10 กรณี “คอร์รัปชัน” แห่งปี 2567 ขวางการขับเคลื่อนนโยบาย-การลงทุนโครงการของรัฐบาล

องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน เผย “10 กรณี คอร์รัปชันแห่งปี 2567” ทำคนไทย “เจ็บ” และ “จน” ซ้ำหลายกรณียัง “ไม่จบ” เหตุภาคเอกชนสมคบกับเจ้าหน้าที่รัฐ  ชี้เป็น “วิกฤต” ต่อการขับเคลื่อนนโยบายและการลงทุนโครงการของรัฐบาล

ตลอดปี 2567 นี้ เรียกได้ว่ามีเหตุการณ์มากมายที่เป็นประเด็นให้สังคมได้พูดถึงหลายเหตุการณ์ และยังเป็นอีกปีที่เรื่องราว ‘การคอร์รัปชัน’ ถูกเปิดเผยจนกลายเป็นหัวข้อร้อนแรงในสังคมไทยที่ไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายเป็นมูลค่าของเงิน แต่ยังสะท้อนให้เห็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงไปถึงบุคคลระดับสูงและองค์กรสำคัญที่ทำให้กระบวนการคอร์รัปชันเป็นไปได้อย่างง่ายดายสวนทางกับการเฝ้ารอและความหวังของประชาชนที่อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในประเทศไทย

10 กรณีทุจริตคอร์รัปชันแห่งปี 2567 โดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT เป็นหลักฐานชิ้นดีที่สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยกำลังเผชิญกับ ‘วิกฤต’ จากการปฏิบัติหน้าที่และการบังคับใช้กฎหมายซึ่งขัดกับหลักนิติธรรมรุนแรง จนส่งผลกระทบคุณภาพชีวิตของประชาชนคนไทยอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ 10 กรณีทุจริตคอร์รัปชันแห่งปี 2567 ประกอบด้วย

  1. ลดโทษ-พักโทษ-มอบอภิสิทธิ์ ให้นักโทษคดีโกงชาติ จากประเด็น ‘นักโทษชั้น 14 ที่ไม่เคยนอนเรือนจำ และนักโทษคดีจำนำข้าว’ เช่น บุญทรง เสี่ยเปี๋ยง ได้เป็นอิสระเร็วเกินคาด ขณะที่อดีตข้าราชการในคดีเดียวกันยังติดคุกอยู่แม้ไม่เชื่อมโยงกับการทุจริตที่เป็นตัวเงิน แต่ ‘การลดโทษ-พักโทษ-มอบอภิสิทธิ์’ ให้นักโทษคดีโกงชาติ คือ “โกงซ้อนโกง”และจนถึงวันนี้ นักการเมืองและข้าราชการบางคนยังจับมือกันปกปิดความจริง อีกทั้งยังปฏิเสธกระบวนการตรวจสอบ โดยไม่สนใจว่าจะค้านสายตาประชาชนและสังคมโลก
  2. ไฟไหม้รถนำเที่ยวเด็กนักเรียน สูญเสีย 22 ชีวิต ที่ผ่านไปเพียงไม่กี่เดือนก็กลับไม่ได้ถูกพูดถึงแล้ว ทั้งยังไม่มีเจ้าหน้าที่กรมการขนส่งทางบกคนใดต้องรับผิดชอบกับความสูญเสียในครั้งนี้ รวมถึงท่าทีของรัฐมนตรี และรัฐบาลที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด “ส่วย-สินบน” ในหน่วยงานรัฐเพื่อแก้ปัญหาระยะยาว ทั้งที่ประชาชนต่างรู้ดีว่าทุกวันนี้มีรถเถื่อนและรถผิดกฎหมายวิ่งอยู่เต็มท้องถนน จนอาจเกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยเช่นเดียวกับโศกนาฏกรรมครั้งนี้อีกก็เป็นได้
  3. คดีนายอิทธิพล คุณปลื้ม โดยศาลคอร์รัปชันชี้ว่า “ผิดจริง” แต่ยกฟ้องเพราะคดีขาดอายุความ ทั้งยังตำหนิ “ป.ป.ช.” ว่าไม่ใส่ใจทำคดี ซึ่งคำพิพากษานี้ยังทำให้เกิดประเด็นที่ต้องติดตามต่ออีกว่า เป็นการเปลี่ยนหลักกฎหมายเดิมที่กำหนดให้การหนีคดีของจำเลยทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ใช่หรือไม่?
  4. ฮุบที่รถไฟ เขากระโดง สะท้อนการถูกทำลายของหลักนิติธรรมในประเทศ เมื่ออิทธิพลนักการเมืองใหญ่เหนือคำพิพากษาศาลฎีกา และศาลปกครองสูงสุด โดยกรมที่ดินและการรถไฟฯ โยนเรื่องกันไปมา และเลือกหยิบยกข้อกฎหมายไปตีความจนบิดเบี้ยวสุดท้ายแล้วต้องคอยติดตามว่าสมบัติของชาติจะได้รับการปกป้องหรือรัฐต้องเสียในสิ่งที่ไม่ควรเสียอะไรบ้าง ก่อนที่ผู้มีอิทธิพลทางการเมืองเหล่านั้นจะได้สิทธิ์เช่าระยะยาวบนที่ดินหลวงในราคาแสนถูก
  5. สัมปทานรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยโครงการมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทนี้ พ่วงด้วยสิทธิ์บริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรลลิงก์ และที่ดินย่านมักกะสันแม้การประมูลจบไปแล้ว 5 ปี แต่รัฐยังเปิดให้เอกชนเจรจาแก้สัญญาไม่รู้จบ พร้อมเฉือนประโยชน์รัฐเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งขัดต่อหลักพื้นฐานการประมูลงานภาครัฐอย่างเป็นธรรม และถ่วงการพัฒนาโครงการ อีอีซี จนนักลงทุนต่างชาติมองว่าการมาทำธุรกิจเมืองไทย หากไม่มีพวกพ้องก็อยู่ไม่ได้ เพราะความโปร่งใสเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน
  6. ฮุบป่า รุกที่ ส.ป.ก. หลายแสนไร่ทั่วประเทศ เมื่อรัฐบาลมีนโยบาย ส.ป.ก. ทองคำ แก้กฎหมายให้ ส.ป.ก. เป็นโฉนดใช้ทำมาหากินได้แทบทุกอย่าง ทั้งซื้อขายสิทธิ์ง่ายและจำนองธนาคารได้ ขณะนี้จะเห็นว่า ส.ป.ก. กว่าร้อยละ 30 อยู่ในมือนายทุน และยังคงถูกบุกรุกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งความสูญเสียเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้น หากข้าราชการและนักการเมืองไม่มีเอี่ยว อย่างไรก็ตามความหวังที่เราจะสามารถปกป้องผืนป่ายังไม่ได้หายไป เมื่อ ผอ.ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร และข้าราชการจำนวนหนึ่งกล้าปะทะกับอดีต รมว. เกษตรฯ เพื่อให้มีพลังปกป้องผืนป่ามากขึ้น ซึ่งในส่วนของประชาชนก็มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันเป็นแรงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
  7. ขุด/ขนย้ายกากแร่แคดเมียม จนทำให้สังคมตื่นตระหนกเพราะกากแร่อันตรายที่เคยถูกกลบฝังกลับขุดมาขายได้ ทั้งยังขนย้ายผ่านไปหลายจังหวัด โดยประชาชนไม่รู้อะไรเลยเพราะทุกอย่างถูกปิดบัง จากกฎหมายและนโยบายของรัฐที่การปกป้องสิ่งแวดล้อมแอบถูกแก้ไขและบิดเบือน และจนถึงวันนี้ทุกอย่างเงียบหาย ไม่ปรากฏข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐหน่วยงานใดถูกลงโทษจริงจัง
  8. หมูแช่แข็งเถื่อน เป็นการทำลายความมั่นคงทางอาหารของชาติ ทั้งยังส่งผลไปถึงผู้เลี้ยงหมูทั่วประเทศ ขณะที่คนไทยต้องเสี่ยงภัยกับเนื้อหมูที่มีสารเร่งเนื้อแดง และเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมา จากผู้สมรู้ร่วมคิด 3 ฝ่าย ทั้ง (1) เจ้าหน้าที่รัฐบางคนในกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง อาหารและยา (2) กลุ่มนักการเมืองใหญ่ (3) กลุ่มนายทุนนำเข้า บริษัทชิปปิ้ง ทั้งนายทุนรับซื้อสินค้าไปจำหน่ายหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร
  9. ปลาหมอคางดำ ซึ่งเกิดจากเอกชนรายใหญ่ไร้ความรับผิดชอบ รวมทั้งเจ้าหน้าที่รัฐมองข้ามความปลอดภัยของสังคม
  10. ดิ ไอคอน เป็นคดีดังที่เผยให้สังคมเห็นการคอร์รัปชันที่ทำให้ประชาชนผู้ตกเป็นเหยื่อถูกรัฐทอดทิ้งยามเดือดร้อนจากพฤติกรรมเรียกรับสินบนของคนจากหลายหน่วยงานรัฐ นักการเมือง และบุคคลที่สังคมเคยไว้วางใจ  

ด้าน มานะ นิมิตรมงคล ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวถึงภาพรวมของการคอร์รัปชันในปี 2567 ว่าหลายเหตุการณ์เป็นการโกงกันแบบซึ่ง ๆ หน้า ทั้งในภาครัฐ และภาคเอกชน เช่น ข่าวสองนายพลตำรวจเอกต่างสาวไส้พฤติกรรมหากินกับบ่อนพนันออนไลน์ ไปจนถึงสินบนข้ามชาติ และคนไทยต้องช็อกกับข่าวการโกงของคนดังที่สังคมไว้วางใจ เช่น หมอ ดาราดัง ทนายความ นักร้องเรียน ฯลฯ

แม้จะมีปรากฎการณ์ที่ช่วยพยุงจริยธรรมสังคมไทยให้เห็นอยู่บ้าง เช่น กรณีการถอดถอน ‘เศรษฐา ทวีสิน’ อดีตนายกรัฐมนตรีจากการลงนามแต่งตั้งผู้ที่เคยมีคดีทุจริตเป็นรัฐมนตรี หรือข่าวรัฐบาลฟินแลนด์ร้องเรียน 2 อดีตรัฐมนตรีแรงงานไทยเอี่ยวคดีค้ามนุษย์ แต่นับเป็นอีกปีที่เห็นได้ชัดว่า “รัฐบาลไม่ใส่ใจการต่อต้านคอร์รัปชัน” และคอยแต่แก้ปัญหาเฉพาะหน้า ซึ่งแนวทางเช่นนี้จะทำให้สถานการณ์คอร์รัปชันเลวร้ายลง จนส่งผลเสียในการขับเคลื่อนนโยบายและการลงทุนโครงการของรัฐบาล เพราะจะทำอะไรสังคมก็ระแวง คัดค้าน ขาดความเชื่อมั่น 

“เราจะเอาชนะคอร์รัปชันได้ก็ต่อเมื่อประชาชนและสื่อมวลชนเข้มแข็ง ติดตามและต่อต้านไม่ยอมให้ใครคดโกงบ้านเมืองแล้วเงียบหายไปเฉย ๆ เช่นทุกวันนี้”

ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯกล่าวทิ้งท้าย

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active