Policy Forum เวทีร่วมออกแบบ สสร.พร้อมเปิดตัว “Dream Con” แฟลตฟอร์มรวมความเห็นฝันการมีส่วนร่วมที่ประชาชนอยากเห็น พร้อมถก แนวทาง “คลอดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่ยึดโยงทุกมิติชีวิตของทุกคน
วันนี้ (3 ธ.ค. 2567) ไทยพีบีเอส (Thai PBS) ร่วมกับ มูลนิธิฟรีดริช เนามัน WeVis, Centre for Humanitarian Dialogue (HD), HAND SE และสถาบันพระปกเกล้า จัดกิจกรรมการสนทนากลุ่ม “ร้อยเหตุผล ร่วมสนทนา ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” พร้อมด้วยเวที Policy Forum : ออกแบบ สสร. ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน โดยมีประชาชนคนไทยที่สนใจติดตามประเด็นเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สื่อมวลชน นักวิชาการ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตัวแทนวิชาชีพ กลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นในรัฐธรรมนูญ หรือผลักดันประเด็นเฉพาะต่าง ๆ ร่วมพูดคุย
โดยในช่วงเช้ามีการเสวนาที่แบ่งออกเป็น 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ คุณสมบัติ ที่มา และการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่ง ของโครงการ Dream Con ที่แบ่งออกเป็น 2 ช่วงหลัก ช่วงแรก คือ World Cafe ที่ให้ผู้เข้าร่วม แบ่งออกเป็น 8 กลุ่ม หมุนเวียนจนครบ 3 หัวข้อ รอบละ 40 นาที จากนั้นความคิดเห็นทั้งหมดจะนำมาจัดแสดงเป็น Gallery ในช่วงที่ 2 ที่ผู้ร่วมกิจกรรมเดินอ่านความคิดเห็นในแต่ละด้าน และยังสามารถเติมความคิดเห็นของตัวเองลงไป
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รูปแบบการร่างรัฐธรรมนูญ มีด้วยกัน 3 แบบ ได้แก่ 1. ผ่านกระบวนการสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญเป็นการเฉพาะ ซึ่งมีสถานะชั่วคราวเมื่อร่างเสร็จสถานะของ สสร. ก็จะหมดไป 2. ใช้กระบวนการนิติบัญญัติในรัฐสภา ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติม 3. มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งประกอบไปด้วยกลุ่มคนจำนวนหนึ่ง โดยมีผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ในการยกร่าง รัฐธรรมนูญ และเหตุผลที่เราต้องมาพูดคุยกันถึง การออกแบบ สสร. เพราะ สสร. มีความสำคัญเนื่องจากรัฐธรรมนูญ เป็นรัฐธรรมนูญของทุกคนดังนั้นการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญก็ควรจะเป็นกระบวนการจัดทำที่ “นับรวมทุกคน” เข้ามาอยู่ในกระบวนการ และ สสร. ก็เป็นกลไกการจัดทำรัฐธรรมนูญที่นับรวมทุกคนเข้ามาอยู่ในกระบวนการมีส่วนร่วม ผ่านตัวแทนของประชาชน ส่วนในแง่ของ “ที่มา” มีโจทย์ที่ถกเถียงกันเยอะไม่ว่าจะเป็น จากการเลือกตั้งทางตรง ทางอ้อม หรือแบบผสมเลือกตั้งผสมแต่งตั้ง
“เมื่อทุกคนมีตัวตน ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่มันก็น่าจะเป็นหลักประกันขั้นพื้นฐานได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่จะเกิดขึ้นนี้ มาจากเจตจำนงของทุกคน และอีกเหตุผลที่สำคัญคือในเมื่อ สสร. เป็นตัวแทนของคนทุกกลุ่มรัฐธรรมนูญที่ยกร่างขึ้นมาก็เป็นผลผลิตจากตัวแทนของคนทุกกลุ่ม ฉะนั้นนี่คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ ความชอบธรรม ความยอมรับในรัฐธรรมนูญฉบับนี้”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ปุรวิชญ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีรูปแบบ ที่มาของ สสร. 2 รูปแบบ คือแต่งตั้ง 100 % และแบบแต่งตั้งผสมเลือกตั้ง ซึ่งกระบวนการที่มีการเลือกตั้งด้วยนั้นจะเป็นช่วงร่างรัฐธรรมนูญ 40 ที่มี สสร.76 คนมาจากการเลือกตั้งทางตรง คือ 75 จังหวัด บวก กรุงเทพมหานคร ส่วนอีกกลุ่มคือกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมหาชน ด้านรัฐศาสตร์ ด้านรัฐประศาสนศาสตร์ ด้านบริหารราชการแผ่นดิน อีก 23 คน แต่การร่างรัฐธรรมนูญ หรือ การได้มาซึ่ง สสร. ไม่ใช่เรื่อง “เทคนิค” ที่เฉพาะผู้ที่เชี่ยวชาญด้านกฎหมายมาเถียงกันในสื่อเท่านั้น และรัฐธรรมนูญไม่ใช่เพียงเฉพาะกฎหมายสูงสุดเท่านั้น แต่เป็นสัญญาประชาคม คือ ฉันทามติร่วมกันของสังคม ที่ต้องการกติกาพื้นฐานสำหรับการปกครองประเทศนี้ ในเมื่อเป็นกติกาพื้นฐานที่ผูกมัดทุกคนเข้าด้วยกัน
“ไม่ใช่เรื่องแค่คน 20 คนมาเถียงกันว่าเป็นเรื่องรายละเอียดเชิงเทคนิค ซึ่งไม่ได้บอกว่าไม่สำคัญ แต่ต้องการจะบอกว่า รัฐธรรมนูญไม่ใช่แค่เรื่องบัตรใบ เดียวบัตร 2 ใบ สภาเดี่ยว สภาคู่ องค์กรอิสระ ศาล เรื่องนี้สำคัญ แต่ เรื่องที่สำคัญไม่แพ้กันคือสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับการคุ้มครองอยู่ตรงไหน ซึ่งควรจะมีที่ทางที่จะเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในแง่ของเอกสารที่มีชีวิต”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ปุรวิชญ์ ชี้ว่า การเปิดพื้นที่ให้มีการแสดงความเห็นวันนี้เป็นเรื่องที่ดี โดยย้ำว่า “รัฐธรรมนูญเป็นเอกเอกสารที่มีชีวิต” และมันจะมีชีวิตได้ก็คือมีคนเข้าไปช่วยให้มันมีชีวิต แน่นอนว่าต้องใช้ความพยายามในการขับเคลื่อน และการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
“แต่ไม่เริ่มวันนี้ แล้วจะเริ่มเมื่อไหร่ งานวันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการขยายไปสู่ภาคส่วนอื่น ๆ ของสังคม อยากให้มีเวทีแบบนี้ ที่เปิดให้คนธรรมดาทั่วไปสามารถเข้ามาพูดได้ว่าอยากเห็นอะไรในรัฐธรรมนูญ อยากเห็นอะไร ใน สสร. ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะนี่เป็นของเราทุกคน เราทุกคนมีสิทธิ์มีเสียงที่จะพูดเรื่องนี้ได้เช่นกัน”
ปุรวิชญ์ วัฒนสุข
ธนิสรา เรืองเดช ผู้ร่วมก่อตั้ง Wevis กล่าวว่า ที่ผ่านมาเรามีการจัดเสวนารับฟังความเห็นลักษณะนี้จำนวนมาก แต่ความเห็นมักจะไม่ถูกจับระเบียบหรือรวบรวมไว้ไปอย่างมีระบบ ทำให้เกิดเป็นแนวคิดของการสร้าง Dream Con ขึ้นมา และครั้งนี้เรียกว่าเป็น Soft Launch ของเว็บไซต์ โดยมีทีมงานประกบกับ Notetaker เพื่อให้เข้าใจกระบวนการมากขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่การกำหนดบทสนทนาในวงว่าใครเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่ต้องการเห็นปัญหาอุปสรรคเพื่อนำไปพัฒนาต่อ หรืออะไรที่ดีอยู่แล้วก็จะนำไปย่อยอดได้
“คนทั่วไปจะนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้ช่วงกลางปี 2568 ซึ่งงานนี้เป็นงานแรกที่ทดลองใช้เครื่องมือนี้ และจะเก็บความเห็นจากการใช้งานในวันนี้ไปพัฒนาต่อ และจะจัดงานแบบนี้อีก 2-3 วง เพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องมือนี้เป็นตัวช่วย ไม่ใช่เป็นภาระ ต่อคนที่จัดวงเสวนารัฐธรรมนูญ”
ธนิสรา เรืองเดช
ธนิสรา กล่าวอีกว่า หน้าตาในระบบ จะเป็นรูปแบบ จะเห็นว่าหมวดเรื่อง “ที่มาของ สสร.” เราจะมีกำหนดหัวข้อใหญ่ไว้ ในส่วนนี้อาจจะมีอีกหลายที่มาจากข้อเสนอหลายอย่าง เช่น มาจากการเลือกตั้ง มาจากการแต่งตั้ง กระบวนการต้องแยกขาดจากการเมือง พอกดเข้าไปดูในแต่ละหัวข้อ ก็จะมีการเรียงข้อมูลมาให้ว่าเห็นด้วยกี่คน แต่จำนวนจะไม่ใช่เป้าหมาย แต่คือความเห็น ว่าทำไมถึงเหนด้วย ส่วนอีกแถวเห็นด้วยบ้างส่วน อีกแถวคือไม่เห็นด้วยเพราะอะไร ส่วนนี้น่าจะช่วยให้คนที่อยากดูว่าเรื่องนี้มีความเห็นต่างไหม เพราะอะไร นี่คือแนวคิดในการออกแบบ คืออะไรที่คล้ายกันอยู่ใกล้กัน จะช่วยให้คนเข้าใจง่ายและเชื่อมโยงกัน
“นอกจากประชาชนจะสามารถเข้ามาดูความคิดเห็นแล้ว ยังสามารถเข้ามาแสดงความเห็นด้วยผ่านการลงทะเบียนเข้าสู่ระบบ เพื่อให้เป็นการแสดงความเห็นอย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ประเทศประชาธิปไตยหลายประเทศเห็นตรงกัน เช่นเดียวกับคนที่มาในวงที่เขาลงทะเบียนมาแบบเปิดเผยตัวตน ที่รับผิดชอบต่อความเห็นที่ออกมา”
ธนิสรา เรืองเดช
ส่วนประโยชน์ที่เกิดขึ้น ธนิสรา ระบุว่า ความเห็นในแฟลตฟอร์มเป็นความฝัน เพราะยังไม่เห็นหน้าตา สสร. ว่าจะมาอย่างไร และจะมีกระบวนการทำงานร่วมกับประชาชนอย่างไร แต่คาดหวังว่าอย่างน้อย สสร. จะต้องมีการรับฟังความเห็น และเชื่อว่า Dream Con เป็นการช่วยงาน สสร. เพราะเป็นการถามแทนไปแล้วว่าประชาชนอยากได้ หรือไม่อยากได้อะไร โดยจะเตรียมยื่นเข้าไปที่ สสร. ทันทีเมื่อมีการเปิดรับฟังความเห็น ส่วนประโยชน์ในทางอ้อม มองว่า มีกับสื่อมวลชน นักวิชาการ หรือประชาชน ที่อยากคุยเรื่องนี้โดยที่ไม่ต้องไปไปตั้งวงใหม่
ธนิสรา กล่าวทิ้งท้าย ถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วยว่า มีประโยคหนึ่งเมื่อในอดีตที่เคยถูกชวนไปเวทีเรื่องรัฐธรรมนูญเรามักจะพูดว่า “ขอให้ความเห็นในฐานะที่คนที่ไม่ได้เรียนกฎหมายมา” ในช่วงนั้นเรารู้สึกว่าเป็นการออกตัวว่าเราไม่ได้มีความรู้แต่เราอยากความเห็น และการลุกขึ้นมาทำโครงการนี้มีความฝันว่าประโยคที่เราพูด มันจะไม่ใช่การพูด ด้วยความเกรงใจ แต่มันเป็นการพูดด้วยการรักษาสิทธิ์ของเรา เพราะต่อให้เราไม่ใช่คนที่เรียนกฎหมายมา แต่เรามีสิทธิ์ที่จะกำหนดกติกาในการอยู่ร่วมกันของประเทศนี้
“อยากให้ทุกคนพูดประโยคนี้ด้วยความภูมิใจว่าต่อให้ไม่ได้เรียนกฎหมาย แต่ฉันมีสิทธิ์ที่จะให้ความเห็นและออกแบบความฝันในร่างรัฐธรรมนูญ ของประเทศเราได้”
ธนิสรา เรืองเดช
กฤติกา โภคากร ผู้เข้าร่วมจาก กลุ่ม Nonbinary Thailand กล่าวว่า ได้เข้าร่วมในส่วนของ ประเด็นเรื่องที่มา ได้ไปเสนอทางเรื่องของความหลากหลาย กระบวนการ และเราต้องการจะรู้ว่าคนที่จะต้องเข้ามาเป็น สสร. ต้องมีคุณสมบัติแบบไหน แล้วถ้าหากเราอยากจะเข้าไปร่วมเป็น สสร.ด้วย จะเข้ามาได้แบบไหน ก็เลยเลือกที่จะเข้าร่วมในประเด็นเรื่องที่มาเป็นหลัก ส่งอีกประเด็นที่สนใจ การออกแบบการมีส่วนร่วม คือการดูว่าประชาชนจะมีส่วนร่วมในการเลือกเข้ามาอย่างไร มีแบบบัญชี หรือตัวแทนจังหวัด รวมถึงคุณสมบัติที่อาจจะต้องมีการคัดกรอง ซึ่งกระบวนการนี้ค่อนข้างเปิดกว้างในการรับฟังความเห็น โดยภาพฝันที่อยากให้เห็นหลังจากนี้มองว่า อยากให้ตัวแทน สสร. มาจากหลากหลายอาชีพ หลากหลายพื้นที่ ไม่ว่าจะมีเบื้องหลังอย่างไรแต่ท้ายที่สุดจะต้องมีการตรวจสอบ และอยากให้มีการกลั่นกรองก่อนที่จะเข้าไปถึงขั้นตอนการเลือกตั้ง
“ทุกคนให้โอกาสกันหมดเลยแม้แต่กระทั่งเยาวชนก็ยังให้โอกาสได้ด้วย คือเป็นเวทีที่ไร้ข้อจำกัด แม้ว่าท้ายที่สุดแล้ว กันได้มาซึ่ง สสร. อยู่ที่สิทธิ์ของคนเลือก การตัดสินใจของคนที่เลือก รู้สึกโอเคมากที่ได้มีโอกาสมาร่วมกระบวนการแบบนี้”
กฤติกา โภคากร
รัตนพรรณ เลิศชัยประเสิรฐ ประชาชน กล่าวว่า โดยส่วนตัวสนใจเรื่องการเมืองและเป็นอดีตนักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ เข้ามาร่วมงานนี้เพราะต้องการติดตามข่าวสาร ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ได้เข้าร่วมทั้ง 3 กลุ่มประเด็น โดยส่วนตัวเห็นว่า เงื่อนไขของ สสร. ควรจะมีเงื่อนไขในการเข้าถึงน้อย เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเข้าร่วมได้ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้สูงอายุ นักเรียนนักศึกษา ชนกลุ่มน้อย ชาติพันธุ์ กลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ คนพิการ ได้มีโอกาสเข้าร่วมในส่วนนี้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็น หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในการเลือก หรือไปเป็นผู้รับการคัดเลือก สสร.
“ซึ่งการนำข้อมูลที่ได้จากการแสดงความเห็นไปลงบนแพลตฟอร์มจะเป็นข้อดีที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามาร่วมแสดงความเห็น เพื่อระดมความคิดจากคนทั้งประเทศ ทำให้เกิดฉันทามติ หรือความเห็นร่วมกันว่าเราจะนำพาประเทศนี้ไปในทิศทางไหน”
รัตนพรรณ เลิศชัยประเสิรฐ
ความเห็นประชาชน สู่ เวที ออกแบบ สสร.
ต่อมาในช่วงบ่าย ความเห็นที่ผ่านกระบวนการสนทนากลุ่ม ถูกย่อยออกมาเสนอผ่านเวที “Policy Forum ครั้งที่ 24 : ออกแบบ สสร.ร่างรัฐธรรมนูญของประชาชน” เพื่อต่อยอดกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญในสภา เพื่อหาทางไปต่อ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต สสร. คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ, นิกร จำนง เลขานุการ และ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ, พริษฐ์ วัชรสินธุ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ, ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ, รศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ โดยมี อรุชิตา อุตมะโภคิน ผู้จัดการกลุ่ม กลุ่มงานด้านนวัตกรรมการสื่อสาร และ ปุรวิชญ์ เป็นผู้ดำเนินการเสวนา
ณัชปกร นามเมือง เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ กล่าวว่า โจทย์ของรัฐธรรมนูญไทยวันนี้มี 3 ประเด็น เรื่องแรกคือ “การเมือง” ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญ 2 แบบ คือแบบลายลักษณ์อักษร และอีกแบบคือฉบับวัฒนธรรม ซึ่งขัดแย้งกันเอง เรียกว่า “ระบบประชาธิปไตย 2 ใบอนุญาติ” ใบแรกคือรอจากการเลือกตั้ง และอีกใบคือรอชนชั้นนำตัดสินใจ 2 คือ “ระบบราชการรวมศูนย์” ทำให้เติบโตช้าและมีความเหลื่อมล้ำสูง สุดท้ายคือ 3 “โจทย์สังคม” เช่น สวัสดิการ ความเท่าเทียมทางเพศ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น สะท้อนให้เห็นว่าโจทย์ในประเทศไทยกว้างมาก จึงต้องหา “ตัวแทน” หรือ “สสร.” ที่มีความหลากหลาย จะหวังแค่นักกฎหมายหรือนักรัฐศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ ซึ่งอาศัยหลักคิด “4D”
1. Democracy – ตัวแทนที่เป็นประชาธิปไตย
2. Diversity – ความหลากหลาย
3. Deliberate – ไม่ใช่แค่เลือกคนแล้วจบ แต่ต้องมีอำนาจในการตัดสินใจร่วมกัน
4. Deliver – ต้องนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
ขณะที่ พงศ์เทพ เทพกาญจนา อดีต สสร. ร่างรัฐธรรมนูญ 40 และคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ กล่าวว่า รูปแบบที่ใช้เรื่องที่มาของ สสร. ขณะนั้น นำมาใช้กับตอนนี้ไม่ได้ และมีความเห็นว่า สสร.ปัจจุบัน ควรมาจากการเลือกตั้งโดยประชาชน แม้ว่าอาจจะมีโอกาสมาจากคนที่มีสังกัด หรือ มีสี แต่ สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งดีที่สุด แต่การจะให้มี สสร. จากจังหวัดละ 1 คน มองว่าอาจจะไม่สอดคล้องกับจำนวนประชากร เช่น กทม. ที่มีประชากรเยอะ แต่มีตัวแทนได้เพียงคนเดียว แต่ก็มีข้อดี คือ กลไกทางการเมืองมีอิทธิพลได้น้อยและกระจายคนได้มากขึ้น และมองว่าจำนวน 99-100 คน มีความเหมาะสม เนื่องจาก สสร. มีเพียงภารกิจเดียว คือการร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ ก็มาจากมหาวิทยาลัย ซึ่งในเวลานั้นมีไม่มาก สุดท้ายก็ถูก สส. และ สว. เลือกอยู่ดี
พงศ์เทพ กล่าวอีกว่า ในปี 40 ให้เวลาทำงาน 240 วัน อาจจะไม่สามารถรับฟังความเห็นประชาชนจำนวนมากได้ แต่ในปัจจุบันมีเทคโนโลยี ที่อยู่ที่ไหนก็รับฟังความเห็นได้ ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มี สสร. ภาคประชาชน ก็สามารถคิดโจทย์ คิดข้อเสนอเอาไว้ได้เลย เพื่อเตรียมเสนอให้ สสร.นำความเห็นไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญได้
ด้าน นิกร จำนง เลขานุการ และ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า ตอนนี้เรามีมุมมองจากรัฐบาลเพื่อไทย ตั้งแต่ “เศรษฐา ทวีสิน” จนมาถึง “แพทองธาร ชินวัตร” ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งมองว่า สสร.เป็นเพียงแค่ฐาน ที่จะนำไปสู่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชน แต่สิ่งที่ควรทำต่อจากนี้ คือ ควรผลักดันให้ไปถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ได้ภายในสมัยรัฐบาลนี้ เพราะเหลือน้อยแล้ว หากพลาด ไม่รู้ว่ารัฐบาลใหม่จะเห็นด้วยกับเรื่องนี้หรือไม่
“ความปรารถนาตอนนี้คือ การคืนรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นของประชาชน ไม่จำเป็นว่าในมาตราจะดี จะเลว แล้วประชาชนจะไปเรียนรู้เอง แล้วเราใส่ก๊อกให้สามารถแก้ไขได้ตามสมควร สังคมไทยต้องเรียนรู้ รัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดไม่มี สสร.ดีที่สุดก็ไม่มี จะรอให้ดีที่สุดคงไม่ได้ ณ วันนี้โลกหมุนเร็วมาก เราต้องเดินต่อไป ๆ ไม่ใช่ว่าฉบับเดียวแล้วจบ แล้วตอนนี้เวลาก็เหลือนิดเดียวแล้ว ถ้าพลาดรัฐบาลนี้ เราไม่รู้เลยว่ารัฐบาลหน้าจะทำอีกหรือไม่ สิ่งที่ต้ต้องทำต่อจากนี้คือ ต้องทำให้รัฐบาลชุดนี้ คืนรัฐธรรมนูญกลับไปเป็นของประชาชนให้ได้”
พริษฐ์ วัชรสินธุ กมธ.ร่วมเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวว่า เลือกตั้ง สสร. 100% เป็นความเห็นที่เรียบง่าย และเห็นข้อมูลในหลายประเทศ ว่าใครจะมารับผิดชอบในการจัดทำ ร่างรัฐธรรมนูญ แต่มีคำถามสำคัญ คือ ทำอย่างไร โดยมองว่าต้องมาจากการเลือกตั้ง 100% เพื่อให้เกิดความชอบธรรม เพราะฝ่ายนิติบัญญัติที่ทำหน้าที่ร่างกฎหมายยังมาจาก ส.ส. ที่มาจากเลือกตั้ง 100% ดังนั้น สสร. ก็ควรจะมาจากการเลือกตั้งเช่นเดียวกัน
“นี่เป็นกลไกที่เคารพความหลากหลายมากที่สุด และท้ายที่สุดตัวแทนของ สสร. ก็จะเป็นกระจกสะท้อนของทุกคนในสังคม สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% ยังไม่เคยเกิดขึ้นในไทย ในรัฐธรรมนูญ 40 ก็ยังไม่เคยเกิดขึ้น ถ้าเรามองหลายประเทศ เช่น ชิลี ไอซ์แลนด์ อาจเห็นว่าน้อย แต่ประเทศส่วนใหญ่รัฐธรรมนูญเขาดี เขาไม่ต้องมาแก้หลายรอบ”
พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ กล่าวอีกว่า หากเราอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่เร็วที่สุด ซึ่งขึ้นอยู่กับ ร่าง พ.ร.บ.ประชามติฯ ถ้าต้องการให้เร็ว คือ ลดจำนวนประชามติจาก 3 ครั้ง ให้เหลือ 2 ครั้ง เพราะเป็นทางเดียวที่จะทำให้ได้รัฐธรรมนูญใหม่ก่อนรัฐบาลนี้หมดวาระ สอง หากต้องการให้มีกระบวนการที่ชอบธรรม คือ เลือกตั้ง 100% และ สาม เนื้อหาในรัฐธรรมนูญต้องตอบโจทย์ทางการเมืองได้
“ประเด็นแรก ผมไม่รู้หรอกจะสำเร็จไหม เพราะผมจะยื่นการออกแบบ สสร. ถ้าสำเร็จมันจะเป็นจริงหรือไม่ ประเด็นที่สองไม่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ ผมไม่เสียดาย ยังไงก็ต้องรอเวลาอยู่ดี ผมพยายามทำวิถีทางเพื่อลดประชามติ ถ้าไม่สำเร็จเท่าทุน”
พริษฐ์ วัชรสินธุ
พริษฐ์ กล่าว กล่าวว่า หากยังจำได้ร่าง วาระ 3 ให้การเลือกตั้ง สสร. มาจากประชาชน 100% แต่วันนี้ ยังพบว่า ยังมีคนไม่เห็นด้วย เป็นหน้าที่ที่เราต้องโน้มน้าวให้สังคมเห็นให้ได้ว่า สสร. เลือกตั้ง 100% คือคำตอบ ซึ่งจะไปสู่คำตอบของรัฐสภาด้วย แต่ก็มี 2 ข้อโต้แย้งว่า สสร. เลือกตั้ง 100% จะทำให้ไม่มีผู้เชี่ยวชาญเข้ามาอยู่ในกระบวนการ ซึ่งเรื่องนี้มี 3 ทางออก คือ
1. เปิดพื้นที่ให้คนมีส่วนร่วมเข้ามาออกแบบ สสร.
2. ใช้ระบบการเลือกตั้งบัญชีรายชื่อ เช่น สสร. แบบบัญชีรายชื่อ โดยตั้งเป็นทีมแล้วลงสมัครแข่งขัน ถ้าไม่ตั้งทีมเฉพาะ นักวิชาการ อาจไปสมัครกับอีกทีม หรือใช้ระบบบัตรเลือกตั้งเฉพาะ เพิ่มมาเป็น 2-3 บัตร บัตรแรกเลือกนักวิชาการ กำหนดคุณสมบบัติให้เข้มงวด แล้วให้ประชาชนเลือก อีกบัตรเพิ่มความหลากหลาย เช่น เปิดเฉพาะผู้พิการ แล้วให้ประชาชน เลือก สสร. สัดส่วนคนพิการ
3. เลือกตั้งทางอ้อม พอคุณเลือก สสร เข้าไปแล้ว ให้เขาไปเลือกว่า เขาจะเอา สสร คนไหน เข้าไปเพิ่ม ซึ่งเราออกแบบกติกาให้เขาเขียนมาเลย ถ้าเขาชนะ ใครเป็นแคนดิเดตที่จะเข้ามา
รศ.วรรณภา ติระสังขะ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เราทุกคนเป็น สสร. ได้ ทำรัฐธรรมนูญได้ อย่าคิดว่าต้องรอกระบวนการจากรัฐสภา ตอนนี้เรามีส่วนในการร่างรัฐธรรมนูญได้เช่นกัน
“ให้เก็บอารมณ์นี้ไว้แล้วไปทำงานต่อว่า รธน. ฉันเป็นเจ้าของ ฉันอยากจะออกแบบและสร้างบ้านของฉันได้ ถ้ารอไม่รู้จะถึงเมื่อไร ถ้าทำเดี๋ยวนี้ บรรยากาศมันจะดำเนินต่อไป ถ้าเขาสะดุด เรายังทำงานกันต่อ สมมติอากาศเสีย แต่รัฐธรรมนูญยังดำเนินต่อเราอาจจะได้อากาศที่บริสุทธิ์กว่านี้ได้ถ้าเรามีรัฐธรรมนูญที่ดี”
รศ.วรรณภา ติระสังขะ
รศ.วรรณภา กล่าวอีกว่า สิ่งสำคัญต่อมาคือ การรวมเสียงทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเล็กหรือจะน้อย แม้กระทั่งเรื่องไร้สาระสำหรับบางคน ก็เป็นสาระกับตัวเขา เพราะเรื่องบางเรื่องเรามองจากจุดที่เรายืน แต่เจ้าของเรื่องของมองว่าว่าเป็นเรื่องใหญ่ การมีระบบรวบรวมว่ามีคนเห็นด้วยเท่าไหร่ อย่างไร เมื่อมี Empathy คือ เป้าหมายเดียวกัน จะช่วยกำหนดทิศทางทางสังคมที่กว้างมากขึ้นและเห็นภาพร่วมกัน