กป.อพช.อีสาน นัดยื่นประธานสภาฯ ขอ ‘คนจน’ ร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ  

เครือข่ายประชาธิปไตยอีสาน ชี้ “รัฐธรรมนูญว่าซั่น ผู้ใด๋กะเขียนได้” เสนอแก้ไข ม. 256 เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ หลังสภาฯ มีนัดพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 – 14 ก.พ นี้  

วันนี้ (4 ก.พ. 68) เครือข่ายประชาธิปไตยอีสาน (Isaan Democracy Movement) ได้จัดเวทีเสวนา “เขียนแผ่นดินเป็นรัฐธรรมนูญ : เขียนใหม่ทั้งฉบับ ยึดโยงกับประชาชน” เพื่อสนับสนุนให้เดินหน้ากระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยให้สภาฯ พิจารณาเห็นชอบรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญทุกร่าง ทั้งของพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาชนโดยสาระสำคัญ คือ การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน 

โดยประเด็นการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่นี้ ถูกหยิบยกขึ้นมาประเด็นอีกครั้ง ก่อนที่รัฐสภามีนัดสำคัญที่จะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 ในวันที่ 13 – 14 ก.พ.นี้    

(ภาพ : สมัชชาคนจน)

ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนจากสมัชชาคนจน บอกว่า ประเด็นปัญหาของภาคอีสานส่วนใหญ่ คือ ปัญหาเรื่องทรัพยากร ปัญหาที่ดินปัญหาป่าไม้ ที่ไปเชื่อมกับส่วนที่เหนือขึ้นไปนั่นคือเรื่องของชีวิตเกษตรกรไทย เคยมีรัฐธรรมนูญที่ดีที่สุดฉบับหนึ่งนั่นคือ รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ที่มีเนื้อหาสำคัญหลัก คือ มุ่งเน้นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมีการรับรองในเรื่องของสิทธิชุมชน ซึ่งได้ใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เป็นเครื่องมือต่อสู้กับสิ่งที่ไม่เป็นธรรม ที่กดขี่ข่มแหงไม่ว่าจะเป็นเรื่องที่ทำกิน หรือประกาศเขตป่าทับที่อยู่อาศัย เราใช้รัฐธรรมนูญต่อสู้ได้อย่างเต็มภาคภูมิ เพราะว่าสิทธิ์ของประชาชนถูกรับรองในรัฐธรรมนูญ การเจรจากับรัฐบาล หรือหน่วยงานภาครัฐก็สามารถนั่งเจรจาได้อย่างเสมอหน้ากัน

ไพฑูรย์ สร้อยสด ตัวแทนจากสมัชชาคนจน
(ภาพ :The Isaan Record )

พร้อมย้ำว่า ในรัฐธรรมนูญ ปี 2560 คนละเรื่องกันเลย เพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับความมั่นคง ให้อำนาจในการคุ้มครองชนชั้นนำและนายทุนเป็นหลัก ฉะนั้นสิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่า หลังจากที่มีรัฐธรรมนูญปี 2560 กฎหมายที่ออกมา ล้วนแล้วแต่เป็นการรวมอำนาจกลับเข้าไปอยู่ในส่วนกลางให้อำนาจหน่วยงานราชการเป็นหลัก อย่างเช่น กฎหมายของ คสช. รวบอำนาจการบริหารจัดการที่ดินทั้งหมด พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562, พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ให้อำนาจอธิบดี และเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานเยอะ อธิบดีมีอำนาจในการ ชี้เป็นชี้ตาย ชีวิตของชาวบ้านที่อาศัยอยู่กับกับป่า

“ที่ดินของเฮาแท้ ๆ เมล็ดพันธุ์ของเฮาแท้ ๆ เป็ด หมู ควาย ก็เป็นของเฮา แต่เวลาจะทำมาหากิน ต้องไปขออนุญาตเขา ถ้าเขาไม่อนุญาตก็เฮ็ดบ่ได้ ถ้าหากฝืนเฮ็ด ผิดไปตามที่เขาบอกและถูกไล่ออกจากที่ดิน”

ไพฑูรย์ สร้อยสด

ไพฑูรย์ ยังสะท้อนว่า สิ่งเหล่านี้คือกฎหมายที่เกิดขึ้นมา เพื่อลิดรอนควบคุมกำกับและบงการชีวิตชาวบ้าน ในฐานะเกษตรกรแทนที่จะมีศักดิ์ศรี กำหนดการผลิตและชีวิตของตัวเองได้ กลับกลายเป็นว่าสุดท้ายพออยู่ภายใต้กฎหมายที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประชาชนเหมือนเป็นทาส อีกทั้งยังปรากฏอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ระบุว่า จะต้องทำคาร์บอนเครดิต ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า อาจจะมีการไล่ที่ชาวบ้าน คนจน มาทำเป็นป่า กลุ่มของสมัชชาคนจนอีสาน จึงเห็นว่าประชาชนไม่สามารถที่จะอยู่ภายใต้ความไม่เป็นธรรมนี้ได้ 

“จะให้เฮาไปอยู่หม่องได๋ครับ ที่ดินเฮาก็มีมีอยู่แค่นี้เฮาทนบ่ได้ ถึงได้มีการผลักดันเพื่อที่จะให้มีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ ในหลายเวทีและหลายปีที่ผ่านมา” 

ไพฑูรย์ สร้อยสด

สำหรับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไพฑูรย์ ระบุว่า ได้มีการร่วมมือกับองค์กรเครือข่ายอื่น ๆ ร่วมกันจัดทำร่างรัฐธรรมนูญคนจน เป็นหนังสือเล่มเล็กที่ได้มีการรวบรวมความเห็นที่หลากหลายจากหลายเครือข่าย ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาที่หลากหลาย ขณะที่ปีที่ผ่านมาสมัชชาคนจน ได้มีการจัดอบรมโรงเรียนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. คนจน เพื่อที่จะเตรียมความพร้อม ให้เข้าใจและเป็นการฝึกเขียนรัฐธรรมนูญ  และสะท้อนให้เห็นว่าคนจนจะเขียนรัฐธรรมนูญได้

ณัฐวุฒิ กรมภักดี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน (กป.อพช.ภาคอีสาน)
(ภาพ : นักข่าวพลเมือง Thai PBS)

ณัฐวุฒิ  กรมภักดี คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคอีสาน หรือ กป.อพช.ภาคอีสาน บอกว่า เครือข่ายประชาธิปไตยอีสาน มีหมุดหมายสร้างประชาธิปไตยทางตรง ให้พี่น้องในอีสานเห็นคุณค่าของประชาธิปไตย ว่า มันไม่ใช่เรื่องไกลตัว  ในปีนี้มีแผนที่จะมีวงพูดคุยมากขึ้นมากขึ้นในภูมิภาคอีสาน รวมไปถึงสร้างการมีส่วนร่วมในพื้นที่เพื่อให้ร่วมเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เมื่อพี่น้องเข้าใจและเห็นรายละเอียดเป้าหมายไปด้วยกันก็จะเกิดการร่วมหาตัวแทนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนญ หรือ สสร.มาจากคนอีสานการหวังพึ่งนักการเมืองมันไม่พอ จึงต้องร่วมกันว่าจะทำอย่างไรให้เกิดการพูดคุยในชุมชน ครอบครัว และในวงกว้าง

“ประเทศไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ ประเทศไทยไม่ใช่ตรงกลาง การเคลื่อนไหวเรื่องนี้ต้องมาจากข้างล่าง เราหวังพึ่งนักการเมืองมันไม่พอ ทุกอย่างมันไม่ได้เกิดจากการประทาน จงเชื่อว่าสองมือสองเท้าเรามันสร้างการเปลี่ยนแปลงได้”

ณัฐวุฒิ  กรมภักดี

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 5 ก.พ. 68 เวลา 10.00 น. กป.อพช.ภาคอีสาน จะเดินทางยื่นหนังสือกับประธานสภาฯ “ประชาชนเดินหน้าเขียนรัฐธรรมนูญ” ก่อนสภาฯ เตรียมประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ของพรรคประชาชน และพรรคเพื่อไทย ในวันที่ 14 ก.พ. 68 โดยมาตรา 256 เป็นมาตราที่กำหนดกระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เรื่องการทำประชามติ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการถามมติจากประชาชนเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงการเปิดทางตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) เพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่  

นอกจากนี้ iLaw และองค์กรที่ขับเคลื่อนประชาธิปไตย ได้มีการรณรงค์ ลงชื่อเรียกร้องรัฐสภาแก้รัฐธรรมนูญ เดินหน้า “เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ-เลือกตั้ง สสร. 100%” ผ่าน https://www.change.org/passed-256 ทั้งนี้ ระบุว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ต้องเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ “ทั้งฉบับ” เพื่อยืนยันหลักการอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชน และเพื่อยกเลิกมรดกทางกฎหมายที่ตกทอดมาจากการรัฐประหารทั้งหมด พร้อมต้องให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งของประชาชนโดยตรง “ทั้งหมด 100%” เน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมได้ ไม่มีตำแหน่งพิเศษที่มาจากช่องทางอื่น และมีอำนาจมากกว่าตัวแทนของประชาชน

ที่มา : สมัชชาคนจน Assembly of the Poor , กป.อพช.ภาคอีสาน 

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active