รอมฎอนไม่สันติ? องค์กรสิทธิฯ ประณามผู้ก่อเหตุความรุนแรง

แนะเพิ่มมาตรการป้องกันประชาชนเจ้าหน้าที่ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง ย้ำรัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่จริงจัง จี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนข้อเท็จจริง นำตัวผู้ผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว 

18 มีนาคม 2568 สืบเนื่องจากเหตุลอบวางระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่อาสารักษาดินแดน (อส.) หญิงในพื้นที่อำเภอกะพ้อ จังหวัดปัตตานี จนเป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่อาสา รวมทั้งประชาชนหลายรายซึ่งรวมถึงเด็กและผู้หญิงได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทรัพย์สินส่วนบุคคล อาคารราชการและเส้นทางสัญจรสาธารณะได้รับความเสียหาย  

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงการณ์ประณามการก่อเหตุรุนแรงในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม 2568 ซึ่งเป็นเดือนรอมฎอนอันประเสริฐ และเดือนแห่งการถือศีลอดของชาวมุสลิม ได้เกิดเหตุความรุนแรงหลายครั้งและต่อเนื่องกันในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น เหตุวางระเบิดคาร์บอมบ์ พร้อมใช้อาวุธปืนสงครามยิงถล่มที่ว่าการอำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส เหตุลอบยิงเจ้าหน้าที่ทหารพรานในพื้นที่อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เหตุซุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหารในพื้นที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา เหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ชุดรักษาความปลอดภัยครูในพื้นที่อำเภอแม่ลาน จังหวัดปัตตานี เหตุลอบวางระเบิดเจ้าหน้าที่ทหารพรานนาวิกโยธินในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี 

โดยในแถลงการณ์ ระบุว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ขอประณามการกระทำอันโหดร้ายของผู้ก่อเหตุซึ่งมุ่งหมายให้เจ้าหน้าที่ของรัฐและประชาชนได้รับอันตรายต่อชีวิตและร่างกาย ตลอดจนมุ่งสร้างความเสียหายแก่ทรัพย์สินราชการและสาธารณะ และขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งไปยังครอบครัวและญาติมิตรของเจ้าหน้าที่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งประชาชนที่ได้รับผลกระทบ 

“กสม. ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสืบสวนสอบสวนข้อเท็จจริงและนำตัวผู้กระทำผิดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยเร็ว โดยเพิ่มมาตรการป้องกันเหตุร้ายที่อาจเกิดขึ้นเพื่อมิให้เจ้าหน้าที่และประชาชนตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงต่อเนื่อง และขอให้มีการเยียวยาความเสียหายอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม” 

ขณะเดียวกัน กสม. ขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งดำเนินนโยบายสร้างสันติสุขอย่างมีประสิทธิผลในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และให้ทุกฝ่ายเคารพหลักสิทธิมนุษยชนเพื่อร่วมกันสร้างสันติสุขในพื้นที่

ด้าน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกแถลงการณ์ถึงกรณีนี้ว่าเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ิในช่วงรอมฏอน ปี 2568 จนถึงปัจจุบัน ได้ส่งผลกระทบต่อชีวิต ความปลอดภัย และความเป็นอยู่ของประชาชน

จึงมีการเรียกร้อง ให้ทุกองค์กรปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนและกฏหมายมนุษยธรรม หลีกเลี่ยงมาตรการที่เพิ่มความตึงเครียด และสร้างความไว้วางใจรัฐกับประชาชน เราเน้นย้ำว่ารัฐบาลต้องแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่จริงจัง ในการเดินหน้ากระบวนการพูดคุยสันติภาพ โดยเปิดพื้นที่ให้ประชาชนและทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม เคารพกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ หยุดปฏิบัติการที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและพิจารณาแนวทางที่นำไปสู่การเจรจาหาทางออกจากความขัดแย้งรุนแรงด้วยการไม่ใช้ความรุนแรง

“ความรุนแรงไม่ได้เป็นทางออกของความขัดแย้ง แต่กลับทำลายความไว้วางใจและเป็นอุปสรรคต่อการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืน เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายหันมาใช้แนวทางสันติวิธีและการเจรจา เพื่อสร้างจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้เป็นพื้นที่ที่ปราศจากความรุนแรง และเคารพในสิทธิของทุกคน”

นับตั้งแต่ช่วงถือศีลอดปี 2568 ที่เกิดเหตุรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 5 ราย และบาดเจ็บมากกว่าสิบคน

ที่มา : แถลงการณ์เรียกร้องให้ทุกฝ่ายลดความรุนแรงในช่วงเดือนรอมฎอน สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา และศูนย์สันติวิธีชายแดนใต้

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active