Policy Forum เปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อน ความต้องการ และความคาดหวังต่อ การเลือกตั้ง นายก อบจ.ชลบุรี เห็นพ้องโครงสร้างการบริหารประเทศยึดโยงส่วนกลาง กระจายอำนาจยังไม่เป็นจริง ทำให้การแก้ปัญหาไม่ตอบโจทย์ ย้ำ จำเป็นต้องปรับบทบาท อบจ. ให้เป็นแบบ ‘นโยบายเส้นเลือดฝอย’ หนุน เทศบาล-อบต. ช่วยปัดฝุ่นเส้นเลือดใหญ่ (ส่วนกลาง) ที่ดูแลไม่ทั่วถึง
เหลืออีก 3 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง นายก อบจ. และสมาชิกสภา อบจ. ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นับเป็นอีกโอกาสครั้งสำคัญ ที่คนในจังหวัดจะสามารถกำหนดอนาคตของตัวเองและทิศทางการพัฒนาของท้องถิ่น ผ่านการเลือกตั้งผู้นำคนใหม่
เมื่อวันที่ 12 ม.ค. 68 The Active – Policy Watch ไทยพีบีเอส ร่วมกับภาคีเครือข่าย เปิดพื้นที่สาธารณะ 3 พื้นที่ โดยเริ่มที่ จ.ชลบุรี เป็นที่แรก เพื่อสื่อสารความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น การกระจายอำนาจ และการใช้งบประมาณระดับท้องถิ่น พร้อมไปกับการเปิดพื้นที่ฟังเสียงสะท้อนความต้องการ และความคาดหวังต่อการเลือกตั้ง อบจ. ผ่าน “Policy Forum ครั้งที่ 27 : เลือก อบจ. เลือกอนาคตท้องถิ่น”
‘ชลบุรี’ งบประมาณมากที่สุดในประเทศ 4,500 ล้าน
สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการบริหาร Rocket Media Lab เปิดเผยข้อมูล องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภาคตะวันออกที่น่าสนใจ พบว่า ชลบุรีเป็นจังหวัดที่ได้รับงบประมาณมากที่สุดในประเทศ 4,500 ล้านบาท และมีศักยภาพในการจัดเก็บรายได้เองมากที่สุดในภูมิภาคถึง 324,346,353.34 บาท
โดยหาเงินได้จาก ภาษีอากร (น้ำมัน, ยาสูบ) 223,564,783.32 บาท คิดเป็น 68.93%, ค่าธรรมเนียม ค่าปรับ และใบอนุญาต (ค่าธรรมเนียมโรงแรม ค่าธรรมเนียมเก็บขยะมูลฝอย) 57,959, 969.31 บาท คิดเป็น 17.87% รายได้จากทรัพย์สิน 31,272,742.61 คิดเป็น 9.64% และอื่น ๆ (รายได้เบ็ดเตล็ด 11,224,268.10 บาท และรายได้จากทุน 324,590 บาท) คิดเป็น 3.46%
“รายได้หลักของ อบจ.ชลบุรี ตอนนี้พึ่งพิง ภาษียาสูบมากที่สุดประมาณ 146 ล้าน รองลงมาคือภาษีน้ำมัน 77 ล้าน ขณะที่ค่าธรรมเนียมโรงแรมชลบุรี เก็บได้เป็นอันดับที่สามของประเทศ คือ 47 ล้านเท่านั้น คำถามคือแล้วจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต ที่คนเริ่มหันไปสนใจบุหรี่ไฟฟ้าและรถไฟฟ้ามากขึ้น นั่นหมายความว่า เงินในกระเป๋า อบจ.อาจลดลงไปอีก”
สันติชัย อาภรณ์ศรี
เช่นเดียวกับ อบจ.พื้นที่อื่น ๆ ในภาคตะวันออก รายได้หลักส่วนใหญ่มาจาก “ภาษียาสูบ” และ “ภาษีน้ำมัน” นั่นหมายความว่า ไม่ใช่แค่ อบจ.ชลบุรีที่ต้องปรับตัว แต่ยังรวมถึงภูมิภาคตะวันออก และอีกหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ที่พึ่งพิงภาษีทั้งสองอย่างนี้ด้วย
ในส่วนของการบริหารจัดการงบประมาณของ อบจ.ภาคตะวันออก ที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Rocket Media Lab พบว่า ใช้งบประมาณไปกับ อุตสาหกรรมและโยธา (สร้างถนน สร้างบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐาน) 38.31% การศึกษา 20.17% บริหารงานทั่วไป 10.84% และ สาธารณสุข 9.09%
โดย อบจ.ชลบุรี ก็จัดสรรงบประมาณเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับส่วนภูมิภาค คือ อุตสาหกรรมและโยธา 48.83% การศึกษา 18.30% ศาสนาวัฒนธรรมและนันทนาการ 8.54% และ สาธารณสุข 7.26%
ทั้งนี้งบค่าสิ่งก่อสร้างสาธารณูปโภค อบจ.ภาคตะวันออก นำไปใช้ทำ ถนน 48.56% อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 20.05% ประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค 17.65% การระบายน้ำและป้องกันน้ำท่วม 4.43% ไฟฟ้า 3.02% และการก่อสร้างสะพาน 2.52%
สอดคล้องกับ อบจ.ชลบุรี ที่นำงบไปใช้ทำถนนเป็นหลัก ซึ่งหากเทียบในระดับประเทศจะเป็นรองแค่จังหวัดขอนแก่นเท่านั้น รองลงมาคือ อาคารและสิ่งปลูกสร้าง ระบบประปาและระบบน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค การระบายน้ำและการป้องกันน้ำท่วม รวมถึงการก่อสร้างสะพาน แต่ที่แตกต่างจากจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกคือ ให้ความสำคัญกับ “การจราจร” ไม่แพ้กับการก่อสร้างสาธารูปโภคอื่น ๆ ด้วย
“อยากให้ชวนกันคิดต่อว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เราต้องการจะผลักดันเรื่องอะไร เรื่องนั้นถูกผลักดันงบประมาณแล้วไปมากน้อยขนาดไหน จะแบ่งงบประมาณส่วนนั้นมาลงทุนในส่วนที่ต้องการได้มากขึ้นหรือไม่ ตรงนี้จะนำไปสู่การพูดคุยกับผู้สมัคร นายก อบจ. และ ส.อบจ. เพื่อแก้ปัญหาในพื้นที่ได้มากขึ้น”
สันติชัย อาภรณ์ศรี
อบจ. เผชิญความท้าทายหลายด้าน ผู้นำคนใหม่ต้องรับมือ
ตัวเลขงบประมาณอาจบอกได้แค่ข้อมูลในช่วงเวลาที่ผ่านมา ฉายภาพของปัญหาและการให้ความสำคัญของ อบจ.ในเรื่องไหน แต่ไม่ได้บอกทิศทางในอนาคตข้างหน้า จึงจำเป็นต้อง “ยุทธศาสตร์ของท้องถิ่น” ประกอบด้วย
ผศ.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกว่า สิ่งที่ อบจ.ทำได้ แม้แต่อาจารย์รัฐศาสตร์ก็อาจตอบไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนระบุไว้กว้างมาก แต่ที่สำคัญคือต้องสร้างความเติบโต กระจายความเจริญไปในหลายพื้นที่ พร้อมกับลดความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นตามมาให้ได้
แต่ประเด็นท้าทายของชลบุรีคือ แม้จะมีรายได้และได้รับงบประมาณจากส่วนกลางเยอะ ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นของชลบุรีเป็นที่สนใจ แต่ก็มีรายจ่ายติดเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ
ขณะที่แผนพัฒนาจังหวัด เน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรม แต่ยุทธศาสตร์ของ อบจ.เน้นไปที่สิ่งแวดล้อม ขณะที่การเขียนระเบียบข้อปฏิบัติต่าง ๆ เหล่านี้ ก็มักเปลี่ยนแปลงตามไปตามงบประมาณรายปีที่ได้รับจัดสรร คือไม่ได้เป็นไปตามแผนที่ตั้งไว้จริง ๆ
สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานระหว่างส่วนกลาง กับ อบจ. ไปจนถึงองค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล ซึ่งเป็นองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นระดับย่อยลงมา ดูเหมือนจะไม่ค่อยสอดคล้องกันและยังขาดแผนรองรับ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ อีกทั้งยังต้องเผชิญกับโจทย์ใหญ่ คือความเปลี่ยนแปลงของคนรุ่นใหม่ ที่อาจทำให้การเก็บภาษียาสูบและภาษีน้ำมันทำได้น้อยลง รวมถึงอุบัติเหตุอุตสาหกรรมที่อาจเจอมากขึ้น จากการขยายตัวของนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่การท่องเที่ยวแม้เป็นที่นิยมแต่กลับไม่สามารถเก็บเงินได้เยอะ สิ่งเหล่านี้ต่างเป็นความท้าทายที่รอให้ผู้บริหารท้องถิ่นคนใหม่มาแสดงฝีมือ
‘นโยบายเส้นเลือดฝอย’ ทางรอดแก้การกระจายอำนาจไม่เป็นจริง
ในโครงสร้างการบริหารประเทศของไทย มีส่วนกลาง ภูมิภาค และท้องถิ่น เมื่อมีหลายระบบมากจึงเป็นปัญหา เพราะส่วนกลางมองว่า อบจ.เป็นเครื่องมือที่จะสานต่อนโยบายของรัฐบาลลงไปสู่จังหวัด ขณะที่ อบจ.ก็มีความตั้งใจเดิมจะแก้ปัญหาให้กับประชาชนในพื้นที่ แต่ในบางครั้งสิ่งที่ชาวบ้านต้องการ กลับไม่มีอยู่ในกรอบการทำงานที่ส่วนกลางมอบหมายให้ อบจ.ปฏิบัติ ทำให้ อบจ.ไม่มีอำนาจที่จะขับเคลื่อนโจทย์ของท้องถิ่นได้
สติธร ธนานิธิโชติ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย จึงมองว่า ถ้าจะแก้ปัญหาเรื่อง “การกระจายอำนาจที่ยังไม่เป็นจริง” ต้องมีพื้นที่ เปิดให้คิดและออกแบบร่วมกัน ซึ่งในวันนี้ยังไม่มีให้เห็น
“อย่างไรก็ตามในวันนี้เราอยู่ภายใต้ข้อจำกัดที่ถูกตีกรอบแล้วว่า อบจ.จะต้องทำอะไร ในกฎหมายระบุไว้แล้วว่าจะจัดสรรงบประมาณอย่างไร จัดเก็บได้จากตรงไหน ส่วนกลางดูแลอะไร ดังนั้นตอนนี้ไม่ใช่วาระที่จะมารื้อ เพียงแต่กลายเป็นเรื่องที่เราจะต้องหาคนเข้าไปทำงานภายใต้โครงสร้างที่ล็อกไว้ แต่ถ้าถามว่าในอนาคตควรจะถูกปรับเปลี่ยนไหม ถ้าเราทบทวนข้อมูลเหล่านี้ดูดี ๆ ก็จะพบว่าจำเป็น”
“สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือตอนนี้เราทำอะไรได้บ้าง และในการปรับบทบาท อบจ.จะให้เป็นไปในรูปแบบเดียวกันกับ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ที่ทำอยู่คือ นโยบายเส้นเลือดฝอย อะไรที่ส่วนกลางหรือเส้นเลือดใหญ่ทำ ก็ให้ส่วนกลางดูแล แต่จะไปสนับสนุนเทศบาล อบต.เป็นหลัก หรือจะเข้าไปเสริมเส้นเลือดใหญ่ (ส่วนกลาง) ที่ดูแลไม่ทั่วถึง ตรงนี้เป็นหน้าที่ของ อบจ. หรือส่วนกลางที่จะต้องช่วยกันคิดต่อ”
สติธร ธนานิธิโชติ
ความคาดหวังของ ‘คนชลบุรี’
แผนส่วนกลางและยุทธศาสตร์ของ อบจ.ที่ไม่ตรงกัน แน่นอนว่าทำให้การแก้ปัญหาตามแต่ละบริบทพื้นที่กลายเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะชลบุรีที่มีปัญหาซับซ้อน ภายหลังจากเกิด “พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก” (EEC) ที่ทำให้แรงงานจากทั่วประเทศ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านหลั่งไหลเข้ามา ซึ่งประชากรแฝงเหล่านี้ไม่ได้จ่ายภาษีอย่างเต็มประสิทธิภาพ ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ มีช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวย เป็นปัญหาสังคม กระทบคุณภาพชีวิตในหลายมิติ
รศ.โอฬาร ถิ่นบางเตียว รองคณบดี คณะรัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ย้ำว่า โครงสร้างการบริหารประเทศไทย ไม่ได้ถูกปรับตัวเลยในรอบ 100 ปี ชลบุรีและอีกหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดใหญ่ ๆ ต้องเป็นทั้งท้องถิ่นนิยม จังหวัด และโกลบอลไลเซชั่น คือเมื่อก่อนอาจเห็นคนต่างชาติเป็นนักท่องเที่ยว แต่ระยะหลังเขาเริ่มเข้ามาเป็นนักลงทุน เป็นผู้เช่าซื้อที่อยู่อาศัยแล้ว เมื่อเศรษฐกิจขยายตัว คนหลั่งไหลเข้ามา จึงเกิดปัญหาซับซ้อนที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแก้เพียงลำพังไม่ได้ และการกระจายอำนาจที่เป็นอยู่ ยังต้องยึดโยงกับส่วนกลาง จึงไม่มีอำนาจเพียงพอที่จะทำได้
ขณะที่อุบัติเหตุในอุตสาหกรรม เป็นปัญหาใหญ่สำคัญของจังหวัดชลบุรีที่มีให้เห็นตามหน้าข่าวอยู่เรื่อย ๆ และในปี 2566 เกิดเหตุการณ์มากมาย เช่น ลักลอบขนกากแร่แคดเมียม น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเล แอมโมเนียมรั่วในโรงงานน้ำแข็ง กระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของคนในชลบุรีหลายร้อยชีวิต
ขณะที่ อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี นายกสมาคมประมงพื้นบ้านจังหวัดชลบุรี จึงอยากให้ว่าที่ผู้นำชลบุรีคนใหม่ ให้ความสำคัญกับการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม การดูแลทรัพยากรชายฝั่ง และสิ่งแวดล้อม โดยอาจจัดเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมเพิ่ม เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาเหล่านี้ได้ง่าย ๆ หรือเข้ามาสนับสนุนแผนพัฒนาชุมชนอย่างธรรมนูญอ่าวอุดมให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างยั่งยืน
“ชลบุรีถูกใช้พื้นที่ทางทะเลเยอะ โจทย์สำคัญของ อบจ.คือจะดูแลทรัพยากรชายฝั่งอย่างไร เพราะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัด และเป็นความมั่นคงทางอาหารที่ไปหล่อเลี้ยงคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยวด้วย”
อมรศักดิ์ ปัญญาเจริญศรี
ว่าที่ผู้นำท้องถิ่น ต้องพร้อมสานต่อข้อเสนอของประชาชน
สำหรับความตื่นตัวของประชาชนในการเข้ามามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงประเทศ เป็นสัญญาณที่ดีว่าการกระจายอำนาจจะถูกขยับและยกระดับไปสู่การเมืองในระดับนโยบาย เพราะปัจจุบันผู้สมัครนายก อบจ.เริ่มให้ความสำคัญกับการฟังเสียงของประชาชนและนำมาจัดทำนโยบายเพื่อการหาเสียงมากขึ้น
วิทยา คุณปลื้ม ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี ได้รับฟังเสียงประชาชนหลายคนและจัดการประกวดนโยบายจนได้แนวคิดพัฒนาจังหวัดให้เป็น “มหานครของคนทุกเจน (GEN : Generation)” โดยใช้หลักคิด 3D คือ เศรษฐกิจดี การศึกษาดี และคุณภาพชีวิตดี ตั้งเป้าทำให้เกิดการขยายตัวด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรม และการเกษตร ตลอดจนส่งเสริมให้ภาคการผลิตชุมชน กลุ่มเกษตร และกลุ่มประมงมีความเข้มแข็ง พัฒนาให้ทุกคนเข้าถึงการศึกษา การรักษาพยาบาลได้ และจัดการปัญหามลพิษ PM2.5 น้ำเสีย ขยะพิษชุมชน
ประมวล เอมเปีย ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี มองว่า สิ่งที่คนชลบุรีต้องการมากที่สุดต่อจากนี้คือ การปรับผังเมือง การจราจร และการสร้างนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นนโยบายจากส่วนกลาง อย่างไรก็ตามเรื่องเหล่านี้ ต้องใช้งบประมาณพอสมควร ถ้ารัฐบาลไม่ให้งบประมาณมา อบจ.อาจแบกรับภาระทั้งหมดนี้ไม่ไหว
แต่สิ่งที่ทำได้เลย คือการจัดสรรงบประมาณไปที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางมาฟอกไตของประชาชน รวมถึงการศึกษาต้องให้ทุกคนเข้าถึงได้และพูดได้หลายภาษา และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ต้องติดตั้งกล้องวงจนปิดเพิ่มมากขึ้น
ขณะที่ ชุดาภัค วสุเนตรกุล ผู้สมัคร นายก อบจ.ชลบุรี ได้เปิดพื้นที่รับฟังเสียงประชาชนเช่นกัน เพื่อนำมาออกแบบนโยบาย จนได้แนวคิดการพัฒนาเมืองเป็น “บ้านที่โอบรับทุกคน” ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟู สร้างอาชีพให้ผู้พิการ สร้างแหล่งท่องเที่ยวทุกอำเภอ ไม่ให้การท่องเที่ยวกระจุกตัวเหมือนในปัจจุบัน พัฒนาสินค้าท้องถิ่น เพื่อให้ทุกคนได้เห็นว่าชลบุรีมีดีมากกว่านั้น พร้อมกับมีระบบเหมือนอย่าง “Traffy Fondue” เปิดให้ประชาชนสามารถร้องเรียนหรือเสนอความเห็นนโยบายต่าง ๆ ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์