หวัง ‘ทักษิณ’ พกความจริงใจ ลงชายแดนใต้ ช่วยกระตุกรัฐบาล ขยับโต๊ะเจรจา ‘สันติภาพ’

ภาคประชาชน ขออย่ามองข้ามรากเหง้าปัญหาเชิงโครงสร้าง ชี้ต้องยอมรับความผิดพลาดในอดีต รับฟัง เข้าใจบริบทความขัดแย้งในสถานการณ์ปัจจุบัน ชูธง เดินหน้าสันติภาพ ทางออกจากความขัดแย้ง ขณะที่ นักวิชาการ ติง ปัดฝุ่นนโยบาย 66/23 ถอยหลังกลับ แนะกลไกกระบวนการสันติภาพ เรื่องท้าทายต้องไปต่อ

จากกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ปรึกษาประธานสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เตรียมลงพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมด้วย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.กระทรวงกลาโหม, พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รมว.กระทรวงยุติธรรม ในวันอาทิตย์ ที่ 23 ก.พ. 68 นั้น

มาให้เห็นปัญหา กลับไปเดินหน้า ‘กระบวนการสันติภาพ’

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch) และ นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ให้ความเห็นกับ The Active โดยมองว่า น่าจะเป็นโอกาสที่ดีในแง่ของการได้กลับมามองเห็นสภาพปัญหาพื้นที่อีกครั้ง เพื่อให้เข้าใจเงื่อนไขความขัดแย้งที่เพิ่มมากขึ้นกว่าช่วง 20 ปีก่อน แต่ที่สำคัญกว่า คือ ทักษิณ ต้องทำความเข้าใจกระบวนการสร้างสันติภาพ เพราะบริบทของสถานการณ์ความขัดแย้งเมื่อครั้งที่ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี กับตอนนี้เปลี่ยนไปเยอะ การแก้ปัญหาด้วยกระบวนการพูดคุย จึงมีผลอย่างมาก ดังนั้นต้องเข้าใจตรงนี้เพื่อเอาไปใช้ตัดสินใจร่วมกับรัฐบาล

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี ผอ.ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ (Deep South Watch)
และ นักวิจัย สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรมภาคใต้ (CSCD) ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี

“เมื่อยังไม่ชัดเจนว่านโยบาย ยุทธศาสตร์ ในกระบวนการสันติภาพ สันติสุข จะใช้วิธีไหน การที่มาเห็น มารับฟังข้อมูลที่เป็นจริง จะทำให้เข้าใจปัญหาได้ดีขึ้น”

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ผศ.ศรีสมภพ ยังมองว่า การลงพื้นที่มาของทักษิณนับเป็นช่วงสำคัญ หลังการได้พูดคุยกับ นายกฯ อันวาร์ อิบราฮิม ของมาเลเซีย และเป็นถึงที่ปรึกษาของประธานอาเซียน ซึ่งรอบนี้มีความพยายามเดินหน้าแก้ปัญหาเรื่องสันติภาพในเมียนมา จึงคิดว่าเป็นจังหวะโอกาสดีสำหรับการลงพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งนี้ยังเห็นว่า ปัญหาเก่า ๆ ที่เคยเกิดขึ้น ทักษิณก็ต้องเร่งทำความเข้าใจประชาชน ว่า ได้พยายามทำอะไรไปแล้วบ้างในกระบวนการสันติภาพ เพราะในแง่ของรัฐบาลเพื่อไทยรอบนี้ก็ยังไม่เห็นความชัดเจน จึงเป็นสิ่งท้าทายที่ทักษิณต้องทำให้ได้ 

“ถ้าท่านยอมรับว่าในช่วงที่ผ่านมาสถานการณ์เปลี่ยนไป ความจริงแล้วต้องแยกให้ชัด สิ่งที่เปลี่ยนก็มี สิ่งที่มีปัญหาก็มี การแก้ปัญหาด้วยการพูดคุยสันติภาพ จึงต้องเดินต่อ และต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน ต้องผ่านการพูดคุย เจรจาทุกฝ่าย ไม่ใช่ว่ารัฐทำฝ่ายเดียว”

ผศ.ศรีสมภพ จิตร์ภิรมย์ศรี

ส่วนที่มีกระแสเรื่องการนำนโยบาย 66/2523 สมัย พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ มาใช้กับสถานการณ์ชายแดนใต้นั้น ผศ.ศรีสมภพ ยอมรับว่า นโยบาย 66/2523 เป็นนโยบายเก่า ถอยย้อนกลับไปในอดีต เงื่อนไข ปัจจัย ตัวแสดง บทบาทความขัดแย้งต่างกันมาก ถ้าให้กลับไปใช้อีกคิดว่าต้องคิดดูให้ดี เพราะในช่วง 10 กว่าปีมานี้ เครื่องมือและกระบวนการเดินหน้าเจรจาพูดคุยสันติภาพที่ใช้กันอยู่ ซึ่งรัฐบาลเพื่อไทยเองสร้างมากับมือ ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าอยู่แล้ว ได้รับการยอมรับจากสากลด้วย แต่ถ้าจะหยุดกระบวนการนี้ แล้วไปใช้ของเก่ามาปัดฝุ่น ก็ถือว่าถอยหลังกลับ แม้จะบอกว่า ปรับให้เข้าเหตุการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เงื่อนไขเหมือนกัน ใช้กระบวนการพูดคุยสันติภาพจะดีกว่า

หวังรับฟัง ‘ภาคประชาสังคม-ประชาชน’ ช่วยขยับกระบวนการสันติภาพ

สอดคล้องกับ แวรอมลี แวบูละ นายกสมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธากัมปงตักวา และนายกสมาคมเพื่อสันติภาพภาคประชาชน ก็แสดงความเห็นกับ The Active โดยมองว่า การลงมาชายแดนใต้ของ ทักษิณ ถือว่าดีอยู่แล้ว ไม่คิดว่าจะมีผลกระทบอะไร แต่เชื่อว่ามีผู้คนในพื้นที่อีกจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้ศรัทธา ก็อาจมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะต้องยอมรับว่า ทักษิณ ก็เคยทำเรื่องที่ผิดพลาด ดังนั้นการลงพื้นที่มาครั้งนี้ ต้องมารับฟังปัญหา เพื่อนำกลับไปช่วยแก้ช่วยผลักดันให้รัฐบาลแก้ปัญหาอย่างชัดเจนขึ้น ช่วยให้กระชับเวลา ไม่ใช่ยืดยาว เพราะแก้ปัญหากันมานานแล้วก็ไม่เห็นอะไรดีขึ้น ยังดีที่ภาคประชาสังคม ศาสนา ช่วยประคับประคองสถานการณ์ไว้บ้าง ถ้าไม่ทำอะไรเลยน่าจะเลวร้ายมากกว่านี้

แวรอมลี จึงอยากให้การมาของทักษิณ นำไปสู่การเปิดเวทีพูดคุยกับภาคประชาชนที่หลากหลาย อย่าง ชุมชนศรัทธากัมปงตักวา ซึ่งทำเรื่องการสร้างชุมชนเข้มแข็งที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน ก็ถือว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่เป็นประโยชน์ต่อกระบวนการสร้างสันติภาพทั้งสิ้น ขณะที่ กลุ่มผู้เห็นต่างเองก็แยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ฮาร์ดคอ คุยไม่ได้ ใช้กำลังอย่างเดียว กับอีกกลุ่ม ที่ส่วนใหญ่ต้องการสันติภาพ แม้ว่าอาจมีความเห็นต่างจากรัฐ แต่ที่ผ่านมารัฐบาลแทบไม่เคยเปิดช่องให้เกิดการพูดคุย

“จริง ๆ รัฐบาลสามารถมอบหมายงานให้กับพวกเราทำ ปรับเนื้องานให้ชัดเจน เรานำเสนอ ฝ่ายที่รับผิดชอบก็ต้องเอาไปดู ต้องตกลงกันว่าจะทำอะไร ขอบเขตขนาดไหน เช่น อย่างไปปรึกษาหารือ รัฐบาลจะเอาแบบไหน งานพัฒนาที่ประชาชนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ ต้องทำอย่างไร ภาคประชาสังคมมีรายละเอียดทั้งหมด แต่ที่ผ่านมาไม่รู้จะไปพูดกับ ไม่รู้จะไปเชื่อมกับรัฐบาลตรงไหน ใครรับผิดชอบกันแน่ ถ้าทักษิณมาช่วยประสานให้ มีเจ้าภาพชัดเจน มาคุยกับภาคประชาสังคม ก็น่าจะทำให้กระบวนการสันติภาพขยับได้”

แวรอมลี แวบูละ

แวรอมลี แวบูละ นายกสมาคมร่วมสร้างชุมชนศรัทธากัมปงตักวา
และนายกสมาคมเพื่อสันติภาพภาคประชาชน (ภาพ : Tuwaedanial Tuwaemaengae)

6 ข้อเสนอ ถึงรัฐบาล สานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพ

แวรอมลี ยังระบุด้วยว่า ในช่วงที่นายกฯ แพทองธาร ลงพื้นที่ ครม.สัญจร เมื่อสัปดาห์ก่อน 42 องค์กรภาคประชาสังคมได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาล โดยมีข้อเสนอ 6 ข้อสำคัญ ประกอบด้วย

  1. ขอให้นายกรัฐมนตรีแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่หนักแน่นชัดเจนว่าจะสานต่อกระบวนการพูดคุยสันติภาพโดยรัฐบาลเป็นเจ้าภาพหลัก โดยจัดทำเป็นวาระแห่งชาติ และแต่งตั้งคณะพูดคุยสันติภาพเพื่อเป็นการเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้มีส่วนร่วมในการเสนอแนะ แนวทางแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้

  2. ขอให้รัฐบาลดำเนินการให้ภาคประชาสังคมได้จัดเวทีปรึกษาหารือสาธารณะ (Public consultation) เพื่อแสวงหาทางออกทางการเมืองอย่างครอบคลุมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตกับประชาชนในด้านต่างๆ เช่น รูปแบบการเมืองการปกครองเศรษฐกิจ การศึกษา ภาษา อัตลักษณ์และวัฒนธรรม รวมถึงกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน เป็นต้น

  3. ขอให้รัฐบาลสนับสนุนแผนงานพัฒนาของภาคประชาสังคมในด้านต่าง ๆโดยประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เช่น การสร้างชุมชนเข้มแข็ง การพัฒนาวิสาหกิจ ชุมชน สุขภาพอนามัยชุมชน การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มีประชาชนเป็นแกนหลัก

  4. ขอให้รัฐบาลและฝ่ายขบวนการผู้เห็นต่าง ตระหนักถึงความรุนแรงที่ส่งผลกระทบต่อพลเรือนและผู้บริสุทธิ์ โดยยึดหลักกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ (International Humanitarian Law – IHL) โดยให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึกและ ยุติการใช้ความรุนแรง

  5. ขอให้รัฐบาลดำเนินนโยบายสันติภาพตามวิถีทางประชาธิปไตย ที่ระบุไว้ใน รัฐธรรมนูญไทย หมวด 3 ว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย

  6. ขอให้รัฐบาลพิจารณาจัดโครงสร้างความสัมพันธ์ใหม่ระหว่างรัฐกับประชาชนในพื้นที่ชายแดนใต้ ให้มีความรู้สึกเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง เช่น ความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐกับประชาชน ความสัมพันธ์เชิงการพัฒนาโดยมีประชาชนเป็นแกนหลักเป็นต้น                                           

ดังนั้นขอให้รัฐบาลและกลุ่มขบวนการผู้เห็นต่างร่วมกันสร้างบรรยากาศที่ปลอดภัยทางเสรีภาพทั้งในเชิงกายภาพและในเชิงความรู้สึกในพื้นที่ให้ประชาชนทุกกลุ่มวัฒนธรรมให้สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปลอดภัย เพื่อเป็นรากฐานที่มั่นคงต่อสังคม พร้อมเชื่อมั่นว่า กระบวนการพูดคุยสันติภาพ คือ กุญแจสำคัญนำสันติภาพมาสู่พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างยั่งยืน                                                     

หวั่นลืมรากเหง้าปัญหาเชิงโครงสร้าง ไฟใต้ดับยาก

ขณะที่ อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani ก็ให้ความเห็นกับ The Active พร้อมตั้งคำถามใหญ่ ๆ ต่อการลงพื้นที่ชายแดนใต้ของ ทักษิณ ชินวัตร ว่า มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองอะไรหรือไม่ เพราะความจริงแล้วช่วงที่ควรแสดงภาวะผู้นำ คือ ในช่วงที่คดีตากใบใกล้หมดอายุความ แต่ก็ไม่ได้ทำอะไรให้รู้สึกว่าจริงจังเพียงพอ จนทำให้เชื่อได้ว่า ทักษิณ และรัฐบาลเองไม่ได้สนใจรากเหง้าปัญหาในอดีตเลย ไหนจะเรื่องที่มีกระแสข่าวว่าเตรียมใช้นโยบาย 66/2523 มาแก้ปัญหาชายแดนใต้ ซึ่งไม่ต่างจากการตบหน้ากระบวนการสันติภาพ ขณะที่กำหนดการที่จะไปในหลาย ๆ สถานที่ ซึ่งในช่วงที่ ทักษิณ มีอำนาจก็เป็นที่ที่ถูกเฝ้าระวังเข้มข้นจากหน่วยงานความมั่นคง เช่นที่ โรงเรียนสัมพันธ์วิทยา ซึ่งเป็นโรงเรียนที่ มะแซ อุเซ็ง เคยสอนอยู่ ซึ่งเขาถูกอ้างว่า เป็นคนเขียนแผนบันได 7 ขั้น ของการต่อสู้เพื่อปลดปล่อยรัฐปัตตานี และถูกออกหมายจับในฐานะแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดน

อาเต็ฟ โซ๊ะโก ประธาน The Patani

“การลงมาชายแดนใต้ของทั้งนายกฯ อุ๊งอิ๊ง และ ทักษิณ อาจไม่ได้พูดถึงกระบวนการสันติภาพ แต่มาคุยกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยอยากให้ลืมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ถ้าให้คนในพื้นที่คิดแบบนั้นจริง ที่ผ่านมาก็ถือว่าไม่ได้บทเรียนอะไรเลย”

อาเต็ฟ โซ๊ะโก

หวังทุกองคาพยพรัฐบาลไทย ใส่ใจ ‘ชายแดนใต้’ มากขึ้น

ประธาน The Patani ยังมองว่า จริง ๆ ก่อนหน้านี้ไม่เฉพาะทักษิณ เพราะในยุคของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ รัฐบาลเศรษฐา จนมาถึงแพทองธาร ผู้คนในพื้นที่ต่างก็คาดหวังว่าการริเริ่มพูดคุยเจรจาสันติภาพจะกลับมา แต่มาถึงตอนนี้ก็ไม่เห็นปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้น และแนวทางการแก้ปัญหาก็ยังเปิดโอกาสให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถปฏิบัติการได้เดิม เช่น การเน้นปราบปราม การคุกคามนักเคลื่อนไหว ที่สื่อสารประเด็นเชิงโครงสร้าง

“ถามว่าอยากเห็นอะไรพิเศษสำหรับการลงมาชายแดนใต้ของคุณทักษิณ ก็อยากจะต้องการคำยืนยันว่า ปัญหาชายแดนใต้ที่เกิดขึ้น คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ดังนั้นการเจรจา พูดคุย จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุด การมาของคุณทักษิณต้องทำให้ทุกองคาพยพของรัฐบาลไทยหันมาให้ความสำคัญชายแดนใต้มากกว่าเดิม” 

อาเต็ฟ โซ๊ะโก

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active