We Watch ชวนจับตาก่อนเลือกตั้ง อบจ.อุบลฯ

ชวนคนอุบลฯ ร่วมจับตาการเลือกตั้ง ด้านประธานกลุ่มท้องถิ่นศึกษา ชี้เลือก อบจ.ครั้งนี้เหมือนเชียร์มวย ตั้งคำถามท้องถิ่นได้อะไรบ้าง เหตุเน้นสื่อเพียงใครเป็นเครือข่ายใคร แต่ขาดการลงลึกถึงความสัมพันธ์ และการนำงบประมาณไปใช้ในโครงการต่าง ๆ

เมื่อวันที่ 20 ธ.ค. 2567 เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย หรือ We Watch ร่วมกับกลุ่มท้องถิ่นศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เปิดพื้นที่เสวนา “จับตาเลือกตั้งนายกฯ อบจ. อุบลฯ” 

โดย พงศธร กันทวงค์ นักศึกษาสาขาวิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้แลกเปลี่ยนถึงการสังเกตการณ์เบื้องต้นจากการลงพื้นที่ทำวิจัย หัวข้อ “พลวัตทางการเมืองของบ้านใหญ่ในการเลือกตั้งท้องถิ่น กรณีศึกษาจังหวัดอุบลราชธานี” ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก We Watch

งานวิจัยมีวัตถุประสงค์ เพื่อดูการปรับตัวของนักการเมืองจากบ้านใหญ่ วิธีการสร้างฐานเสียงเพื่อให้ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง และรูปแบบการหาเสียง

โดยข้อสังเกตที่พบเห็น คือ การเลือกตั้ง อบจ. อุบลฯ ในครั้งนี้ไม่ใช่การแข่งขันระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชน อย่างใน จ.อุดรธานี แต่ที่อุบลฯ เป็นการรวมกันของบ้านใหญ่บ้านอื่น ๆ เพื่อโค่นบ้านใหญ่ตระกูลกัลป์ตินันท์

นอกจากนี้ พงศธร ยังหยิบยกประเด็นเรื่องโซเชียลมีเดียขึ้นมาว่ามีบทบาทในทางการเมืองสูงมาก ในการเลือกตั้งท้องถิ่นพบว่าผู้สมัครแต่ละคนต่างมีบัญชีโซเชียลมีเดียของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น Facebook หรือ Tiktok แต่สิ่งที่สังเกตเห็น คือ Tiktok มีบทบาทในการหาเสียงอย่างมาก และไม่ใช่เพียงบัญชีของทีมงานหรือผู้สมัคร แต่มีบัญชีแปลกผุดขึ้นมาเพื่อใช้โจมตีทางการเมืองผ่านวาทกรรมต่าง ๆ 

ส่วนประเด็นการจ่ายเงินซื้อเสียง ในบางเขตจ่ายเพียง 100 บาท แต่บางเขตจ่ายเป็นหลักพัน เพราะมียุทธศาสตร์ ที่ว่า บางเขตต้องจ่ายเยอะเพราะเป็นพื้นที่ที่คะแนนสูสีกัน อาจเกิดการพลิกตอนไหนก็ได้ อยู่ที่ความมั่นใจว่าจะชนะการเลือกตั้งแค่ไหน

“ปัจจัยหลาย ๆ อย่าง มันมีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องระมัดระวังว่า การใช้เงินเท่ากับชัยชนะ เพราะมันเป็นวิเคราะห์ที่ตื้นเกินไป”

ด้าน ผศ. ปฐวี โชติอนันต์ ประธานกลุ่มท้องถิ่นศึกษา คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกว่าจากที่สังเกตการณ์คิดว่าการเลือก อจบ.รอบนี้ เป็นลักษณะของการเชียร์มวย จนเกิดคำถามว่าแล้วท้องถิ่นได้อะไร ?  

“สื่อส่วนใหญ่พยายามตามหาว่าใครเป็นเครือข่ายใคร ใครอยู่ฝั่งใคร หลังจากนั้นพอเลือกตั้งเสร็จคือจบ ส่วนตัวคิดว่า ไม่ควรพูดแค่เรื่องเหล่านี้ เพราะสิ่งที่จะทำให้ท้องถิ่นไปไกลคือต้องลงไปดูอะไรที่มากกว่านั้น”

ตัวแปรหลัก ๆ ในทางรัฐศาสตร์ ของการเลือกตั้ง คือ 1.) บรรยากาศทางการเมือง คำถามคือการเลือก อบจ.ครั้งนี้กับครั้งที่แล้วต่างกันอย่างไร ต้องมองย้อนดูช่วงเวลาที่ผ่านมาด้วย ในช่วงปี 63 มีม็อบเยาวชน มีการยุบพรรค แต่พอรอบนี้จะเห็นว่าการเมืองระดับชาติเปลี่ยนไม่แรงเหมือน 4 ปีก่อน ซึ่งจะส่งผลกับพรรคการเมืองที่ส่งตัวแทนลงเลือกตั้งนายก อบจ. 2.) เรื่องตัวบุคคล ซึ่งเป็นปัญหามากในการคัดเลือกผู้ลงสมัคร ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม และสิ่งสำคัญการส่งเมสเสจทางการเมืองให้กับประชาชน 3.) เครือข่ายและกลไก ซึ่งอุดรฯ กับอุบลฯ ก็มีความต่างเรื่องเครือข่ายในพื้นที่ ในอุดรฯ พรรคประชาชนมีเครือข่ายการทำงานในพื้นที่ แต่พอเป็นที่อุบลฯ พรรคไม่มีเครือข่าย ไม่มี สส.ในพื้นที่ทำงานกับประชาชน นอกจากนี้ใครมีเครือข่าย ส.อบจ.เดิม หรือเทศบาลก็สามารถใช้คนกลุ่มนี้ทำงานในพื้นที่ได้ 4.) ระบบเลือกตั้ง เป็นการเลือกตั้งใบเดียว ไม่เหมือนการเลือกตั้ง สส. และการเมืองท้องถิ่นมักอาศัยความสัมพันธ์ส่วนบุคคล

“หลังจากนี้ ถ้าจะทำงานมากขึ้นแล้วก่อให้เกิดประโยชน์กับท้องถิ่น สิ่งสำคัญคือเราควรดูความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองและนายก อบจ.ให้ดี ในการนำงบประมาณไปลงตรงไหนบ้าง ไม่ใช่แค่ว่าอยู่ฝ่ายใครแล้วเลือกเชียร์”

ลองไปดูว่าโครงการไหนที่พรรครัฐบาลเอาลงมาแล้วทับกับส่วน อบจ.สิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการทำความเข้าใจท้องถิ่น ของนโยบาย พรรคการเมืองต่าง ๆ และนายก อบจ.

ในประเด็นการเชื่อมโยงระหว่างการเลือกตั้ง อบจ.จ.อุบลฯ ที่จะส่งผลต่อ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งจะเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ 2568 ผศ. กิตติชัย ขันทอง สาขาวิชารัฐศาสตร์ วิทยาลัยกฎหมายและการปกครอง มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มองว่า หากผลการเลือกตั้งอบจ.จ.อุบลฯ ออกมา ตัวเลขคะแนนอาจจะมีนัยสำคัญ แต่อาจไม่ได้เป็นตัวแปรมาก หากคนใดคนหนึ่งได้รับคะแนนเสียง เพราะทางจ.ศรีสะเกษอาจไม่ได้มีบ้านใหญ่ที่เด่นชัดอย่างอุบลฯ แต่ก็เป็นกลุ่มเก่าของนักการเมืองหลายสมัย และ สจ.ในแต่ละอำเภอที่แทบจะไม่มีการมีการเปลี่ยนตัวเลยในหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้น ก็ต้องลองสู้โดยใช้กระแสพรรค แต่ในอีกมุมพรรคที่มีพื้นที่ในการเมืองระดับชาติก็อาจจะไม่ได้มีตัวแปรในการเลือก อบจ. และ ส.อบจ.ก็เป็นไปได้ เพราะมีปัจจัยหลายอย่าง ทั้งตัวเลือก ทัศนคติ หรือพฤติกรรมของการเลือกตั้ง

ส่วนทางศรีสะเกษ เมื่อลองพิจารณางบประมาณปีล่าสุด ซึ่งเป็นท้องถิ่นที่มีงบประมาณอันดับหนึ่งของประเทศ เนื่องจากมีโรงเรียนในสังกัด อบจ.เป็นอันดับสองของประเทศ 39 โรงเรียน รวมถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ก็ต้องยอมรับภารกิจทางด้านการศึกษาและสาธารณสุขก็ค่อนข้างหนักเพราะมีการถ่ายโอนมาค่อนข้างเยอะ ต้องดูว่าผู้สมัครจะมีการหาเสียงนโยบายอย่างไร สำหรับโครงสร้างที่มีการเปลี่ยนผ่านของระบบราชการ อบจ.ด้วย

ศุภกิจ จันทะพงษ์ เครือข่ายเยาวชนสังเกตการณ์การเลือกตั้งเพื่อประชาธิปไตย (We Watch) มองว่า เมื่อใกล้ถึงวันเลือกตั้งอบจ.อุบลฯ ก็ทำให้เห็นว่าประเด็นไหนสนใจบ้างที่ทางเครือข่ายอยากจะผลักดันต่อ จากการติดตามของทาง We Watch ประเด็นแรก คือ เห็นปรากฏการณ์การมีส่วนร่วม จากการเลือกตั้ง อบจ.ที่ผ่านมา เห็นว่ามีผู้ออกมาใช้สิทธิ์น้อยหลายพื้นที่ อาจเกิดเพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ให้ความสำคัญ หรือถูกบล็อคไม่ให้ประชาชนได้รับรู้หรือไม่ ? 

ทาง We Watch จึงอยากช่วยจับตา ว่าการหาเสียงมีการสร้างแรงจูงใจ หรือนโยบายที่ตอบโจทย์ต่อประชาชนในพื้นที่นั้นหรือไม่ รวมไปถึงการสร้างความรุนแรง การคุกคามข่มขู่คู่แข่ง การบล็อค การชี้เป้าประชาชนในการเลือกตั้ง การใช้วาทกรรมในการหาเสียง ซึ่งผูกโยงไปถึงความรุนแรงเชิงสัญลักษณ์ และวัฒนธรรม การใช้คำพูดคุกคาม การเหยียดต่าง ๆ 

We Watch เองมีการใช้เครื่องมือสังเกตการณ์การเลือกตั้ง เพื่อตรวจสอบความโปร่งใส ก่อนการเลือกตั้งต้องดูว่ามีการใช้อำนาจรัฐเพื่อสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้งหรือไม่ เจ้าหน้าที่ให้ความเข้าใจประชาชนในการใช้สิทธิ์ไหม และกระบวนการที่สำคัญที่สุดในวันเลือกตั้งคือกระบวนการนับคะแนน มีช่องทางให้ประชาชนสามารถตรวจสอบทักท้วงได้หรือไม่

ศุภกิจ บอกว่า ในฐานะที่เป็นอาสาสมัครจับตาเลือกตั้งื้องถิ่น ก็มีการเชิญชวนอาสาสมัครกว่า 60 ชีวิตจากทุกภาคมาร่วมสังเกตการณ์ที่จ.อุบลฯ จึงอยากฝากให้ประชาชนให้ความร่วมมือด้วยกัน

ส่วนเป้าหมายที่อยากทำให้ปี 2568 มีข้อเสนอ คือ มุ่งหวังให้ท้องถิ่นตอบโจทย์กับคุณภาพชีวิตประชาชนมากขึ้น ควรใช้โอกาสการเลือกตั้งครั้งนี้ผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติหรืออยู่ในความสนใจของผู้คนส่วนใหญ่ มีการสร้างความร่วมมือระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อแจ้งให้ทุกคนรับรู้ ตื่นตัว และการจัดกิจกรรมรณรงค์ ควรผลักดันให้คนรับทราบในการใช้สิทธิ

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active