้กับพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่นๆ จนกว่าจะมีการปรับแก้กฎหมาย ในส่วนที่มีการประกาศใช้ไปแล้ว 6 แห่งนั้น ให้มีกระบวนการติดตามผลการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วม เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับภาครัฐ
- ให้รัฐบาลและคณะรัฐมนตรีเร่งปรับปรุงแก้ไขพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชน และใช้กลไกรัฐสภาที่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเป็นผู้แทนประชาชนมีหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติตามระบอบประชาธิปไตยโดยเร็ว
- ให้รัฐบาลจัดตั้งกลไกในรูปแบบที่เป็นคณะกรรมการหรือคณะทำงานจัดเวทีเปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่สามารถนำไปปรับปรุงแก้ไขให้ พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับได้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน
“ทั้งนี้ขอให้รัฐบาลได้บรรจุประเด็นปัญหาและข้อเสนอของ สชป. ให้อยู่ในวาระการพิจารณาของการประชุม ครม. สัญจรครั้งนี้ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 และให้คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบกับข้อเสนอดังกล่าว เพื่อให้รัฐบาลได้มีการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับความต้องการที่คลายความทุกข์ร้อนของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์มากกว่า 4,000 ชุมชน และจะนำไปสู่การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนต่อไป”
ทั้งนี้ สมัชชาชุมชนคนอยู่กับป่า (สชป.) เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายและกฎหมายที่รวมศูนย์อำนาจในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดิน-น้ำ-ป่า-อากาศ จะร่วมกันยื่นจดหมาย ถึง นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ในวันที่ 29 พฤศจิกายน นี้ เพื่อให้แก้ปัญหาของประชาชนที่กำลังเดือดร้อนจากนโยบายดังกล่าวอย่างเร่งด่วน