“พิชญ์” ชี้ นายก อบจ.ต้องไม่เป็นแค่ “ฐานชนชั้นนำทางการเมือง”


มองบทบาท อบจ.ที่ดี ต้องเป็นเวทีกลางสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วน ดูภาพรวมจังหวัด แก้ความเหลื่อมล้ำ พื้นที่เมือง-ชนบท ไม่เห็นด้วย “อนุทิน” ยื่นกฎหมายฟื้น “กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน” ในเขตเทศบาล



วันนี้ (21 ธ.ค. 2567) หลังจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) และ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันรับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23 – 27 ธ.ค. 2567 และกำหนดวันเลือกตั้ง เสาร์ที่ 1 ก.พ. 2568 ซึ่งที่ผ่านมาหลาย ๆ จังหวัดได้ทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครและเดินหน้าหาเสียงกันแล้ว

The Active คุยกับ ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ “อำนาจหน้าที่ อบจ.” บทบาทในการพัฒนาเมืองที่ตอบโจทย์ประชาชาชน  

ตั้งคำถาม อำนาจ VS สิ่งที่ทำได้จริง ของ อบจ.

ผศ.พิชญ์ กล่าวว่า เวลาที่พูดถึงการเลือกตั้งท้องถิ่น การเมืองท้องถิ่น การบริหารระดับท้องถิ่น สําหรับคนที่ไม่เข้าใจก็อยากจะถามว่า “เขาทําอะไร ?” แต่ในความเป็นจริงอำนาจหน้าที่นั้นเป็นเรื่องหนึ่ง ส่วนการทําจริงก็อีกเรื่อง โดยอธิบายว่า การบริหารราชการแผ่นดิน มีอย่างน้อย 3 ระดับ มีหลายร้อยหน่วยงานที่ลงไปในพื้นที่และมีความเกาะเกี่ยวกัน ซึ่งบางหน่วยงานจะเป็นหน่วยงานของรัฐบาลกลางลงไปในท้องถิ่นโดยตรง หรือ เรียกว่าเป็น “สาขาของรัฐบาลกลาง” หรือ “ฝ่ายภูมิภาค”  คือชื่อของหน่วยงานจะมีคําว่า จังหวัด อําเภอ ต่อท้าย เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด คือหน่วยงานที่มีข้าราชการใหญ่สุดถูกส่งเข้ามา ในจังหวัดผู้ว่าฯ ก็ดูแลทุกอย่าง ฉะนั้นบ้านเราก็ยังเป็นลักษณะการรวมศูนย์อํานาจที่มีสาขาของส่วนกลาง อําเภอก็มีนายอําเภอ ลงไปหน่วยย่อยกว่านั้นก็จะมี กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ที่แม้ว่าจะมาจาก “การเลือกตั้งของประชาชน” ก็มาทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยของนายอําเภอ นี่คือ ระบบเดิม

ผศ.พิชญ์ กล่าวอีกว่า สิ่งที่เราพยายามคุยกันเรียกว่า การปกครองท้องถิ่น คือ หน่วยที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนแล้วก็บริหารงบประมาณของประชาชน ซึ่งอําเภอ จังหวัด ไม่ได้เก็บงบประมาณเอง แต่รับจากส่วนกลาง ส่วนท้องถิ่นต้องมาจากการที่เก็บเงินเอง วางแผนการใช้เงินเอง แล้วก็ได้รับการอุดหนุนบางส่วน ทั้งอุดหนุนโดยการบังคับจากเกณฑ์ต่าง ๆ และการที่ไปวิ่งหามา ทำให้นักการเมืองในระดับส่วนกลางที่เป็นตัวแทนท้องถิ่นต้องไปวิ่งหาอะไรจากส่วนกลางมาให้ส่วนภูมิภาค แล้วก็ท้องถิ่น 

“ในส่วนท้องถิ่นในต่างจังหวัดที่ไม่ใช่ กทม.ก็จะมี 2 ขั้น คือ อบจ. และเป็นส่วนเมืองย่อย ๆ อย่าง เทศบาล ในชนบทก็จะเป็น อบต.ที่เราคุยอยู่คือ อบจ.เมื่อก่อนเคยมีนะ ช่วงหลังก็กลายเป็นว่ามันจะมีช่วงที่ยาวยาวเลยนะครับหลายสิบปีที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดมานั่ง เพราะฉะนั้นเมื่อก่อนก็จะมีแต่คําว่า สจ.ก็คือมาจากการเลือกตั้งประชาชนในแต่ละเขต ทีนี้ช่วงหลัง ราว 10-20 ปี มีการปฏิรูปการเมือง มีการกระจายอํานาจเพิ่มขึ้น นายก อบจ.มาจากการเลือกตั้งโดยตรง”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผศ.พิชญ์ อธิบายว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดจะเป็นผู้คุมข้าราชการทั้งหมด ส่วน อบจ.ทํางานในภาพรวมของจังหวัด มีการเก็บภาษีบางอย่าง ทําโครงการขนาดใหญ่ เช่น ถนน ดูงบประมาณบางส่วน แต่ไม่ได้หมายความว่าทุก อบจ.ทําเหมือนกัน ฉะนั้นเวลาเราดูจริงก็ต้องไปดูว่า นโยบายและโครงการของแต่ละ อบจ.ทําอย่างไร ซึ่งประเด็นท้าทายของ อบจ.อยู่ที่ว่า พื้นที่เขาไม่มี เพราะพื้นที่มันทับซ้อนกับเทศบาลกับ อบจ. กับ อบต.

“บางทีเราถึงงงว่าตกลงเขาทําอะไร ในความเป็นจริงก็คือ เขาต้องเอาโครงการจริงของเขาลงไปในตามพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นส่วนเมืองและชนบท ส่วนใหญ่ก็จะลงในชนบท อันนี้ก็เป็นโครงสร้างที่เราเข้าใจกัน เวลาเขาเขียนกฎหมายก็เขียนกว้าง 10 กว่าข้อ ทําทุกอย่าง ขยะ จัดการน้ำ บํารุงทรัพยากร วางผังเมือง จัดให้มีการบํารุงทางน้ำ ทําท่าเรือ ป้องกันบรรเทาสาธารณภัย เพียงแต่เขาทําครอบคลุมทั้งจังหวัด”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ซึ่งประชาชนจะเข้าใจกันว่างานที่ อบจ.ทำ มาจากการจัดเก็บภาษีของประชาชน การเก็บ VAT เก็บภาษีโรงแรม เป็นต้น ทำให้มีก้อนงบประมาณที่ใหญ่ ส่วนหน่วยอื่นอย่าง เทศบาล อบต.ก็มีการเก็บภาษีเช่นกัน เช่น ภาษีที่ดิน ส่วนกลางก็มีภาษีรายได้ เพราะฉะนั้น อบจ. จะไม่ได้ทําได้ทุกอย่าง

“ต้องไปดูว่าในแต่ละพื้นที่เขาสนใจทําอะไร แล้วทําไมเขาไม่ทําอะไร อันนี้พูดกันตามตํารานะครับ แต่ถ้าอีกด้านหนึ่ง พูดกันตามความเป็นจริง มันเกี่ยวพันกับการเมืองในท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง มันจึงเป็นเรื่องเกี่ยวกับบ้านใหญ่เสียเยอะ เพราะว่า นายก อบจ.คือ ศูนย์กลาง คือ องค์ประธานของการเมืองในระดับท้องถิ่น เขาต้องเชื่อมโยงทํางานจริงกับเทศบาล และ อบต. กับกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน และต้องทํางานร่วมกับจังหวัด บางทีจังหวัดไม่มีเงินก็ต้องมาขอ อบจ.ฉะนั้นเวลาที่นักการเมืองระดับชาติลงไปหาเสียง นายก อบจ.คือคนที่รู้จักทุกจุดเพราะเขาคือคนที่มีโครงการลงไปในทุกพื้นที่ ซึ่งอาจเป็นพื้นที่ที่เป็นฐานคะแนนของเขาด้วยหรือไม่”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

“วางผังเมือง” นโยบาย ผู้สมัคร นายก อบจ.ที่ประชาชนอยากเห็น

ในช่วงสถานการณ์ภัยพิบัติเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ การจัดการภับพิบัติท้องถิ่นเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงอย่างมาก และตั้งความหวังให้ในสนามเลือกตั้ง นายก อบจ.ที่กำลังจะเกิดขึ้น “นโยบายจัดการผังเมืองเพื่อรับมือภัยพิบัติ” จะถูกนำมาเป็นนโยบายซื้อใจประชาชน ซึ่ง ผศ.พิชญ์ มองว่า ประชาชนอยากให้ทําเรื่องเมือง แต่ อบจ.อาจไม่จําเป็นต้องทําเรื่องเมืองก็ได้ เพราะถ้าเมืองนั้นโตด้วยเศรษฐกิจหรือมีพื้นที่เทศบาลนครอยู่ อบจ.อาจจะต้องไปทําเรื่องพื้นที่ลดความเหลื่อมล้ำ ในพื้นที่ชนบท เพราะต้องเข้าใจว่า “เมืองมี 2 ชั้น” เมืองในความหมายของคนทั่วไป คือ จังหวัด กับ เมืองในความหมายของการเรียงผังเมืองจริง ๆ ในเขตบริหารเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ อบจ.ส่วนใหญ่แทบจะไม่ได้ทําอะไรตรงกลางเมือง

“ถ้าสําหรับผม อบจ.ที่ดี คือ อบจ.ที่ดูภาพรวมของจังหวัดแล้วเข้าไปเสริมในส่วนของ อบต.กับเทศบาล แน่นอนต้องช่วยกันวางกรอบ และสิ่งที่เป็นจุดเด่น เราคาดหวังให้ อบจ.มองภาพรวมแล้วก็ เชื่อมั่นว่าจังหวัดจะมีพัฒนาการไปในทิศทางที่คนในจังหวัดทั้งหมดต้องการให้เป็นทั้งส่วนเมืองและชนบท ฉะนั้นเวลาพูดถึงผังเมือง ปัญหาของผังเมืองไทย คือ กฎหมายผังเมืองหลวม ในอดีตทำผังเมืองไม่ทำทั้งจังหวัด ทําเฉพาะเขตเมืองเพื่อเชื่อมโยงกับส่วนกลางมากกว่า แล้วทิ้งเขตชนบท”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

อบจ. คือ เวทีกลางสร้างความเข้มแข็งให้ทุกภาคส่วน

ผศ.พิชญ์ กล่าวว่า อบจ.ที่ดีควรเป็นเวทีกลางที่ทําให้ภาคส่วนต่าง ๆ ของจังหวัดมีพลังที่เข้มแข็ง มีทิศทางที่ชัดเจน ไม่ไหวโอนตามการเปลี่ยนผู้ว่าราชการจังหวัด แต่ในความเป็นจริงตอนนี้ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แต่เรากลับเห็นลักษณะของ อบจ.เป็นเพียงองค์กรที่มาจากฐานของชนชั้นนําทางการเมืองบางกลุ่มเท่านั้น

แล้วยิ่งย่อยไปเป็น ส.อบจ.ก็คือ แต่ละเขต ก็ประชาชนทั่วไปที่จะหาตัวแทนใหม่ ๆ เข้ามามันก็ยากเพราะสเกลในการหาเสียงมันใหญ่มันเท่ากับ สส.ก็ต้องเป็นคนซึ่งมีฐานการเมืองในระดับหนึ่ง ฉะนั้นความหวังที่ว่า อบจ.จะสร้างความเปลี่ยนแปลงเลย ไม่ค่อยมีหรอก ถ้าเทียบกับเทศบาล หรือ อบต.ที่มีโครงการชัดเจนกว่า”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

มอง ฟื้น กำนัน – ผู้ใหญ่บ้าน ในเขตเทศบาลไม่จำเป็น

ส่วนกรณีที่ อนุทิน ชาญวีรกูล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) แบบบัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทยกับคณะ ได้ยื่นร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่าง พ.ร.บ.ลักษณะการปกครองท้องที่ (ฉบับที่ ..) พ.ศ.และ ร่าง พ.ร.บ.เทศบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ.ด้วยเหตุผลที่ว่า กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ยังมีความสำคัญ ในพื้นที่เทศบาล เนื่องจากมีความใกล้ชิดสามารถดูแลทุกข์สุขของประชาชนได้ แม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ถ้าปกครองท้องถิ่นมีกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะทำให้การดูแลประชาชนมีประสิทธิภาพ

ผศ.พิชญ์ ให้ความเห็นว่า “ไม่จําเป็น” และมองว่า ต้องเลิกไปเลย เพราะจริง ๆ เรื่องนี้ยื้อกันมานาน โดยเฉพาะในยุคเผด็จการก็จะเอากลับมาที เป็นเพราะว่า นักการเมืองชอบให้มี เพราะเป็น “คนเดินให้” และปัญหาของกํานันผู้ใหญ่บ้าน ที่แก้กันไปมา คือ สุดท้ายแล้วก็เป็นจนเกษียณ

“พวกนี้ก็ยิ่งเป็นไม้เป็นมือให้กับส่วนกลาง ไม่ได้เกี่ยวพันกับการปกครองท้องถิ่น ไม่มีผล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไม่ได้ทําหน้าที่จัดเก็บงบประมาณ ไม่มีงบประมาณที่จะใช้ ทําหน้าที่วิ่งประสานงานอย่างเดียว ถ้าสังคมไทย มีชุมชนที่เข้มแข็งก็ไม่จำเป็นต้องมี อย่างในเมืองไม่ใช่ว่าไม่มีนะครับ กํานัน ผู้ใหญ่บ้านในเมือง มีในลักษณะ ประธานชุมชน ที่เลือกกันทุกปี 2 ปี มีโครงสร้างที่เอามาทดแทนกํานันผู้ใหญ่บ้านอยู่แล้ว และมีงบประมาณที่ลงไปด้วย”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผศ.พิชญ์ เสนอว่า แทนที่จะไปคิดเรื่องกํานันผู้ใหญ่บ้าน ควรทำการสังคายนาและทําความเข้าใจกฎหมายชุมชนให้ดีขึ้น ให้กฎหมายชุมชนครอบคลุมขึ้น

“กํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ในชนบท สมัยก่อนมันต้องมีเอาไว้ปราบโจร เป็นผู้ช่วยนายอําเภอ ผู้ใหญ่บ้านพกปืนได้ นายก อบต.พกปืนไม่ได้นะ มันเป็นโครงสร้างที่มองจากส่วนกลางแล้วมันง่ายเพราะว่าคุณก็สามารถที่จะได้ไม้ได้มือ ที่จะขับเคลื่อน แต่ถามว่าประชาชนตรวจสอบสิ่งเหล่านี้ได้ไหม มันไม่ได้สอดคล้องตามหลักการปกครองของถิ่น”
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์

ผศ.พิชญ์ ชี้ว่า การปกครองท้องถิ่น เกิดจากสิ่งที่เรียกว่า Self Government มาจากการที่ ประชาชนเลือกคนขึ้นมา และสามารถบริหารงบประมาณ จัดเก็บงบประมาณได้ มีวิสัยทัศน์ในการจัดการ มีองค์กร และแทนที่จะคิดเรื่องกํานัน ผู้ใหญ่บ้าน ควรทำการส่งเสริมให้ประชาชนมีอํานาจ เป็นตัวแทนที่ทํางานร่วมกับองค์กรในพื้นที่จะดีกว่า

ภาพจาก พรรคภูมิใจไทย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active